ส้มตำถาดสีฉูดฉาด อันตรายที่มากับความแซ่บ

ส้มตำถาดสีฉูดฉาด อันตรายที่มากับความแซ่บ

ส้มตำถาดสีฉูดฉาด อันตรายที่มากับความแซ่บ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถกเถียงกันในโลกออนไลน์กันหน้าดำหน้าแดง ว่าส้มตำถาดที่กำลังฮอตฮิตอยู่นี้ มีอันตรายจริงหรือไม่

เรื่องนี้ ทีมงานประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้รับคำตอบจาก ธนชีพ พีระธรณิศร์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มเฝ้าระวังสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขว่า ถาดที่เคลือบสีฉูดฉาดเมื่อนำมาใส่อาหารที่ไม่ถูกประเภทนั้นอันตรายแน่นอน โดยเฉพาะใส่ส้มตำที่มีเครื่องปรุงที่เป็นกรดอย่างมะนาว

"โดยหลักการภาชนะที่มีการเคลือบไม่ให้สีหลุดจะใช้ใส่อาหารเย็นได้ไม่เป็นไร แต่อาหารที่มีรสจัด มีน้ำส้ม มะนาว ใช้ไม่ได้ เพราะกรดจะไปกัดกร่อนสารที่เคลือบสีละลาย โดยเฉพาะส้มตำที่เป็นอาหารรสจัด มีรสเปรี้ยวชัดเจน" ธนชีพ กล่าว

 


ภาพ อินเทอร์เน็ต

มีคนบอกว่ากินมาตั้งแต่เด็กไม่เห็นเป็นไร?

"มันสะสมนี่ครับ รู้หรือไม่ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งร้อยละ 90 เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง" นักวิชาการสาธารณสุข กล่าวและว่า เรื่องเหล่านี้เมื่อเราเรียนรู้ มีข้อมูลแล้ว เราก็ต้องหลีกเลี่ยง กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องรณรงค์ ซึ่งมีหลายขั้นตอน ในส่วนของผู้ประกอบการต้องรู้ว่าอาหารที่ทำนั้นเป็นอาหารประเภทไหน ต้องใช้ภาชนะอะไร ถ้าเป็นของร้อนก็ต้องใช้แบบที่กัดกร่อนไม่ได้ เช่น เมลามีน สเตนเลส กระเบื้องเคลือบขาว หรือ แก้ว เป็นต้น

หลักการเลือกใช้ภาชนะ ต้องเลือกภาชนะที่ไม่มีสีฉูดฉาด ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารเคมี ให้ทำความสะอาดง่าย และ ต้องทนต่อการกัดกร่อนของอาหาร

"ถาดสังกะสีที่มีสีฉูดฉาด ถ้าเอาไปใส่ผักแบบนี้ไม่มีปัญหา มันไม่กัดกร่อน พวกภาชนะก็ต้องทำความสะอาดง่าย อย่างแก้วก็ไม่ใช่เลือกที่เอามือล้วงไปล้างไม่ได้ หรือ อย่างถาดก็มีหลายเลือกตั้งเยอะแยะ ถาดสเตนเลสก็ได้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ใช้" นักวิชาการสาธารณสุข ตบท้าย

การใช้ถาดโบราณลวดลายสีฉูดฉาดที่ให้อารมณ์สาวน้อยบ้านนาอาจบิวท์ให้ส้มตำแซ่บขึ้นก็จริงแต่อย่าลืมว่านำมาใช้ถูกประเภทอาหารหรือไม่โดยเฉพาะ "ความปลอดภัย" ของผู้บริโภคต้องสำคัญที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook