"คนทรงเจ้า" อาชีพฮ็อตของชาวเกย์ในพม่า
ตอนที่ อ่องเมียตข่าย ยังเป็นเด็กชาย เขาชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของผู้หญิงและเต้นได้สะดีดสะดิ้งกว่าใครๆ เขาไม่ใช้ลูกชายในแบบที่พ่อของเขาหวังไว้
"ฉันใช้ชีวิตอย่างเกย์ตอนที่ฉันเป็นเด็ก แต่พ่อของฉัน ซึ่งเป็นทหารอยู่ในตั๊ดมะดอว์ (กองทัพพม่า) ไม่อยากให้ฉันเป็นเกย์ พ่อดุและทำโทษฉัน" อ่องเมียตข่าย วัย 48 ปีเล่า ขณะที่อยู่ในบ้านในเขตดะกงเหนือ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาใช้ประกอบอาชีพร่างทรง หรือในภาษาพม่าเรียกว่า นัตกะด่อ โดยได้จ้างคนช่วยงานไว้ 2 คน
"เพราะฉันชอบที่จะทำตัวสวยอยู่ตลอด เพื่อนๆ ในชั้นเรียนจึงพากันรังเกียจฉันที่โรงเรียน" เขาถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ไม่เว้นแม้แต่ครู
แม้ว่าในสังคมจะมีการยอมรับชาวเกย์มากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่หลายคนก็ยังคงมีอคติเก่าๆ ที่ฝังลึกต่อพวกเขา
ทว่า อย่างน้อยก็ยังมีบทบาทหนึ่งในสังคมที่เกย์ได้รับการยอมรับจากผู้คน นั่นก็คือ การเป็นร่างทรง เป็นสื่อกลางของลูกค้าที่ต้องการบูชาเทพ หรือ นัตทั้ง 37 ตนตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธในพม่าเพื่อโชคลาภ สุขภาพที่ดี และเพื่อความเป็นสิริมงคลให้ชีวิต ฯลฯ ในฐานะร่างทรง เกย์หลายคนได้รับการเคารพและมีสังคมของตน แม้ว่าสังคมและเศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ถนนสู่อาชีพนี้จะเปิดรับชายหนุ่มอายุน้อยหรือไม่
"เกย์ที่อายุน้อยถูกกีดกันตอนที่เป็นวัยรุ่นหรือตอนที่เป็นเด็ก แม้แต่ในโรงเรียน พวกเขาจะถูกรังแกจากเพื่อนๆ ในชั้นและครู ดังนั้น เด็กที่เป็นเกย์จำนวนมากจึงเรียนไม่จบ พวกเขาหางานทำได้ยาก และต้องเดินตามเส้นทางของตัวเองโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ" โกละเมียตทุน เจ้าหน้าที่จากกลุ่มสีรุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิของคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) กล่าว "เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงต้องทำงานในร้านทำผม หรือไม่ก็เป็นร่างทรง"
เมื่อ อ่องเมียตข่าย อายุ 16 ปี เขาออกจากโรงเรียนกลางคันและไปฝึกอยู่กับร่างทรงวัยชราคนหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก "เขามีคนที่เป็นเกย์เหมือนฉันรอบตัวเต็มไปหมด" อ่องเมียตข่าย กล่าว
ร่างผอมบางของเขาถูกสวมทับด้วยเสือยืดสีขาวกับโสร่ง ผมปอยหนึ่งเหน็บกิ๊ฟไว้ เขานั่งแบบที่ผู้หญิงนั่ง อยู่หน้าหิ้งบูชาขนาดใหญ่ โดยมีสร้อยทองเส้นโตและแหวนหลายวงประดับอยู่ที่คอและนิ้ว ลักษณะท่าทางของอ่องเมียตข่าย เหมาะที่จะเป็นร่างทรงอย่างมาก
ในตอนแรก เขาไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า เขาต้องใช้เวลาถึง 10 ปีทำงานเคียงข้างครูของเขาเพื่อสร้างฐานลูกค้าแล้วจึงสามารยืนได้ด้วยตัวเอง
"ตอนนี้ผู้คนปฏิบัติกับฉันอย่างสุภาพ และเข้ามาขอคำแนะนำว่าทำธุรกิจอย่างไรให้ไปได้ดี ฉันมีความสุขที่ได้อยู่อย่างนี้" เขากล่าว
ปัจจุบัน อ่องเมียตข่าย พยายามที่จะมอบโอกาสที่เขาเคยได้รับให้กับเกย์รุ่นใหม่ ผู้ช่วยบางส่วนอาศัยอยู่ที่บ้านของเขา "ฉันคิดกับพวกเขาเหมือนเป็นลูก ฉันไม่อยากให้พวกเขาต้องลำบากเหมือนที่ฉันเจอตอนที่ฉันยังเด็ก"
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างทรงที่มีชื่อเสียง ผู้ช่วยอาศัยอยู่ในบ้านเดียบกันเหมือนเป็นครอบครัว พวกเขาทำกับข้าวด้วยกัน กินด้วยกัน อยู่ด้วยกันเหมือนหอพัก ร่างทรงผู้นำบางคนถึงขนาดที่ดูแลพ่อแม่ของผู้ช่วยโดยการส่งเงินไปให้ก็มี
อูชิตเต่งหม่อง วัย 52 ปี เริ่มฝึกหัดเป็นร่างทรงทั้งแต่อายุ 23 ปี เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เขาทำหน้าที่บูชาเทพนัตและขอพรเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ผู้คนแปลกหน้า เลี้ยงพ่อแม่และญาติพี่น้อง
"พ่อแม่ของฉันอยากให้ฉันทำงานที่สนามบิน เพราะครอบครัวของเราอยู่ใกล้สนามบิน และทำงานที่นั่น" เขากล่าว อูชิตเต่งหม่องสวมเสื้อสีเหลืองและสวมสร้อยทองเส้นเขื่องหลายเส้น พร้อมกับแหวนมรกต "แต่ฉันไม่อยากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล ฉันบอกพวกเขาว่า เงินเดือนของพวกเขา ไม่พอที่จะซื้อเครื่องสำอางของฉันด้วยซ้ำ!"
เขาบอกว่า เขารู้สึกมีความสุขที่ได้รู้จักและได้ทำงานร่วมกันเพื่อนๆ ร่างทรงที่เป็นชาวเกย์ ซึ่งพวกเขาก็ได้ใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน "อยู่กับพวกเขา ฉันไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง"
ร่างทรงที่เป็นชาวเกย์เกิดขึ้นในพม่าตั้งแต่ช่วงปี 1960 มาจนกระทั่งช่วงปี 1980 จะพบเห็นร่างทรงที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ด้วยวิถีชีวิตของชาวเกย์นั้นเหมาะสมกับการเป็นร่างทรงจึงทำใหทุกวันนี้มีร่างทรงที่เป็นเกย์มากกว่าผู้หญิง
ในเวลาเดียวกัน ร่างทรงที่เป็นผู้ชายกล่าวว่า ลูกค้าเชื่อว่าร่างทรงที่เป็นร่างผู้ชายมีพลังมากกว่าร่างทรงผู้หญิง เทศกาลทรงเจ้าที่ตองปยง เป็นเทศกาลทรงเจ้าที่ขื้นื่อมากที่สุดในพม่า จะมีการจัดงานในช่วงเดือนสิงหาคมทุกปี 90 เปอร์เซ็นต์ของร่างทรงทั้งหมดที่มาร่วมงานเป็นร่างทรงเกย์ บางคนมีชื่อเสียงในตำบลของตัวเอง บ้างก็มีชื่อเสียงข้ามจังหวัด หรือเป็นที่รู้จักทั่วโลกเลยก็มี
อูชิตเต่งหม่องถือว่าความมีชื่อเสียงของพวกเขาส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาและการเลือกเครื่องแต่งกายของนัต"พวกเรามีชื่อในเรื่องรสนิยมในความงาม" เขากล่าว "เราคิดค้นเสื้อผ้าที่จะทำให้รู้สึกตระการตา"
การบูชาเทพนัตไม่ได้รับความนิยมในสังคมพม่าส่วนใหญ่มากเหมือนอย่างที่เป็นในอดีต แม้แต่ในกลุ่มชาวพุทธ มีหลงเหลือพิธีกรรมและที่ได้รับการพัฒนาแค่รูปแบบเดียว ชาวพุทธรุ่นใหม่ในวันนี้ ส่วนใหญ่ไม่เชื่อในเรื่องวิญญาณ แต่พวกเขาก็ละทิ้งไม่ได้เช่นกัน
"ในยุคของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผมเชื่อในสิ่งที่เป็นจริงและมีเหตุผล ญาติของผมมีทั้งคริสเตียนและชาวพุทธ แต่พวกเขาก็ไม่เชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ แต่เราก็ไม่พูดลบหลู่ เพราะคนเฒ่าคนแก่ของเรายังเชื่อและนับถือวิญญาณอยู่" อ่องจ่อ จากตำบลจ๊อกตะดา วัย 20 ปี กล่าว
ที่บ้านของอูวินหล่าย ผู้ที่ไปเยือนจะเห็นทิ้งบูชาที่ทำจากไม้ไผ่สวยงาม เผยให้เห็นลวดลายแกะสลักรูปนัตทั้ง 37 ตนที่มีแผ่นทองคำเปลวปิดไว้ รอบๆ หิ้งมีของบูชาอย่าง กล้วย มะพร้าว ขนมพื้นบ้าน ดอกกุหลาบหลากสี มีห้องสำหรับวงดนตรีพื้นบ้านพม่า (ซายวาย) โดยมีรูปภาพของอูวินหล่ายในพิธีกรรมต่างๆ ประดับอยู่บนฝาผนัง
ชายวัย 52 ปี เกิดในครอบครัวลูกครึ่งพม่า จีน ในย่างกุ้ง แต่ได้รับการเลี้ยงดูจากลุงของเขาซึ่งเป็นร่างทรงเกย์ เขาหลงใหลในงานของลุงมาก และในตอนนั้นเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ก็เหมือนกับเกิดมาเพื่อสิ่งนี้เช่นกัน ตอนนี้เขาสวมเครื่องแต่งกายที่ประกอบด้วย สายสะพาย ที่คาดศีรษะ และข้อมือข้อเท้าที่ประดับไปด้วยทองคำ เขาทำพิธีพร้อมกับผู้ช่วยอีก 5 คน ซึ่งในบางครั้งก็มีร่างทรงคนอื่นที่เชิญมาด้วย เขาเคยไปทำพิธีที่ประเทศญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสมาแล้ว
เนื่องด้วยในยุคที่ข้างของแพงขึ้น พวกเขาบอกว่า ราคาค่าประกอบพิธีก็สูงขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ล้านจั๊ต ราคาค่าจ้างดนตรีหนึ่งวันอยู่ที่ 150,000 จั๊ต ค่าขออนุญาตทำพิธีในพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 30,000 จั๊ต ค่าขออนุญาตตากสมาคมการละครพม่าอีก 15,000 จั๊ต ค่าผู้ช่วยอีกคนละ 20,000 จั๊ต โดยการทำพิธีในแต่ละครั้งจะมีผู้ช่วยอย่างน้อย 6 ถึง 10 คน
เมื่อรวมๆ กันแล้ว จะให้คุ้มทุนก็ยากเต็มที อูอ่องเมียตข่าน กล่าว แม้คนที่มาร่วมงานจะจ่ายค่าผู้ช่วยแทนหัวหน้าร่างทรงแล้วก็ตาม
"เราต้องเตรียมกล้วย 100 หวี มะพร้าว 37 ลูก ไข่ 100 ฟอง ไก่ 10 ตัว ปลา ดอกไม้ และขนมพื้นบ้าน 5 อย่าง เพื่อถวายเทพนัตทั้ง 37 ตน และเตรียมข้าว แกง และเครื่องดื่มสำหรับแขกด้วย" เขากล่าว โดยบอกว่า ช่วงนี้ แม้แต่คนรวยๆ ก็ยังไม่ค่อยจะอยากทำพิธีเท่าไหร่แล้ว
"ตอนนี้เราเจอสถานการณ์ที่การทำพิธีกำลังลดลง เมื่อก่อนฉันเคยทำพิธีเดือนละ 2 ถึง 3 ครั้ง แต่ตอนนี้เหมือนเดือนละครั้ง"
ผลที่ตามมาก็คือ จะเหลือเฉพาะร่างทรงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเท่านั้นที่จะทำพิธีบูชานัตเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนผู้ช่วยก็ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โกละเมียว ช่างแต่งหน้าที่เปิดร้านเสริมสวยในย่ายดะกงเหนือกล่าว
"ก่อนนี้ เราไม่ต้องขออนุญาตเพื่อทำพิธี" เขากล่าว "เพื่อนของฉันคนหนึ่งต้องเปลี่ยนงาน และทำพิธีกับเพื่อนเป็นบางโอกาสเท่านั้น"
สุดท้ายแล้ว เขาบอกว่า ไม่ว่าใครจะทำงานอะไรเพื่อหาเลี้ยงชีพ มันเป็นเรื่องของการหาวิถีทางเพื่อที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง
"ถ้าคุณเป็นเกย์ ไม่ว่าคุณจะเลือกทำอาชีพไหน คุณก็ยังเป็นเกย์ คุณไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนอื่นที่มองคุณได้" เขากล่าว "ความจริงก็คือ เราทั้งหมดต่างก็ต่อสู้เพื่อการยอมรับและการชื่นชอบจากคนอื่น สำหรับฉัน ฉันชินอยู่กับการอดทนและช่วยเหลือลูกค้าของฉัน และเชิญชวนให้คนมาหาฉันมากขึ้น"
งานร่างทรงเทพนัตนั้นได้ให้ประโยชน์ต่อคนที่ทำงานนี้ตรงที่ ทำให้พวกเขาได้มีสังคมที่สามารถแบ่งปันกันในสิ่งที่พวกเขาสนใจได้ อย่างเรื่องเครื่องสำอางหรือแฟชั่น พวกเขาสามารถอยู่อย่างนี้ตราบใดที่คนพม่ายังมีความเชื่อและบูชาเทพนัตอยู่
ในขณะที่อูอ่องเมียตข่ายและร่างทรงคนอื่นๆ ในย่างกุ้งยังคงเชื่อว่าประเพณีนี้จะไม่สูญหายไป
จาก A spirit refuge
โดย Nandar Aung 23 มิถุนายน 2557
www.mmtimes.com