ไทยหอบ 2 แสนล้านบุกสิงคโปร์ ชี้ "กฎหมาย-ภาษี" เอื้อลงทุน
แกะรอยธุรกิจไทยแห่ใช้สิงคโปร์เป็นฐานเจาะต่างประเทศ ธปท.ระบุยอดเงินลงทุนโดยตรงของไทยในเมืองลอดช่องครองแชมป์เกือบ 2 แสนล้าน แห่ตั้ง "โฮลดิ้งคอมปะนี" ลงทุนต่อประเทศที่ 3 ที่ปรึกษาการเงินชี้ระบบกฎหมาย-ภาษี เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจข้ามชาติ ทั้งเป็นช่องทางบริหารเงิน "กันกุล" เผยตั้งบริษัทลูกในสิงคโปร์ลงทุนในเมียนมาร์คล่องตัว-ต้นทุนภาษีต่ำกว่า
เงินลงทุนในสิงคโปร์อันดับ 1
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากข้อมูลยอดคงค้างการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (TDI) ล่าสุด ณ ปี 2012 พบว่า สิงคโปร์มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วน 13% หรือคิดเป็นวงเงินลงทุนที่ 6,354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท จากยอดคงค้าง TDI ทั้งหมด 48,459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 คือ เกาะเคย์แมน 5,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11%) ฮ่องกง 4,618 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10%) จีน 4,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8%) และมาเลเซีย 2,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5%)
ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังปี 2010 ภายหลัง ธปท.ยกเลิกวงเงินการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนิติบุคคล ทำให้ในปี 2012 การลงทุนรวมของไทยที่ไปต่างประเทศมีมูลค่ามากที่สุด 12,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศขนาดใหญ่หลายราย โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจขายส่งและขายปลีก ธุรกิจการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจเคมีภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผ่านบริษัทโฮลดิ้งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน อาทิ สิงคโปร์และฮ่องกง และประเทศที่เป็น Tax Haven (เช่น หมู่เกาะเคย์แมน) โดยวัตถุประสงค์หลักของการออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาคือเพื่อแสวงหาตลาดและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ ขณะที่การออกไปลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เพื่อแสวงหาแบรนด์และเทคโนโลยี
หากดูเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของไทยที่ออกไปประเทศสิงคโปร์พบว่ามีสัดส่วนที่สูงมาก โดยปี 2010 อยู่ที่ 2,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 28% ของการลงทุน TDI ทั้งหมด โดยปี 2011 อยู่ที่ 1,266.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2012 อยู่ที่ 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยึดสิงคโปร์ลงทุนประเทศที่ 3
นางรุ่งกล่าวว่า ไม่สามารถระบุได้ชัดว่ากิจการประเภทใดของไทยที่ไปลงทุนในสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเพราะ TDI จำนวนหนึ่งอยู่ในรูปของโฮลดิ้งคอมปะนี เพื่อไปลงทุนต่อ ซึ่งไม่ทราบว่าท้ายที่สุดไปลงทุนในกิจการประเภทใดกันแน่ อย่างไรก็ดี พออนุมานได้ว่าธุรกิจไทยมักใช้ประเทศสิงคโปร์เป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม โดยเท่าที่มีข้อมูลพบว่าประเภทกิจการที่ไปลงทุนต่างประเทศ มีทั้งหมวดการผลิต โดยเฉพาะการผลิตถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ รวมไปถึงหมวดผลิตภัณฑ์เหมืองแร่และถ่านหิน กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย ซึ่งจะเห็นว่าหลายส่วนไม่ใช่ประเภทกิจการที่ประเทศสิงคโปร์มีข้อได้เปรียบในเชิงทรัพยากร
สำหรับไตรมาสแรกของปี 2557 แนวโน้ม TDI ที่ไปยังประเทศสิงคโปร์ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งในแง่มูลค่าและสัดส่วนของ TDI ทั้งหมด
นางรุ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าวเป็นเงินลงทุนโดยตรงจากบริษัทไทยไปลงทุนในสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงมีเงินลงทุนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ออกไปในรูป TDI เพราะส่วนใหญ่การไปลงทุนต่างประเทศ แม้มีบริษัทแม่อยู่ในไทยก็ตาม แต่การใส่เงินลงทุนในประเทศต่าง ๆ ก็สามารถนำเงินจากบริษัทลูกในประเทศนั้น ๆ ไปลงทุนได้เลย ซึ่งหากรวมเงินจำนวนนี้เชื่อว่าการลงทุนในสิงคโปร์ยังถือเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมอยู่สำหรับไทย
"สำหรับปี 2013 มูลค่า TDI อยู่ที่ 6,644 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูไม่มากเท่าปี 2012 ทั้งที่มีข่าวว่าผู้ประกอบการไทยไปซื้อกิจการใหญ่หลายแห่งในต่างประเทศ สาเหตุเพราะการซื้อกิจการดังกล่าวทำผ่านบริษัทโฮลดิ้งในต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ทำให้มีข้อจำกัดในการเก็บข้อมูล ดังนั้นสินทรัพย์ของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศจะมากกว่าข้อมูล TDI ที่ปรากฏ"
ชี้ระบบ "กฎหมาย-ภาษี" เอื้อ
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาในแง่กฎหมายและระบบภาษีของประเทศไทยที่ไม่เอื้อต่อการขยายธุรกิจต่างประเทศ ทำให้บริษัทคนไทยไปตั้งสำนักงานที่สิงคโปร์จำนวนมาก เพื่อใช้เป็นฐานที่จะไปลงทุนต่อในประเทศอื่น ๆ ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากไทยไปสิงคโปร์สูงมาก แม้ว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็มีการผ่อนปรนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญก็สู้เรื่องประโยชน์ทางภาษีไม่ได้ เพราะภาษีนิติบุคคลของสิงคโปร์ต่ำกว่าของไทย รวมทั้งระบบภาษีที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องมาพิจารณาในแง่ของการปฏิรูปกฎหมายและภาษีของประเทศเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะกรณีนี้ก็ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากการที่บริษัทไทยขยายการลงทุนต่างประเทศ
ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอสเซท พลัส กล่าวว่า บริษัทไทยออกไปตั้งสำนักงานในสิงคโปร์เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์การเงินโลก นอกจากนี้ระบบกฎหมายที่เป็นสากล เป็นอิงลิชลอว์ ซึ่งกฎหมายไทยไม่ใช่ รวมทั้งในแง่ของระบบภาษีที่มีความได้เปรียบไทย ทำให้ต้นทุนดำเนินการลดลง
ดังนั้นคนไทยที่จะทำธุรกิจข้ามชาติส่วนใหญ่ก็จะเลือกตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ เพื่อเป็นฐานในการที่จะไปลงทุนประเทศอื่น ๆ ต่อ รวมถึงประเทศที่เป็น Tax Haven มีภาษีนิติบุคคล 0% ก็จะมีบริษัทไทยไปจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี
นายก้องเกียรติยอมรับว่า ในกรณีนี้ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์เพราะไม่ได้มีการนำเงินเข้าประเทศ แต่ก็เป็นวิธีบริหารเงินของบริษัทเอกชน
"ถ้าใครจะค้าขายกับเมืองนอก ก็ต้องทิ้งเงินไว้เมืองนอกเป็นตัวหมุนเวียนอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องชัดเจน อย่างเช่น ปตท. ต้องจ่ายค่าน้ำมันค่าแก๊สเป็นดอลลาร์ ก็ต้องทิ้งเงินไว้ออฟชอร์ ใครจะเอาเข้ามา หรือบริษัทที่ได้บีโอไอ บริษัทส่งออกทั้งหลายก็ต้องมีแอ็กเคานต์ต่างประเทศ" นายก้องเกียรติกล่าวและว่าในส่วนของแอสเซท พลัสซึ่งเป็นที่ปรึกษาการลงทุน กรณีที่มีลูกค้าที่ต้องไปลงทุนต่างประเทศบริษัทก็แนะนำให้ตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ฮ่องกงเช่นกัน เพราะจะเป็นประโยชน์ของบริษัทและช่วยให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ คล่องตัวมากขึ้น อย่างล่าสุดแอสเซท พลัสเข้าไปลงทุนในบริษัทไวน์ คอนเนคชั่นของคนไทย ซึ่งมีแผนขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ก็ได้ดำเนินการตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ฮ่องกงเช่นกัน เพราะกองทุน ตปท.ที่เข้ามาร่วมลงทุนไม่ต้องการเข้ามาทำธุรกรรมในประเทศไทย
"กันกุล" ตั้ง 2 บริษัทในสิงคโปร์
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีบริษัทย่อยที่จัดตั้งในต่างประเทศเพื่อเป็นอินเวสต์เมนต์โฮลดิ้งคอมปะนี เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศ 3 บริษัท ได้แก่ 1.Gunkul International (Mauritius) ตั้งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐมอริเชียส 2.Gunkul International (Singapore) และ 3.Gunkul Myanmar Power (Hlawga) อยู่ที่สิงคโปร์ เพราะมองว่าประเทศสิงคโปร์เหมาะสมสำหรับในการตั้งบริษัทย่อยเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศมาก เนื่องจากมาตรการและกฎหมายที่สะดวกและรวดเร็ว ขณะที่ขั้นตอนการเก็บภาษีซ้อนของประเทศสิงคโปร์และพม่าก็มีหลายอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งอาจส่งผลทำให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการตั้งบริษัทในประเทศไทย และช่วยให้บริษัทมีการวางแผนการลงทุนในต่างประเทศที่สะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไทยจะมีการออกเกณฑ์สนับสนุนให้สิทธิด้านภาษีแก่บริษัทที่ต้องการเปิดสำนักงานสาขาประจำภูมิภาคในไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
ชี้ดีล รร.สิงคโปร์-ไทยครึกครื้น
ขณะที่นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่บริษัทในเครือไอร่า คือ บริษัท ไอร่า อินเตอร์เนชั่นแนล แอดไวซอรี่ (สิงคโปร์) ซึ่งประกอบธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน การควบรวมและการซื้อขายกิจการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการลงทุนในสิงคโปร์ พบว่าดีลการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทไทยกับสิงคโปร์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยธุรกิจที่บริษัทไทยสนใจเข้าไปลงทุนทั้งในสิงคโปร์และในแถบเอเชีย คือ ธุรกิจโรงแรม รวมถึงธุรกิจอาหาร ก็อยู่ในกระแสความต้องการเช่นกัน
"นักลงทุนไทยสนใจสิงคโปร์เพราะเป็นประเทศที่มีความโปร่งใส และไม่เฉพาะแค่ดีลการซื้อกิจการเท่านั้น การนำเงินออกไปพักก็มีเช่นกัน เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น" นายไพโรจน์กล่าว