"สงขลา"จ่อหยุดทำประมง60% พิษข้อหาค้ามนุษย์ฉุดธุรกิจทรุด

"สงขลา"จ่อหยุดทำประมง60% พิษข้อหาค้ามนุษย์ฉุดธุรกิจทรุด

"สงขลา"จ่อหยุดทำประมง60% พิษข้อหาค้ามนุษย์ฉุดธุรกิจทรุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ประกอบการหวั่นปัญหาอันดับค้ามนุษย์ไทยตกต่ำ กระทบธุรกิจประมงไทย คาดเรือประมงสงขลาร้อยละ 60 หยุดทำประมง


นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ โดยปรับลดอันดับประเทศไทยลงไปอยู่ในบัญชีระดับต่ำสุด จะส่งผลกระทบกับเรือประมงไทยโดยตรง และอาจส่งผลให้แรงงานประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าวมากถึงร้อยละ 95 ไม่กล้าเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ทั้งนี้ คาดว่าเรือประมงร้อยละ 60 จะหยุดทำการประมงเนื่องจากไม่มีแรงงาน ทางสมาคมจึงเตรียมประชุมเจ้าของเรือที่เป็นสมาชิกประมาณ 800 ลำ มีลูกเรือประมาณ 17,000 คน เพื่อให้รับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมทั้งขอความร่วมมือไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นอันขาด และต้องช่วยกันสอดส่องการค้ามนุษย์ในเรือประมงด้วย

"สมาคมให้ความสำคัญกับการค้ามนุษย์ในเรือประมงมาตลอด และเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการค้ามนุษย์และการทรมานแรงงานต่างด้าวตามภาพข่าวและรายงานของสหรัฐ แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกาโดยตรง"

นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) กล่าวว่า ขอให้สหรัฐอเมริกาทบทวนปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าเข้าประเทศสหรัฐ เช่น กุ้ง และอาหารกระป๋อง

อย่างไรก็ตาม ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญปัญหาแรงงาน โดยเร่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน และใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎหมายแรงงานเฉียบขาดเพื่อขจัดขบวนการค้ามนุษย์

ด้านนายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวทยอยกลับประเทศกระทบกับภาคธุรกิจประมงในพื้นที่ 100% เนื่องจากแรงงานประมงเป็นชาวกัมพูชาทั้งหมด นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร แปรรูปไม้ยางพาราอีกด้วย

"ในระยะสั้นต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการเอกชนในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ขณะที่ระยะยาวต้องมีการดึงแรงงานดังกล่าวเข้าสู่ระบบตามกฎหมายให้ชัดเจน โดยส่วนหนึ่งต้องให้เจ้าของคนงานเป็นผู้รับรองเอง" นายวีระพลกล่าว

นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มจับสัตว์น้ำ โรงงานปลาป่น และในอนาคตหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังอาจจะกระทบกับภาคสินค้าเกษตร ฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

"อย่างไรก็ตามตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐใช้ข้อมูลเก่าในการอ้างอิงเรื่องการค้ามนุษย์หรือไม่ เพราะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคใต้ดำเนินการถูกต้องอยู่ในกรอบตามกฎหมายทั้งสิ้น แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก ผู้ประกอบการจะต้องควบคุมอย่างเข้มข้นชัดเจน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook