เกาะเต่าฟันรายได้ท่องเที่ยว6พันล. จี้แก้ปมที่ราชพัสดุยกเกาะ-สาธารณูปโภคโตไม่ทัน

เกาะเต่าฟันรายได้ท่องเที่ยว6พันล. จี้แก้ปมที่ราชพัสดุยกเกาะ-สาธารณูปโภคโตไม่ทัน

เกาะเต่าฟันรายได้ท่องเที่ยว6พันล. จี้แก้ปมที่ราชพัสดุยกเกาะ-สาธารณูปโภคโตไม่ทัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี" โกยรายได้ท่องเที่ยวปีละ 6,000 ล้านบาท แฟรนไชส์สอนดำน้ำระดับโลกแห่เปิดบริการ 45 แห่ง ด้านนายกเล็กเกาะเต่าเผยระบบสาธารณูปโภคโตไม่ทันทั้งท่าเทียบเรือ น้ำดิบ ไฟฟ้า ชี้ปัญหาเอกสารสิทธิฉุดรั้งการพัฒนา เหตุเป็นที่ราชพัสดุทั้งเกาะ ขณะที่ราคาที่ดินพุ่งไร่ละ 30 ล้าน

นายสุทธิ ศิลมัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เกาะเต่ามีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันสามารถเดินทางมาได้ตลอดทั้งปี โดยเกาะเต่าเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวนั้น แต่ละรายจะมีทั้งที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมดำน้ำรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ยังเป็นคนในท้องถิ่นประมาณ 60-70%

อย่างไรก็ตาม ความเติบโตของการท่องเที่ยวเกาะเต่ายังมีข้อจำกัดในหลายด้าน อาทิ ท่าเทียบเรือที่มีอยู่จำกัดและค่อนข้างแออัด ไม่เพียงพอในช่วงไฮซีซั่น แหล่งน้ำดิบ ไฟฟ้า ประปา มีปริมาณที่จำกัดเช่นกัน และด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะเต่าขยายตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติของเกาะเต่ายังสวยงามมาจนทุกวันนี้ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นชาวต่างชาติมากถึง 60-70%

นายไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการท่องเที่ยวของเกาะเต่ามีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยว 90% เดินทางเข้ามาเพื่อดำน้ำสกูบ้าไดวิ่ง

ปัจจุบันเกาะเต่ามีห้องพัก โรงแรม เกสต์เฮาส์ และบ้านเช่า 128 แห่ง รวมกว่า 4,000 ห้อง มีโรงเรียนหรือสถาบันสอนดำน้ำ 45 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแฟรนไชส์มากกว่าสถาบัน ซึ่งผู้ที่ได้รับไลเซนส์จากสถาบันสอนดำน้ำชื่อดังระดับโลกจะมาประกอบธุรกิจสอนดำน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่ท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะเต่าได้ ขณะที่ท้องถิ่นต้องดูแลปกป้องทรัพยากรของประเทศ

นอกจากนั้น เกาะเต่ายังเป็นแหล่งผลิตนักดำน้ำมากที่สุดในโลก สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือ ความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง และทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลที่สวยงาม รองลงมาคือราคาค่อนข้างถูก เริ่มต้นเพียง 8,000 บาทเท่านั้น

นายไชยันต์กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญของเกาะเต่าคือ ปัญหาเอกสารสิทธิ เพราะเกาะเต่าทั้งเกาะเป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ การครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องเช่าจากกรมธนารักษ์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการเช่าเพียง 10% เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่มานานกว่า 30 ปี ไม่ยอมรับว่าเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งยังไม่มีทางออกในเรื่องนี้ ดังนั้นการซื้อขายที่ดินบนเกาะเต่ามีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งการเปลี่ยนมือที่ดินมีมากขึ้น ราคาซื้อขายไร่ละประมาณ 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ เกาะเต่ามีงบประมาณประจำปีเพียง 23 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ มีงบฯลงทุนเพียง 4-6 ล้านบาทเท่านั้น ไฟฟ้า ประปา ไม่เพียงพอสำหรับการท่องเที่ยวที่นี่ ทำให้เกาะเต่ามีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวสูงกว่าที่อื่น เช่น น้ำประปา ราคา 300 บาทต่อ ลบ.ม. ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตเพียง 4.6 เมกะวัตต์ แต่มีการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 7 เมกะวัตต์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องลงทุนซื้อเครื่องปั่นไฟไว้ใช้เอง และมีไฟฟ้าเอกชนขายในราคาหน่วยละกว่า 30 บาท

"การท่องเที่ยวเกาะเต่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ภาครัฐไม่สามารถรองรับหรือตามทันการเติบโตในทุกมิติ อยากให้รัฐเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่เข้ามาครอบงำที่สำคัญเป็นพื้นที่ขนาดเล็กและห่างไกล แต่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง จึงอยากเห็นโมเดลที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม" นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่ากล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook