กางแผน คสช.ช่วยชาวนา เลิกหว่านเงิน ไล่บี้ "ปุ๋ย-ยาปราบ" ลดต้นทุน

กางแผน คสช.ช่วยชาวนา เลิกหว่านเงิน ไล่บี้ "ปุ๋ย-ยาปราบ" ลดต้นทุน

กางแผน คสช.ช่วยชาวนา เลิกหว่านเงิน ไล่บี้ "ปุ๋ย-ยาปราบ" ลดต้นทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ "ปลดล็อก" เงินจำนำข้าวมากกว่า 90,000 ล้านบาท ทยอยจ่ายคืนให้กับชาวนาแล้ว ปัญหาต่อไปก็คือ การปลูกข้าวนาปี 2557/58 จะมีวิธีการช่วยเหลือชาวนาอย่างไร จากความจริงที่ว่า ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศได้ "ตกต่ำ" ลงเกินกว่า "ต้นทุน" การปลูกข้าวของชาวนา โดย คสช.เองได้แสดงท่าทีออกมาแล้วว่า การปลูกข้าวปี 2557/58 จะไม่มีการใช้นโยบายรับจำนำ หรือการประกันราคาข้าว แต่เลือกที่จะใช้วิธีการ "ลดต้นทุน" การปลูกข้าวให้กับชาวนาแทน

ล่าสุดในการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องมาตรการช่วยเหลือชาวนาหลังจากสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ได้เรียก 3 สมาคมชาวนาไทย, สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, สมาคมปุ๋ย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวนา

เบื้องต้นที่ประชุมได้ข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิต 2557/58 ให้เน้นไปที่ "การลดต้นทุนการผลิตข้าว" ด้วยวิธีการขอความร่วมมือ "กึ่ง" บังคับผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ลดราคา-ลดค่าบริการ ในกระบวนการปลูกข้าวแทนการจ่ายเงินชดเชยอย่างที่เคยปฏิบัติมาในอดีต มีเป้าหมายที่จะช่วยชาวนาลดต้นทุนการผลิตได้ขั้นต่ำประมาณ 500-600 บาท/ไร่ จากปัจจุบันต้นทุนการผลิตขณะนี้อยู่ที่ 4,000-5,000 บาท/ไร่

ในระหว่างการประชุม พล.อ.ฉัตรชัยเน้นย้ำว่า คสช.จะไม่มีการชดเชยเป็นรูป "ตัวเงิน" แต่จะมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต

 

 

ธ.ก.ส.อัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวภายหลังการประชุมสิ้นสุดลงว่า จากการที่ผู้ประกอบการปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ "ยอมลดราคาลง" ก็จะส่งผลให้ "ต้นทุน" การผลิตข้าวของชาวนาลดลง 432 บาท/ไร่ จากต้นทุนปัจจุบันไร่ละ 4,787 บาท ซึ่งหากรวมค่าชดเชยดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ที่ลดลงอีก 3% หรือ 150 บาท/ไร่ ก็จะทำให้ต้นทุนทั้งหมดของชาวนาลดลงรวม 582 บาท/ไร่

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนา ด้วยการลดดอกเบี้ยลง 3% จากอัตราปกติเป็นเวลา 6 เดือน แบ่งการชดเชยออกเป็น 2 แนวทางให้ คสช.พิจารณา ได้แก่ แนวทางแรกให้สินเชื่อชาวนารายละ 50,000 บาท คิดเป็นเงิน 2,292 ล้านบาท กับแนวทางที่ 2 ให้สินเชื่อรายละ 100,000 บาท คิดเป็นเงิน 4,582 ล้านบาท

ข้อเสนอ 3 สมาคมชาวนา

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เบื้องต้นที่จะให้ผู้ประกอบการโรงสีและพ่อค้าข้าว รับซื้อข้าวในราคา 8,000-9,000 บาท/ตันนั้น "พวกเราชาวนาพอใจในระดับหนึ่ง" แต่ก็อยากให้ คสช.พิจารณาการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนา โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่อยู่นอกเขตชลประทานมีต้นทุนการผลิต "สูงกว่า" ชาวนาที่อยู่ในเขตชลประทานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,500-7,000 บาท/ไร่

ด้าน นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ได้เสนอที่ประชุมให้ช่วยจ่าย "เงินชดเชย" ต้นทุนการผลิตแก่ชาวนา แต่ พล.อ.ฉัตรชัยกลัวว่าจะนำเงินไปใช้ผิดประเภท ขณะที่ นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย และนายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า พอใจกับแนวทางช่วยลดต้นทุนการผลิตของ คสช.ภายใต้ภาวะการคลังของประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนจะมีการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องมาตรการช่วยเหลือชาวนาเพียง 1 วัน ในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ได้มีหนังสือลงนามโดย นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ส่งไปยัง "ผู้ให้เช่านา" ทั่วประเทศเพื่อขอความร่วมมือลดราคาค่าเช่าลงไร่ละ 200 บาท แต่เมื่อ พล.อ.ฉัตรชัยเรียกประชุมกับผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 กลับขอให้ลดค่าเช่านาลงถึง 500 บาท/ไร่ ทำให้ผู้ให้เช่านาตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้มีการ "ตั้งธง" กันไว้แล้ว

ยังสงสัยลดต้นทุนการผลิต

จากการสอบถามชาวนาในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่วนใหญ่ยัง "สงสัย" มาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตของ คสช.จะมีผลปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง การลดค่าเช่านา หากพื้นที่นาเป็นดินไม่ดี ปกติจะกำหนดอัตราค่าเช่า 500 บาท/ไร่/ฤดูการผลิต หากจะให้ปรับลดค่าเช่าไร่ละ 200 บาท เท่ากับว่าผู้ให้เช่าจะไม่มีกำไร และยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะผู้เช่าถูก "บังคับ" ให้เช่านาได้เป็นระยะเวลา 6 ปี ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524

มาตรา 26 ระบุการเช่านาให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลาหรือมีแต่ต่ำกว่า 6 ปี ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลา 6 ปี ซึ่งเดิมเมื่อรัฐบาลใช้โครงการจำนำข้าวแบบเดิมชาวนาจะใช้วิธีบอกเช่า เพื่อกันรายอื่นไม่ให้มาเช่านา แต่เมื่อไปหาที่นาที่ทำเลดีกว่าก็ไม่บอกเลิกสัญญาเช่า ทำให้ไม่สามารถนำนาดังกล่าวไปให้รายอื่นเช่าซ้ำได้ และไม่ได้รับค่าเช่านา

ขณะที่การขอความร่วมมือในการลดราคาปัจจัยการผลิตถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก แม้ว่าสมาคมเมล็ดพันธุ์ หรือสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จะกล่าวในที่ประชุมว่า "ยินดีจะปรับลดราคาสินค้า" เช่น ลดค่าปุ๋ยกระสอบละ 50 บาทจากปัจจุบันกระสอบละ 1,200-1,350 บาท แต่ไม่ได้แจ้งว่า เป็นการลดปุ๋ยสูตรใดหรือมีเงื่อนไขใดในการซื้อปุ๋ยหรือไม่ หรือเป็นการลดราคาให้ตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยเท่านั้น

ที่สำคัญสมาชิกสมาคมผู้ค้าปุ๋ยให้ความเห็นว่า การลดราคาสินค้าแต่ละรายการจะต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งมีความสามารถในการผลิตต่างกัน ทำให้โครงสร้างต้นทุนไม่เท่ากัน หากผู้ผลิตลดราคาในสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรไม่นิยมใช้ หรือลดราคาแล้วเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า ก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

ส่วนสมาคมเมล็ดพันธุ์ได้ทำหนังสือยืนยันว่า จะปรับลดราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวลง กก.ละ 4 บาท แต่ก็ไม่แจ้งว่าจะปรับลดลงจากราคาตั้งต้นเท่าไร เพราะขณะนี้ราคาเมล็ดพันธุ์เดือนพฤษภาคม 2557 ปรับลดลงเหลือ กก.ละ 17.20 บาท จากราคาปี 2556 ที่เฉลี่ย กก.ละ 22.50 บาท หากไม่บอกก็อาจตีความได้ว่า ราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดได้ปรับลดลงไปแล้ว

ที่สำคัญหากคำนวณต้นทุนการผลิตปัจจุบันที่ไร่ละ 4,000-6,000 บาท บางพื้นที่ปลูกข้าวได้ 580 กก./ไร่ หรือต้องปลูก 1.5 ไร่ จึงจะได้ข้าวเปลือก 1 ตัน เท่ากับต้นทุนชาวนาต่อตันอยู่ที่ 6,000-7,000 บาท เป้าหมายของ คสช.มุ่งหวังจะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือก ความชื้น 15% ในตลาดตันละ 8,500-9,000 บาท หรือทำให้ชาวนาได้กำไรตันละ 2,000-3,000 บาท "จึงดูจะเป็นเรื่องที่ยาก" ประกอบกับในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 จะมีข้าวออกสู่ตลาดอีกประมาณ 27-28 ล้านตันข้าวเปลือก

ดังนั้น วิธีการลดต้นทุนการผลิตอย่างเดียว โดยไม่มีแผนการบริหารจัดการข้าว ทั้งข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดและข้าวที่อยู่ในสต๊อกรัฐบาล คงไม่เพียงพอจะ "ตรึง" ราคาข้าวให้ชาวนาได้ 8,000-9,000 บาท/ตันอย่างที่หวัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook