5 วิธีทวงเงินลูกหนี้

5 วิธีทวงเงินลูกหนี้

5 วิธีทวงเงินลูกหนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสเงินสดในองค์กรถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการอยู่รอดสำหรับเจ้าของธุรกิจรายย่อยเลยทีเดียว มีบริษัทมากมายที่ต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดายเพราะสนใจแต่รายรับและยอดขายโดยลืมให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่เรามีลูกค้ามากและผลประกอบการเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าในช่วงเวลานั้นเราจะมีเงินสดในระบบเยอะตามเสมอไป เพราะในการทำธุรกิจลูกค้าบางส่วนมักเลือกที่จะใช้วิธีผ่อนจ่ายหรือค้างชำระหนี้ไว้จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายที่กำหนดชำระแทนที่จะจ่ายสดทุกครั้ง

ทั้งนี้เพราะลูกค้าเองโดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ก็ต้องการให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเช่นกัน ก่อนที่จะเริ่มเกิดปัญหาว่าเราขาดเงินสดในการใช้จ่ายหมุนเวียนซึ่งมีสาเหตุต่อเนื่องมาจากลูกค้าชำระหนี้ล่าช้า เราควรพิจารณาหาวิธีในการทวงเงินจากลูกค้าแบบละมุนละม่อมแต่มีประสิทธิภาพและใช้ได้ผล เพื่อป้องกันปัญหาขาดเงินสดในระบบอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจเราได้



1.ให้ส่วนลดหากจ่ายก่อนกำหนด

กระตุ้นให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าบริการเร็วขึ้นด้วยการเสนอส่วนลดราคาให้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องชำระเงินก่อนเวลาที่กำหนดเท่านั้น อาจใช้เทคสร้างความน่าสนใจโดยไฮไลท์เงื่อนไขส่วนลดเหล่านี้ลงไปในสัญญาหรือใบแจ้งหนี้ด้วยเพื่อให้มองเห็นได้ชัด โดยปกติแล้วลูกค้าส่วนมากมีแนวโน้มที่จะคว้าโอกาสเหล่านี้เพราะผลประโยชน์ตกเป็นของฝั่งลูกค้าเองอย่างเห็นได้ชัด บางทีการยอมเสียเงินส่วนน้อยเป็นค่าส่วนลดให้กับลูกค้าเพื่อได้เงินก้อนมาเพื่อไปหมุนเวียนหรือนำไปลงทุนอย่างอื่นอาจทำให้เราได้ผลประโยชน์มากกว่าที่คิด

2.ให้ชำระแบบออนไลน์

ในปัจจุบันมีธุรกิจหลายรายแล้วที่เริ่มใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ โดยการไปผูกบัญชีกับทางธนาคารต่างๆ ซึ่งส่วนที่ดีที่สุดของวิธีนี้ก็คือเงินของลูกค้านั้นจะถูกตัดออกจากบัญชีเพื่อมาโอนเข้าบัญชีเงินฝากเราอัตโนมัติและตรงตามเวลาที่เรากำหนดไว้อย่างแน่นอน โดยวิธีนี้ช่วยให้การบริหารเงินทั้งของทางฝั่งเราและฝั่งลูกค้าสะดวกขึ้นด้วย

3.ถ่วงเวลางาน

 

 


 


นี่เป็นข้อที่สามารถทำได้ยากในสถานการณ์จริง แต่เมื่อไรที่เราพบว่างานที่ลูกค้าสั่งหรือกระบวนการขายได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง แต่ลูกค้าชำระหนี้ได้ช้าหรือไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ เราก็ควรหยุดสิ่งที่เราทำอยู่ก่อนชั่วคราว พร้อมกับยืนกรานว่าต้องได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ก่อนเราจึงจะดำเนินการต่อจนเสร็จสิ้น วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความกดดันและทำให้เราถือไพ่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถึงแม้ว่าวิธีถ่วงเวลางานนี้จะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ แต่การต่อรองด้วยผลประโยชน์ของลูกค้าก็ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าหากต่อรองไม่ดีก็อาจทำให้เสียความรู้สึกและลามไปถึงขั้นเสียความสัมพันธ์กับลูกค้าที่สั่งสมกันมาเลยก็ได้ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจใช้วิธีนี้ก็ควรลองใช้วิธีอื่นดูก่อน ถ้าหากวิธีอื่นใช้ไม่ได้ผลและลูกค้าแสดงอาการว่าจะเอาเปรียบเราอย่างเห็นได้ชัด วิธีการจัดการขั้นเด็ดขาดเช่นนี้ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

4.ทวงน้อย แต่ทวงบ่อย



เมื่อไรก็ตามที่เราออกใบแจ้งหนี้โดยมียอดรวมเป็นจำนวนเงินมากๆ จะสังเกตได้ว่าหนี้ก้อนนั้นมักจะชำระกลับมาช้ากว่าปกติ ลูกค้าบางรายมักจะจ่ายเงินคืนนานกว่า 30 วันเมื่อต้องชำระหนี้เป็นแสน แต่ถ้าเราแบ่งแจ้งหนี้ทีละ 20,000 - 30,000 บาทมักจะได้รับเงินคืนใกล้เคียงกับเวลาที่กำหนดกว่ามากๆ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวิเคราะห์และหาจำนวนเงินที่แน่นอนว่า เราต้องกำหนดใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้าแต่ละรายสักเท่าไรที่จะทำให้ลูกค้าเหล่านั้นคืนเงินได้ตรงเวลาที่สุด และใช้วิธีแบ่งจ่ายในจำนวนเงินเท่านั้นเป็นงวดๆ แทน

5.ปรับความเข้าใจ



การพูดคุยกับลูกค้าเพื่อปรับความเข้าใจเรื่องรายละเอียดในงาน รวมถึงเพื่อรักษาความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่บางครั้งเราก็กลับมองข้ามการพูดคุยไปอย่างน่าเสียดายเมื่อเป็นเรื่องของการทวงหนี้ ลองเริ่มต้นสนทนากับลูกค้าเกี่ยวกับระบบเจ้าหนี้-ลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยกัน ว่าถ้าซื้อขายกับเราจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นวันที่ชำระ อัตราดอกเบี้ยเมื่อชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด หรือส่วนลดเมื่อลูกค้าจ่ายก่อน ทั้งนี้เราอาจพูดตรงๆ กับลูกค้าว่าในการทำธุรกิจเราก็มีเจ้าหนี้ที่ต้องชำระเหมือนกัน ถ้าหากลูกค้าชำระเงินจากเราช้าแล้วจะมีผลกระทบอะไรต่อการทำงานบ้าง ซึ่งลูกค้าที่ดีส่วนมากก็จะเข้าใจและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้แต่แรกเพื่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดี

 


 
เงินสดถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ถึงแม้ว่าเราจะมีรายได้หรือกำไรมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกระแสเงินสดก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะในการทำธุรกิจเราต้องอาศัยเงินสดหมุนเวียนในกระบวนการต่างๆ การที่ยอมให้ลูกค้าทั้งหลายชำระเงินได้ช้าไม่ตรงตามเวลาอาจกลายเป็นปัญหาที่ตามมาเมื่อเราไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบเพื่อนำไปชำระหนี้ต่ออีกที ทำให้บางครั้งเราอาจต้องทำความเข้าใจเรื่องระบบการชำระเงินกับลูกค้าให้ชัดเจน รวมถึงอาจต้องยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อให้เงินในระบบมีเสถียรภาพและมีสำรองไว้ในยามฉุกเฉินตลอดเวลา

ข้อมูลและภาพประกอบจาก http://www.sentangsedtee.com/

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook