รุกป่าทั่วประเทศ 3.7 แสนราย 6 ล้านไร่ งัดแผนขีดเส้นตายกันยายนยึดคืนสวนยาง-รีสอร์ตรุกป่า
ตะลึงรุกป่าทั่วประเทศ 3.7 แสนราย 6 ล้านไร่ กรมป่าไม้รับลูก คสช. งัดแผนสกัดขีดเส้นตายสิ้นกันยายน บุกรุกใหม่เจอลงดาบเฉียบขาด นายทุน เจ้าของสวนยาง-รีสอร์ตแจ็กพอตถูกยึดคืนพื้นที่ ฝ่าฝืนโดนทั้งอาญา-แพ่ง พร้อมเดินหน้าสางปัญหาทำกินในป่าสงวน แจก ส.ท.ก.ให้สิทธิทำกินคนยากจน
นาย บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกรมป่าไม้กำลังเดินหน้ามาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาบุกรุกป่า และลักลอบตัดไม้พะยูง-ไม้หวงห้าม ตามคำสั่งที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยร่วมมือหลายหน่วยงานดำเนินการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดหยุดยั้งการกระทำผิด ตั้งเป้าลดการสูญเสียพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปีละ 1 ล้านไร่ลงให้ได้
สาเหตุ ที่กระทรวงทรัพย์ฯและกรมป่าไม้เสนอ คสช.ออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากกฎอัยการศึกของทหารทำอะไรได้มาก แม้ที่ผ่านมากรมจะทำอยู่แล้ว แต่อยากทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น เทียบกับก่อนหน้านี้ ต้องขอหมายค้น จากศาลซึ่งยุ่งยากมาก ต่อไปมีการข่าวทุกหน่วยงานตามคำสั่งของ คสช.สามารถประสานงานได้ง่ายขึ้น และจะมีกองกำลังทุกส่วนมาเสริม ทั้งจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) มหาดไทย ทำให้งานบรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และเตือนเจ้าหน้าที่ไม่ให้หย่อนยานในหน้าที่
ขีดเส้นตาย ก.ย.ห้ามรุกป่าเพิ่ม
การ บุกรุกทำลายป่าไม้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552-2556 จากภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่ป่าไม้ของไทยมี 107 ล้านไร่ ในปี 2556 เหลือเพียง 102 ล้านไร่ หายปีละ 1 ล้านไร่ หากหยุดยั้งการบุกรุกลงเหลือปีละ 2-3 แสนไร่จะถือว่าการทำงานเริ่มดีขึ้น กรมจึงทบทวนการทำงานใหม่ ต้องป้องกันไม่ให้บุกรุก โดยเอาภาพถ่ายทางอากาศให้หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติลงไปพูดคุยกับประชาชนใน พื้นที่ กำลังประสานฝ่ายปกครอง คือนายอำเภอ ให้ขีดวงป่าสงวนแห่งชาติ ยับยั้งการบุกรุก ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบดูแล ป่าต้องเป็นของประชาชนต้นปีที่ผ่านมา กรมได้ตั้งหัวหน้าป่าสงวนฯทั่วประเทศ และให้ภาพถ่ายทางอากาศไปแล้ว 1 เดือน เพื่อตรวจสอบและต้องจัดการให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนี้ถ้ามีการบุกรุกใหม่ต้องจับกุมเด็ดขาด
กางโรดแมปแก้ปัญหา 4 กลุ่ม
การ แก้ไขปัญหาผู้บุกรุกป่าไม้ช่วงก่อนหน้านี้ กรมจะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มีสภาเกษตรกรแห่งชาติรวมอยู่ด้วยสำรวจพื้นที่ แล้วจัดทำฐานข้อมูลนำมากำหนดแนวทางแก้ปัญหา แบ่งผู้บุกรุกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ก่อน 30 มิ.ย. 2541 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่อนผันให้ จะออกใบสิทธิทำกิน (ส.ท.ก.) ให้ 2.ประชาชนยากจนและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ มีคุณสมบัติตรงกับประกาศ คสช.จะอนุญาตให้อยู่ต่อ อาจออก ส.ท.ก.ให้ 3.กลุ่มที่ตรวจสอบแน่ชัดว่าเป็นนายทุนจากที่อื่น จะเจรจาขอพื้นที่คืนก่อน หากไม่ยอมจะฟ้องร้องดำเนินคดี 4.บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะยากจน แม้ไม่ร่ำรวย เข้าไปอยู่ 1-10 ปี จะให้ประชาคมในพื้นที่ตัดสินว่าสมควรจะอยู่ในพื้นที่ต่อไปหรือไม่
เรียกค่าเสียหายนายทุนผุดรีสอร์ต
นาย บุญชอบกล่าวว่า ด้านปัญหาการลักลอบตัดไม้ เดิมพ่อค้าคนไทยอยู่เบื้องหลัง แต่หลังปิดป่าปี 2532 ความรุนแรงลดลงไป มีการนำเข้าไม้จากอเมริกาใต้มากขึ้น แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมามีการลักลอบตัดไม้พะยูงเพราะต่างชาติต้องการ ราคาเพิ่มจากลูกบาศก์เมตรหลักหมื่นบาทขึ้นไปเป็นล้านบาท จึงลักลอบตัดแทบไม่เหลือ นอกจากนี้ มีการตัดไม้หวงห้ามอื่น เพิ่มมากขึ้นด้วย จากปลายปีที่ผ่านมาถึงขณะนี้ผ่านไปเพียง 6 เดือน กรมมีสถิติจับกุมไม้ประดู่เพิ่มถึง 5 เท่าตัว จาก 1,000 กว่า ลบ.ม. เป็น 5,000-6,000 ลบ.ม. เป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ตามออร์เดอร์ต่างชาติ
สำหรับ ปัญหานายทุนบุกรุกสร้างรีสอร์ตในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อศาลพิพากษารีสอร์ตเสร็จสมบูรณ์ก็ต้องรื้อถอน รวมทั้งฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายในการทำลายป่าไร่ละ 70,000-150,000 บาท โดยได้ตรวจสอบรายชื่อผู้มีอิทธิพลด้านป่าไม้ส่งให้ คสช.แล้ว
บุกรุกปลูกยาง 1.4 ล้านไร่
แหล่ง ข่าวจากกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ป่าถูกบุกรุกเพิ่มขึ้นมากช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากกระแสบูมการทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะยางพาราปลายปีที่ผ่านมามีนายทุนและเกษตรกรบุกรุกปลูกสร้างสวนยางใน พื้นที่ป่าสงวนฯทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 7 หมื่นแปลง เนื้อที่ 1.3-1.4 ล้านไร่ แยกเป็นยางพาราอายุต่ำกว่า 6 ปี 3.2 หมื่นแปลง เนื้อที่ 3.91 แสนไร่ อายุ 6-25 ปี 3.6 หมื่นแปลง 9.26 แสนไร่ และอายุมากกว่า 25 ปี 2.8 พันแปลง 4.46 หมื่นไร่
เพิกถอนเอกสารสิทธิ 7 หมื่นไร่
ด้าน แหล่งข่าวจากกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเรื่องอยู่ระหว่างสอบสวนพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิทับซ้อนที่ป่า ทั่วประเทศกว่า 300 ราย กระจายหลายจังหวัด อาทิ เชียงราย ภูเก็ต ฯลฯ จากที่ผ่านมามีการเพิกถอนไปแล้ว 7 พันแปลง รวม 7 หมื่นไร่ สาเหตุมาจาก 1.เจ้าของที่ดินนำชี้รังวัดผิดตำแหน่ง 2.แผนที่ตำแหน่งแปลงที่ดินคลาดเคลื่อน 3.เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ
ตะลึงบุกป่าทั่ว ปท. 6 ล้านไร่
ขณะ ที่ข้อมูลจากการสำรวจผู้บุกรุกป่าและที่ดินของรัฐทั่วประเทศโดยกระทรวง มหาดไทย ปลายปี 2551 ที่ผ่านมา พบมีการบุกรุก 3.72 แสนราย เนื้อที่ 6.01 ล้านไร่ แยกเป็นบุกรุกป่าสงวนฯ 5.8 หมื่นราย 1.57 ล้านไร่ อุทยานแห่งชาติ 3.7 หมื่นราย 6.04 แสนไร่ ที่ราชพัสดุ 1.96 แสนราย 2.18 ล้านไร่ ที่สาธารณประโยชน์ 5.5 หมื่นราย 1.15 ล้านไร่ ที่ดินอื่น ๆ เช่น ที่ ส.ป.ก. 2.52 หมื่นราย 4.95 แสนไร่ อาทิ กาญจนบุรี 1.08 ล้านไร่ ฉะเชิงเทรา 6.5 หมื่นไร่ ประจวบคีรีขันธ์ 6.9 หมื่นไร่ นครสวรรค์ 1.7 แสนไร่ พิษณุโลก 1.4 แสนไร่ สุราษฎร์ธานี 1.9 แสนไร่ อุดรธานี 1 แสนไร่ เชียงราย 2.2 หมื่นไร่ เชียงใหม่ 2.5 หมื่นไร่ นครศรีธรรมราช 4.5 แสนไร่ น่าน 2.5 แสนไร่ เพชรบูรณ์ 4.5 แสนไร่ ภูเก็ต 2.9 หมื่นไร่ นครราชสีมา 2.3 แสนไร่ ชัยภูมิ 6.9 หมื่นไร่ เป็นต้น