เจาะลึก "ประเทศน่าลงทุน" ทั่วโลก "ไทย" ตกชั้นร่วงอยู่อันดับ 57
เจาะลึก "ประเทศน่าลงทุน" ทั่วโลก "ไทย" ตกชั้นร่วงอยู่อันดับ 57
ประเทศไหนเหมาะที่จะลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า เป็นหนึ่งในคำถามหนักอกของนักลงทุนทั่วโลก เมื่อดูจากความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงทางการเงินที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจโลก ปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาต้องครอบคลุมตั้งแต่การนำเงินทุนไปแสวงหาผลตอบแทนนอกประเทศ จนถึงการนำผลกำไรกลับมาประเทศต้นทาง
นิตยสารฟเรน โพลิซี หยิบยก "ดัชนีความสามารถในการทำกำไรพื้นฐาน" (BPI) ปี 2557 ซึ่งรวบรวมโดยนายแดเนียล อัลท์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นตัวชี้วัดล่าสุดถึงความน่าลงทุนในแต่ละประเทศทั่วโลก โดย 8 ปัจจัยที่นำมาพิจารณาถึงศักยภาพของแต่ละชาติ ประกอบด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน ความมั่นคงทางกายภาพ ระดับคอร์รัปชั่น การคุ้มครองสินทรัพย์ของเอกชน การทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาของหุ้นส่วนในท้องถิ่น การควบคุมเงินทุนเข้า-ออก และอัตราแลกเปลี่ยน
BPI จะประเมินว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่ 8 ปัจจัยดังกล่าวจะกระทบการลงทุนและกระทบมากน้อยแค่ไหน แม้ดัชนีนี้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้างตรงที่เน้นมองแต่ละปัจจัยแยกกัน โดยไม่ได้พิจารณาความเกี่ยวพันของแต่ละปัจจัย แต่ก็ถือเป็นตัวชี้วัดที่น่าสนใจถึงความน่าลงทุนในหลายประเทศ
ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สภาวะแวดล้อมด้านการลงทุนของโลกเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เขตเศรษฐกิจที่เคยล้มลุกคลุกคลานเริ่มกลับมายืนได้บ้างแล้ว โดยเฉพาะยูโรโซน ขณะที่หลายประเทศตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งทางการเมือง มีไม่กี่ประเทศที่ปรับปรุงสถาบันทางเศรษฐกิจเป็นผลสำเร็จ ส่วนกลุ่มประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างกรีซ ตุรกี มาเซโดเนีย ออกมาตรการปกป้องนักลงทุน เช่นเดียวกับอาเซอร์ไบจันที่เพิ่มการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
ปีนี้ประเทศบอตสวานายังครองอันดับหนึ่งในทำเนียบ BPI เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยมี 4 ประเทศในซับซาฮาราที่ติด 20 อันดับแรก ด้วยแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง ตลอดจนภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ แต่ยังเป็นรองเอเชียตะวันออกที่ติดท็อป 20 ถึง 7 ประเทศ
ขณะที่ อินเดียยังคงครองที่ 6 อย่างเหนียวแน่น จากอานิสงส์ของศักยภาพในการแข็งค่าของเงินรูปี ซึ่งมีแนวโน้มจะแข็งแกร่งขึ้นอีกในเร็ว ๆ นี้ จากการขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายนเรนทรา โมดิ ที่มุ่งมั่นปฏิรูปเศรษฐกิจ
ส่วนจีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมีอันดับรูดลง หลังนำดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจมาพิจารณา ในปี 2556 จีนอยู่อันดับที่ 43 จากปัญหากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นผลพวงของระบบการปกครองคอมมิวนิสต์ ส่วนปีนี้ความน่าลงทุนของจีนยิ่งมืดมน เพราะการเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้หล่นไปอยู่อันดับ 60
มีหลายประเทศที่อันดับสูงขึ้นชนิดก้าวกระโดด ในช่วง 2 ปีนี้ อาทิ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งถูกคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราสูง และได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันเครดิตเรตติ้ง
ส่วนญี่ปุ่น ปีที่แล้วดัชนี BPI ประเมินว่าค่าเงินเยนจะอ่อนลง ก็เป็นไปตามคาดจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลของนายชินโสะ อาเบะ ประเทศที่อันดับร่วงลงหนักที่สุด คือ กาบูเวร์ดี ตุรกี และอุรุกวัย โดยกาบูเวร์ดีนั้นเจอทั้งการหั่นอันดับเครดิต และปรับลดตัวเลขการเติบโต สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์สมองว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของประเทศดังกล่าวอยู่ที่การขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องของการเติบโตตกต่ำและรายได้ภาษีลดลง กรณีอียิปต์ สถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายลงจากการทำรัฐประหารในปีที่แล้ว รวมถึงการนองเลือดเป็นระยะ ๆ ตอกย้ำถึงความไม่มั่นคงในประเทศนี้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่หุ้นส่วนในท้องถิ่นจะเล่นตุกติก ด้านตุรกี แม้มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในการปกป้องนักลงทุน แต่สถานการณ์ด้านความมั่นคงตลอดจนตัวเลขการเติบโตกลับเป็นไปในแง่ลบ
แน่นอนว่าความวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์และตุรกีย่อมสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่อุรุกวัยก็มีปัญหากับหลักนิติรัฐ (Rule of Law)
หันกลับมามองย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่น่าแปลกใจที่สิงคโปร์รั้งอันดับ 5 เท่ากับปีกลายและสูงสุดในอาเซียน
ตามมาด้วยกัมพูชาในอันดับ 9 ปรับขึ้นจากอันดับ 13 ในปี 2556 เบอร์ 3 ในภูมิภาคนี้ตกเป็นของมาเลเซีย ซึ่งรั้งอันดับ 11 จากเดิมอันดับ 14 ขณะที่เวียดนามครองอันดับ 35
ส่วนไทย อันดับในปีนี้อยู่ที่ 57 ร่วงจากอันดับ 47 ในปีที่แล้ว โดยยังไม่ได้นำปัจจัยการเกิดรัฐประหารในเดือนที่แล้วมาพิจารณาด้วย จึงมีความเป็นได้สูงที่อันดับของไทยในดัชนี BPI จะต่ำลงอีกในปีหน้า
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ