กัดฟันจ่ายค่าแรง 400บาท "ค้าข้าว-ประมง-โรงงาน" เปิดศึกชิงต่างด้าว

กัดฟันจ่ายค่าแรง 400บาท "ค้าข้าว-ประมง-โรงงาน" เปิดศึกชิงต่างด้าว

กัดฟันจ่ายค่าแรง 400บาท "ค้าข้าว-ประมง-โรงงาน" เปิดศึกชิงต่างด้าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอลหม่าน ภาคประมงแก้ไม่ตกคนงานเมียนมาร์ยื่นจดทะเบียน "วันสต็อปเซอร์วิส" ไม่พอความต้องการ ผู้ส่งออกข้าว โรงงานเจอวิกฤต กัดฟันจ่ายค่าจ้าง 400 บาท/วัน หวั่นถึงขั้นเปิดศึกแย่งแรงงานต่างด้าว

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวว่า ในส่วนของแรงงานกัมพูชาที่ทิ้งงานหนีกลับประเทศกว่า 2 แสนคน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การเกษตร และประมงอย่างมากช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ไทยและกัมพูชาได้ประสานงานร่วมกันเพื่อนำแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงาน แต่ยังพบปัญหานายจ้างสับสนเกี่ยวกับขั้นตอนการนำเข้าแรงงาน

ขณะเดียวกัน การเปิดจดทะเบียนระบบวันสต็อปเซอร์วิสของกระทรวงแรงงาน แม้จะแก้ปัญหาขาดแรงงานแรงงานได้ระดับหนึ่ง แต่แนวทางปฏิบัติในระยะแรกซึ่งเป็นระยะเร่งด่วนที่กำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ยื่นขอจดทะเบียนได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยได้เพียงแค่ 60 วัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่สอง กระบวนการพิสูจน์สัญชาติก่อนขึ้นทะเบียนเข้าอยู่ในระบบ และระยะที่สามการ เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านจัดระบบแรงงาน และแก้ไขระเบียบข้อกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค

อย่างกรณีแรงงานต่างด้าวถือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) มายื่นขอใบอนุญาตทำงาน แม้กฎหมายจะกำหนดให้ออกใบอนุญาตทำงานให้สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามารับจ้างทำงานตามแนวชายแดนไทยตามฤดูกาล แต่ในทางปฏิบัติสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอ้างว่าไม่สามารถออกใบอนุญาตทำงานให้ได้ ซึ่งฝ่ายไทยอยู่ระหว่างเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ออกใบอนุญาตแทน เช่นเดียวกับการเปิดให้แรงงานภาคก่อสร้าง อสังหาฯ สามารถโยกย้ายไปทำงานในไซต์ก่อสร้างหลาย ๆโครงการตามลักษณะเฉพาะของธุรกิจโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการแจ้งปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานครั้งละ 1 พันบาทเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สับสนแนวทางปฏิบัติกัมพูชา

นายกิตติ โกสินสกุล นายกสมาคมการประมง จ.ตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้แรงงานกัมพูชายังทยอยกลับเข้ามาทำงานน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดให้ทำพาสปอร์ตที่กรุงพนมเปญ ราคา 4 ดอลลาร์สหรัฐ มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 20 วัน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่รอพาสปอร์ต และต้องดำเนินการผ่านบริษัทจัดหางานในไทยส่งมาให้นายจ้างไทยที่ได้ทำเอ็มโอยูไว้ใน จ.ตราด เช่นเดียวกับที่นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.ตราด ระบุว่า ขณะนี้เกิดความสับสนในหมู่นายจ้างเนื่องจากไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่กัมพูชา ทำให้แรงงานเกือบหมื่นคนในพื้นที่ยังกลับมาทำงานไม่ถึง 50%

"แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงหลังฤดูผลไม้ที่แรงงานจะกลับบ้านอยู่แล้ว แต่ปัญหาขณะนี้คือนายจ้างค่อนข้างสับสนต่อแนวทางและขั้นตอนปฏิบัติเพื่อนำแรงงานกลับเข้ามา"

ถือหนังสือผ่านแดนยังมีปัญหา

ด้าน พ.ท.ซวน สุพอล รองหัวหน้าหน่วยประสานงานชายแดนกัมพูชา-ไทย จุดถาวรบ้านจำเยี่ยม จังหวัดเกาะกง กัมพูชา เปิดเผยว่า รัฐบาลกัมพูชากำหนดให้จังหวัดเกาะกง ไพลิน และบันเตียเมียนเจยออกหนังสือผ่านแดนให้แรงงานได้ภายใน 60 วัน อัตราค่าธรรมเนียม 4 ดอลลาร์สหรัฐ จะเริ่มภายในเดือน ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องเอกสาร โดยเฉพาะหนังสือผ่านแดน ทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ซึ่งจะเร่งเจรจาทำความเข้าใจในระดับจังหวัดของทั้งสองประเทศต่อไป

"ขณะนี้เอกสารสำคัญที่แรงงานต้องนำมาแสดงเมื่อเข้ามาในเขตไทยคือพาสปอร์ต ซึ่งไม่มีปัญหา แต่กรณีไม่มีบอร์เดอร์พาส (หนังสือผ่านแดน) แม้ว่าจะมีบัตรประชาชน กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไทยอนุญาตให้ไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ต้องเร่งหาทางออก เจรจากันในระดับจังหวัดของไทยและกัมพูชา เพราะอาจจะทำให้แรงงานกัมพูชาไม่สามารถกลับเข้าทำงานในไทยได้"

ชลฯ-ระยอง สถานการณ์ดีขึ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวใน จ.ชลบุรี นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้า จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาแรงงานกัมพูชายังกระทบกับภาคธุรกิจในพื้นที่อย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง โรงแรม บ้านจัดสรร อพาร์ตเมนต์ เพราะแรงงานยังทยอยกลับมาน้อย ผู้ประกอบการต้องแก้ปัญหาด้วยการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง หากทำได้โดยเร็วเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติภายใน 1 เดือนนับจากนี้

ขณะที่นายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ระยอง ระบุว่า แม้แรงงานต่างด้าวจะยังกลับมาไม่ครบ แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ซึ่งในระยะสั้นต้องเร่งจัดทำระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย และในระยะยาวต้องคิดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม

ประมงกุมขมับต้องขึ้นค่าแรง

ส่วนนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคประมงยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องเข้ามาพึ่งพาศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส แต่แรงงานที่มาลงทะเบียนก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากนี้ไปคาดว่าจะมีการจ้างงานสูงถึงวันละ 400 บาท/วัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นปี 2558 มีโอกาสที่ราคาอาหารทะเลจะปรับตัวสูงขึ้น 15-20% ซึ่งจะกระทบไปถึงผู้บริโภค ร้านอาหาร โรงแรม และภัตตาคาร

นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าของกิจการ บริษัท นงค์ ก. จำกัด ผู้แปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการประมงทั้งแปรรูปและเรือประมงพาณิชย์แห่เข้าไปดึงตัวแรงงานที่มาลงทะเบียนกับศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์นำร่องในการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว

"หลัง คสช.ประกาศจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แรงงานเมียนมาร์กว่า 20,000 คนไหลกลับประเทศ ทำให้สมาชิกสมาคมกว่า 300 โรงงานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะไม่มีแรงงาน จึงต้องลดกำลังการผลิตลงถึง 50%"

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดระเบียบแรงงานของ คสช. เพราะจะช่วยกู้ภาพลักษณ์การส่งออกไปอเมริกาและยุโรปให้ดีขึ้น แต่ยังมีความกังวลว่าแรงงานเมียนมาร์จะไม่กลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าจะมีการทุ่มค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่า 300 บาท

ขาดแรงงานพ่นพิษส่งออกข้าว

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สอบถามผู้ส่งออกข้าวหลายรายถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต่างให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า ช่วงนี้อยู่ในขั้นวิกฤต หลังแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศ ส่งผลให้การลงข้าวเพื่อขนส่งขึ้นเรือใหญ่ทำได้ไม่เต็มกำลังการผลิตของท่าข้าว

"ที่ผ่านมาเราต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก เพราะงานขนข้าวเป็นงานที่แรงงานไทยไม่ทำ โดยก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จ้างแรงงานต่างด้าววันละ 300 บาทเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ตอนนี้แรงงานต่างด้าวไหลกลับประเทศ เราต้องประกาศขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 350-400 บาท ก็ยังแทบหาคนงานขนข้าวไม่ได้ คงต้องรอสักระยะหนึ่งว่าอัตราค่าจ้างใหม่จะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวไหลกลับมาหรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร ประธานคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (อกนร.) พร้อมด้วยนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า คสช.กำหนดให้สมุทรสาครเป็นจังหวัดต้นแบบในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ที่ลดขั้นตอนและรวบรวมการบริการไว้ในจุดเดียวกัน โดยวันแรก (30 มิ.ย. 2557) มีแรงงานต่างด้าวเข้ารับบริการกว่า 1 พันราย มีผู้ประกอบการเข้ามาดูแลลูกจ้าง 100 กว่าราย จะเปิดศูนย์ในอีก 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล และจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไปโดยค่าบริการในการจดทะเบียน รวมทุกส่วนราชการซึ่งจะเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ คือ1,305 บาท/คน ประกอบด้วยค่าจดทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว 80 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 60 วัน 225 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพไม่เกิน 3 เดือน 500 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook