กทม.ขอ 2 หมื่นล้านผุดสะพานแทนถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

กทม.ขอ 2 หมื่นล้านผุดสะพานแทนถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

กทม.ขอ 2 หมื่นล้านผุดสะพานแทนถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กทม.ชง คสช.ผุดสะพานแทนถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมปัดฝุ่น 4 สะพานค่าก่อสร้างเฉียด 2.3 หมื่นล้านบาท ประเดิม "เกียกกาย" วงเงินลงทุนหมื่นล้าน รองรับรัฐสภาใหม่อีก 3 แห่ง จัดความสำคัญลำดับถัดไป รอวัดใจ คสช.

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายจะแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีแนวคิดจะสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กทม.มองว่าจะเกิดได้ยาก ล่าสุดผู้บริหารมีแนวคิดจะนำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่งให้ คสช.พิจารณา ค่าก่อสร้างรวม 23,250 ล้านบาท มีผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอแค่งบประมาณก่อสร้าง

โดยโครงการแรกจะให้เร่งรัดคือ "สะพานเกียกกาย" วงเงิน 10,500 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,000 ล้านบาท เพื่อรองรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกายที่กำลังก่อสร้างในแผน จะแล้วเสร็จปลายปี 2558

 

โครงการออกแบบเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด 4-6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณทางรถไฟสายใต้ ตัดตรงข้าม ถ.จรัญสนิทวงศ์ ซอย 93-95 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่ ผ่าน ถ.สามเสน ถ.ทหาร ถ.เตชะวณิช ถ.ประดิพัทธ์ วกเข้า ถ.เทอดดำริห์ ตวัดออกข้ามทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณ ถ.พระรามที่ 6 เข้า ถ.กำแพงเพชร ผ่านตลาด อ.ต.ก.ตลาดนัดจตุจักร มาบรรจบกับ ถ.พหลโยธินด้านกรมการขนส่งทางบก

"มียอดเวนคืน 874 ราย ส่วนใหญ่จะใช้ที่ดินในเขตทหารเป็นหลัก จะขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 100%" แหล่งข่าวกล่าวและว่าสำหรับการเปิดประมูลและก่อสร้าง แบ่งเป็น 5 สัญญา คือ 1) ถนนยกระดับเลียบทางรถไฟสายใต้ และการปรับปรุงถนนฝั่งธนฯ ค่าก่อสร้าง 720 ล้านบาท 2) สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 1 กม. ค่าก่อสร้าง 925 ล้านบาท

3) ถนนยกระดับช่วงลงจากสะพานถึงแยกสะพานแดง ปรับปรุงถนนฝั่งพระนคร ค่าก่อสร้าง 915 ล้านบาท 4) ถนนยกระดับและการปรับปรุงถนนด้านล่าง จากแยกสะพานแดงถึงถนนกำแพงเพชร ค่าก่อสร้าง 995 ล้านบาท และ 5) ถนนยกระดับ จากถนนกำแพงเพชรถึงถนนพหลโยธินหน้าตลาดนัดจตุจักร พร้อมปรับปรุงทางลงถนนกำแพงเพชร 2 ค่าก่อสร้าง 955 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือจะจัดเป็นแผนระยะต่อไป ได้แก่ "สะพานจันทน์-เจริญนคร" ระยะทาง 1.3 กม. เป็นสะพาน 4 ช่องจราจร วงเงิน 6,600 ล้านบาท มีค่าก่อสร้าง 600-700 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าเวนคืนที่ดิน เพราะพาดผ่านที่ดินกลางเมือง มีจุดเริ่มต้น ถ.จันทน์ ซอย 42 ผ่าน ถ.เจริญกรุง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบ ถ.เจริญนครซอย 24 มีเวนคืนที่ดิน 200-300 หลังคาเรือน จุดเวนคืนใหญ่ อาทิ ฝั่ง ถ.เจริญกรุง จะเฉือนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กว่า 4 ไร่ ด้านหลังโรงแรมชาเทรียม ที่เช่าระยะยาวของ บจ.แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ ธุรกิจของตระกูลเตชะอุบล

นอกจากนี้มี "สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม" มีจุดเริ่มต้นฝั่ง ถ.ลาดหญ้าระหว่างซอยเจริญรัถ 18 กับซอยลาดหญ้า 17 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมกับฝั่งพระนครบริเวณ ถ.มหาพฤฒาราม ใกล้โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม 2.36 กม. วงเงิน 5,300 ล้านบาท มีเวนคืน 12.1 ไร่ อาคาร 50 หลัง จ่ายค่าชดเชยประมาณ 300 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง

และ "สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง" สร้างอยู่บนแนว ถ.ราชวงศ์ และ ถ.ท่าดินแดง มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ ถ.ทรงวาด วิ่งตาม ถ.ราชวงศ์-ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง-ถ.ท่าดินแดง สิ้นสุดที่ปากซอยท่าดินแดง 17 ความยาว 480 เมตร ซึ่งโครงการนี้จะไม่มีเวนคืนที่ดิน โดยลดขนาดสะพานเหลือ 2 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างประมาณ 850 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook