จาก "องค์การสะพานปลา" ถึง "แลนด์มาร์ค" 3 หมื่นล้าน "เตชะอุบล"

จาก "องค์การสะพานปลา" ถึง "แลนด์มาร์ค" 3 หมื่นล้าน "เตชะอุบล"

จาก "องค์การสะพานปลา" ถึง "แลนด์มาร์ค" 3 หมื่นล้าน "เตชะอุบล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน ที่ดินทำเลทองบนเนื้อที่ 36 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาบนถนนเจริญกรุง ติดกับโรงแรมชาเทรียมของ "ตระกูลโสภณพนิช" ได้ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ใต้ปีกกลุ่ม "ตระกูลเตชะอุบล"

หลังได้สิทธิ์ เช่าจัดหาประโยชน์ระยะยาว 75 ปีจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2549 พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ยักษ์มูลค่า 29,000 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ "แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์" ในปัจจุบัน

ย้อนรอยสำหรับที่ดินแปลง นี้เคยเป็นที่ตั้งของ "องค์การสะพานปลา" รัฐวิสาหกิจเก่าแก่อายุกว่า 60 ปีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินฯเป็นระยะเวลา 30 ปี ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานและตลาดซื้อขายปลา

ก่อนจะถูก "สำนักงานทรัพย์สินฯ" บอกเลิกสัญญาเช่าและให้ "บริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด" บริษัทในเครือของคันทรี่กรุ๊ปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ "เสี่ยไมด์-สดาวุธ เตชะอุบล" มาพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้

โดยรูปแบบโครงการเดิม ณ เวลานั้น เป้าหมายของ "กลุ่มเตชะอุบล" จะพัฒนาเป็นโรงแรม 6 ดาว และโครงการที่พักอาศัย แต่ยังไม่ตัดสินใจจะเป็นคอนโดมิเนียมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาจจะมีศูนย์การค้ารวมอยู่ด้วย มูลค่าโครงการ 5,000-7,000 ล้านบาท จนมาถึงปัจจุบัน ณ วันที่ได้ฤกษ์ลงเสาเอกวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ารูปแบบโครงการใหญ่ขึ้น ทั้งมูลค่าโครงการที่เพิ่มขึ้นแตะระดับหมื่นล้านบาท และรูปแบบการพัฒนามีเฉพาะคอนโดมิเนียมกับโรงแรม

แต่กว่าโครงการจะมา ถึงวันนี้ มีอุปสรรคจิปาถะต้องสะสาง ไม่ว่าจะรื้อย้ายกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมที่ไม่ยอมออก จนถึงขณะนี้ยังมีเหลือตกค้างอยู่ อีกทั้งยังมีการขออนุญาตก่อสร้างและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การหาพาร์ตเนอร์ร่วมทุน จนมาได้ "กลุ่มทุนจีน" เป็นผู้สนับสนุนหลักทั้งเงินลงทุน 11,600 ล้านบาท และก่อสร้างโครงการให้

รวม ไปถึงความชัดเจนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนน จันทน์-ถนนเจริญนครของ "กทม.-กรุงเทพมหานคร" ที่ตัดผ่านที่ดินของโครงการหายไป 4 ไร่ ทำให้ต้องชะลอ ล่าสุด "กทม." ออกมาย้ำชัดความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างดูริบหรี่ เพราะถูกต่อต้านการเวนคืนที่ดินอย่างหนัก จึงยากที่โครงการเดินหน้าต่อ

"ใช้ เวลา 2-3 ปีกว่าเราจะมาถึงวันนี้ ทั้งเคลียร์ผู้อยู่อาศัยเดิม ขอใบอนุญาตที่ได้แล้วตามมาตรา 39 ทวิ และดูความชัดเจนแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานของ กทม.จนได้ข้อสรุปเราไม่ถูกเวนคืน" นายสดาวุธกล่าวกับประชาชาติธุรกิจ

พร้อม ย้ำชัดว่า...ที่นี่เมื่อโครงการเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้า พระยากว้าง 400 เมตร ที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ มีโรงแรมสมัยใหม่ระดับ 5 ดาว 2 อาคารขนาบข้างกับคอนโดมิเนียมที่สูงถึง 73 ชั้น

ด้าน "เบน เตชะอุบล" ลูกชายคนโตของเสี่ยไมด์รับไม้ต่อธุรกิจในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเม้นท์กล่าวว่า บริษัทเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินฯระยะเวลา 25 ปี มีโอกาสต่อ ได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25 ปี รวม 75 ปี จะเริ่มนับสัญญาหลังจากก่อสร้างแล้ว โดยร่วมทุนกับบริษัทรับเหมาจากประเทศจีน คือ บริษัทปักกิ่ง เอ็นจิเนียริ่งคอนสตรักชั่น (BCEG) โดยบริษัทถือหุ้นใหญ่ 70% อีก 30% เป็นของ BCEG

"โครงการมีมูลค่ารวม 29,000 ล้านบาท เป็นโครงการลงทุนใหญ่ที่สุดขณะนี้ ซึ่งกลุ่ม BCEG เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง และหาแหล่งเงินทุนให้โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศจีนจำนวน 11,600 ล้านบาท เรามั่นใจโครงการนี้เพราะทำเลติดแม่น้ำ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้ามาก ตั้งเป้าจะมีทั้งลูกค้าไทย 55% และต่างชาติ 45%"

สำหรับรูปแบบโครงการ "เบน" บอกว่าจะประกอบด้วยคอนโดมิเนียมสูง 73 ชั้น 1 อาคาร และด้านข้างจะเป็นโรงแรม 2 อาคาร จะพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน สำหรับคอนโดฯมี 350 ยูนิต มูลค่าโครงการ 16,000-17,000 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ยกว่า 2 แสนบาทต่อตารางเมตร จะเปิดขายในไตรมาส 4 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีครึ่ง จะแล้วเสร็จในปี 2560

ส่วนจะพลิกฟื้นโครงการจนเป็น "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" อย่างที่ "เสี่ยไมด์" ตั้งใจไว้หรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook