ตะลึง! พนง.ออฟฟิศปวดหลังรุม จ่ายค่ารักษาปีละ 2.6 หมื่นล้าน
ข้อมูลผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันการเกิดความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อระบุ พนักงานออฟฟิศป่วยโรคปวดหลังอื้อ เหตุนั่งทำงานนานเกิน กล้ามเนื้อไม่ยืดหยุ่น อึ้งต้องจ่ายค่ารักษาปีละ 2.6 หมื่นล้าน ผู้เชี่ยวชาญชี้แก้ปัญหาได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ถ้าเรื้อรังต้องผ่าตัดและทำกายภาพบำบัด
วันที่ 8 มิถุนายน รศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ทำโครงการวิจัย "การศึกษาปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันการเกิดความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่า หลังส่วนบน และหลังส่วนล่าง ในกลุ่มพนักงานทำงานสำนักงาน" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ข้อมูลกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2553 ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ พบว่าในปี 2555 มีผู้ทำงานในสำนักงานประมาณ 4.6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ ผู้ทำงานส่วนหนึ่งมีอาการผิดปกติทางระบบกระดูก กล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่า หลังส่วนบนและหลังส่วนล่าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดประมาณ 26,681 ล้านบาทต่อปี
รศ.ดร.ประวิตรกล่าวอีกว่า จากข้อมูลการทำวิจัยในช่วงปี 2554-2556 โดยมีพนักงานทำงานสำนักงานเข้าร่วมโครงการวิจัย 524 คน แยกเป็นกลุ่มออกกำลังกาย 264 คน และกลุ่มไม่ออกกำลังกาย 260 คน ซึ่งจากการติดตามผลในช่วง 1 ปี พบว่ากลุ่มออกกำลังกายโดยออกกำลังกายวันละ 2 รอบในเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. รอบละ 5 นาทีทุกวัน มีอาการปวดคอและบ่า 32 คน คิดเป็นร้อยละ 11 ปวดหลังส่วนบน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 6 และปวดหลังส่วนล่าง 24 คน คิดเป็นร้อยละ 9 ส่วนกลุ่มไม่ออกกำลังกายมีอาการปวดคอและบ่า 72 คน คิดเป็นร้อยละ 28 ปวดหลังส่วนบน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 15 และปวดหลังส่วนล่าง 53 คน คิดเป็นร้อยละ 19 ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเป็นประจำสม่ำเสมอสามารถลดความเสี่ยงต่อการปวดคอและบ่าได้ร้อยละ60 การปวดหลังส่วนบนได้ร้อยละ 66 และการปวดหลังส่วนล่างได้ร้อยละ 60
รศ.ดร.ประวิตรกล่าวด้วยว่า ผลการวิจัยยังพบว่า อาการปวดคอและบ่า ปวดหลังส่วนบน และปวดหลังส่วนล่างของพนักงานทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และหลังไม่ได้มีการยืดหยุ่น ส่วนการรักษา หากเป็นระยะเริ่มแรกไม่ได้มีอาการปวดเรื้อรังจะสามารถแก้ไขได้โดยออกกำลังกายบริเวณคอ บ่า และหลังอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าอาการเรื้อรัง การรักษาทำได้โดยการกินยา ทำกายภาพบำบัด ฉีดยาหรือผ่าตัด