หายนะ "บราซิล" เจ้าภาพบอลโลก ดับฝันกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
มหกรรมฟุตบอลโลก ครั้งที่ 20 กำลังจะอุบัติขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าที่บราซิล ท่ามกลางการตั้งตารอคอยของสาวกฟุตบอลทั่วโลก และเป้าหมายไขว่คว้าชัยชนะของ 32 ทีมชาติที่จะลงฟาดแข้ง แต่ความหวังที่ดับสนิทไปตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์นี้ยังไม่เริ่มขึ้น คือ การสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับเศรษฐกิจบราซิลผ่านการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก
จากการรายงานของ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ต้นทุนของการจัดมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้พุ่งสูงถึง 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งแพงที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดฟุตบอลโลกมา แต่ผลลัพธ์กลับไม่สวยหรูตามราคา บรรดาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ยังค้างคาตามเมืองต่างๆ ทั่วแดนแซมบ้า กลายเป็นสิ่งตอกย้ำถึงปัจจัยต่างๆ ที่ฉุดให้การพัฒนาประเทศยังไปไม่ถึงไหน ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการอันอุ้ยอ้าย คอร์รัปชั่น และนโยบายที่ขาดวิสัยทัศน์ ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับเมกะโปรเจ็กต์ มากกว่าการศึกษาหรือระบบสาธารณสุขของประชาชน
การที่รัฐบาลบราซิลทุ่มเทงบประมาณให้กับการแข่งขันกีฬาที่จัดขึ้นระหว่าง12มิถุนายน - 13 กรกฎาคมนี้ ขณะที่ประชาชนนับร้อยล้านคนยังมีคุณภาพชีวิตที่เลวร้าย ทำให้ชาวบราซิเลียนซึ่งคลั่งไคล้ฟุตบอลราวกับเป็นลัทธิหนึ่ง ออกมาประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ
จากการสำรวจความคิดเห็นครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีคนบราซิลเพียง 48% ที่เห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ลดฮวบจากระดับ 79% ในปี 2551
โชคยังดีอยู่บ้าง ที่ความไม่พอใจของคนบราซิลพุ่งเป้าไปที่คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ไม่ใช่ตัวมหกรรมฟุตบอลโลก หรือทีมชาติ
เงินภาษีของประชาชนราว 3.6 พันล้านดอลลาร์ ถูกผลาญไปกับการสร้างสนามและสเตเดียม ซึ่งมูลค่าเท่ากับต้นทุนค่าสร้างสนามในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2 ครั้งที่แล้วรวมกัน และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้น จนถึงขณะนี้หลายสนามก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ หรือในบางกรณีตัวอัฒจันทร์พร้อมใช้งานแล้ว แต่พื้นที่รอบสนามแข่งขันกลับรกรุงรัง ส่วนการก่อสร้างสนามบิน ถนน หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจบราซิลกลับติดๆ ขัดๆ เนื่องจากระบบราชการที่เชื่องช้า การคอร์รัปชั่นและแผนงานที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
อาทิ ในเมืองฟอร์ตาเลซา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งรัฐบาลใช้เงิน 230 ล้านดอลลาร์ สร้างสนามใหม่เพื่อจัดการฟาดแข้ง 6 นัด แต่การขยายอาคารผู้โดยสาร มูลค่า 78 ล้านดอลลาร์ ที่สนามบินเมืองดังกล่าว กลับไม่เป็นไปตามแผน มีเพียงเต็นท์ขนาดใหญ่กางไว้รองรับแฟนบอลที่จะเดินทางมาเชียร์ทีมโปรดเท่านั้น
ที่จริงแล้ว ปัญหาต้นทุนสูงหรืองบฯบานปลาย ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายสำหรับประเทศเจ้าภาพทัวร์นาเมนต์ระดับโลกอย่างฟุตบอลโลกหรือโอลิมปิก ซึ่งแดนแซมบ้าจะรับหน้าเสื่อเป็นผู้จัดในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ในกรณีของบราซิล ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาพร้อมกับผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่างบฯจำนวนมากรั่วไหลเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
เดิมทีรัฐบาลบาลบราซิลวางแผนจะระดมเงินจากภาคเอกชนในการก่อสร้างสนามและนำเงินภาษีมาใช้เฉพาะในโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวเช่น ระบบคมนาคมเท่านั้น แต่ในที่สุด เงินทุนในการสร้างสนามเกือบทั้งหมดก็มาจากภาษีประชาชน เนื่องจากหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุน หรือให้เงินกู้ไม่ได้ และยังถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำกำไรหลังจบฟุตบอลโลกของแต่ละสนามด้วย
ความไม่พอใจของพลเมืองบราซิลทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆมีการประท้วงของคนหลายกลุ่มอาชีพในช่วงหลายปีของการเตรียมงาน
หนึ่งในชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ในระหว่างการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลอุ่นเครื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับระบบคมนาคม โรงเรียนและโรงพยาบาลก่อนสนามฟุตบอล ภาพการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ยิ่งทำให้ผู้สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพลดน้อยลงเรื่อยๆ
รัฐบาลบราซิลพยายามแก้ต่างว่า โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบินจะเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด แม้จะไม่ทันการแข่งขันฟุตบอลโลกก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ทางการบราซิลคาดว่าการเป็นเจ้าภาพกีฬาครั้งนี้จะช่วยสร้างงาน 380,000 ตำแหน่ง ตลอดจนดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 600,000 คน และจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจับจ่ายใช้สอยของคนบราซิลเอง รวมถึงนักท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริง ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นงานชั่วคราว และจากการประเมินของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อานิสงส์ของฟุตบอลโลกต่อเศรษฐกิจบราซิลมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในปี 2550 คราวที่บราซิลได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดฟุตบอลโลก ครั้งที่ 20 นายลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลในขณะนั้น ประกาศว่าเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ ท่ามกลางความยินดีของคนบราซิลทั้งประเทศ เพราะช่วงนั้นบราซิลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
คนยากจนขยับเป็นชนชั้นกลาง พร้อมกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นขาขึ้น ทำให้บราซิลยิ่งมั่งคั่ง ตลาดหุ้น และค่าเงินเฮอัลล้วนมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเติบโตพุ่งแตะ 7.5% ในปี 2553 เศรษฐกิจบราซิลก็ทรุดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลง กำลังซื้อของคนชั้นกลางใหม่ซบเซา ภาคการผลิตตกต่ำเพราะภาษีที่สูง ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานล้าหลัง การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่คาดหมายว่าจะเป็นตัวส่งเสริมการเติบโต กลับยิ่งเป็นตัวถ่วงของเศรษฐกิจบราซิลที่กำลังย่ำแย่
นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้งบฯ บานปลาย มาจากแผนการดำเนินงานที่ผิดพลาดในการกระจายการแข่งขันไปยัง 12 เมือง หวังแบ่งปันอานิสงส์ของฟุตบอลโลกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่ฟีฟ่ากำหนดไว้เพียง 8 เมืองเท่านั้น แต่หลายเมืองที่ได้รับเอกให้จัดการแข่งขันกลับขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น 4 จาก 12 เมืองดังกล่าวไม่มีทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ประจำเมือง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สนามที่สร้างขึ้นใหม่ในเมืองเหล่านั้นจะถูกทิ้งร้างหลังเสร็จสิ้นฟุตบอลโลก
นอกจากการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะกระทบเศรษฐกิจบราซิลแล้วยังสั่นสะเทือนเก้าอี้ของ
นางดิลมารุสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังมีคะแนนนิยมตกต่ำอย่างหนัก จนอาจถึงขั้นพ่ายแพ้ในสังเวียนเลือกตั้งเทอม 2 ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า การจัดฟุตบอลโลก หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นเหมือนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนางรุสเซฟฟ์กลายๆ ทว่าดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้วน่าจะเป็นหายนะทางการเมืองของผู้นำบราซิลมากกว่า