ตลาดปลาสวยงามไปได้สวย เลี้ยง"แฟนซีคาร์ป"กำไร100%
ตลาด ปลาแฟนซีคาร์ปสายพันธุ์ไทยไปได้สวย เจอาร์ ฟาร์ม ผู้เพาะเลี้ยงรายใหญ่ยันไม่รีบเร่งขยายกำลังผลิตและเครือข่ายในการเลี้ยง แม้จะมีกำไรสูงถึงเท่าตัว เหตุต้องการควบคุมคุณภาพ
นายศักรินทร์ สินทะสุทธิ์ เจ้าของเจอาร์ ฟาร์ม โรงเพาะฟักปลาแฟนซีคาร์ป จ.ราชบุรี และเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2557 เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปสายพันธุ์ไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศยังไปได้ดี แต่ทางฟาร์มจะไม่เพาะฟักลูกปลาแฟนซีคาร์ปและขยายเครือข่ายผู้เลี้ยงปลามากเกินไป เพราะต้องการควบคุมคุณภาพ ปัจจุบันทางฟาร์มมีเครือข่ายในการนำไปเลี้ยงก่อนขาย 200 กว่าไร่ โดยทางฟาร์มจะเพาะฟักลูกปลาแฟนซีคาร์ปจนมีอายุ 45 วัน ขายให้เครือข่ายขนาดความยาวตัวละ 1 นิ้ว ในราคาตัวละ 1 บาท แล้วฟาร์มเครือข่ายจะนำไปเลี้ยงต่ออีกประมาณ 90 วัน ซึ่งจะได้ปลาแฟนซีคาร์ปขนาดความยาว 3-4 นิ้ว ซึ่งเอเย่นต์จะมารับซื้อตัวละ 4-10 บาท แล้วแต่คุณภาพของตัวปลาและสี ว่าสวยงามมากน้อยแค่ไหน
สาเหตุที่ฟาร์มขายลูกปลาแฟนซีคาร์ปที่อายุ 45 วัน เนื่องจากสีสันของลูกปลาจะชัดเจนขึ้น จะมีปลาเหยื่อหรือปลาไม่มีสีสัน เมื่อลูกค้าซื้อไปไม่เกิน 10% ในขณะที่ผู้เพาะฟักบางฟาร์มขายลูกปลาแฟนซีคาร์ปที่อายุ 20 วันก็มี ซึ่งสีสันของลูกปลาจะยังไม่ชัดเจน ทำให้มีปลาเหยื่อเกิดขึ้นมากกว่า 30-40% เกิดความเสียหายต่อลูกค้าที่ซื้อไปเลี้ยงรายได้ตก มีกำไรน้อยลง
"ที่ฟาร์มจะจัดอบรมวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องให้เครือข่าย ซึ่งวิธีการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาช่วงเย็นประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น ค่าอาหารสำหรับปลาแฟนซีคาร์ปตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 90 วันอยู่ที่ 3,000 บาทต่อไร่ 1 ไร่เลี้ยงได้ประมาณ 3,000-5,000 ตัว สามารถสูบน้ำในคลองขึ้นมาเลี้ยงได้ทันที การเลี้ยงในบ่อดินมีจุดดีที่ลูกปลาสามารถหาแร่ธาตุในดินเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและสร้างสีสันปลาให้สวยงามขึ้นด้วยโดยเฉลี่ยแล้วผู้เลี้ยงจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 100% หรือเท่าตัว"
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ทั้งปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาเงินปลาทอง ปลาหมอสีครอสบรีด ปลาแฟนซีคาร์ป ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท เฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี มีผู้เพาะเลี้ยงจำนวนมากถึง 1,700 ราย หรือกว่า 20,000 บ่อ เป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หากมีการพัฒนา
การเลี้ยงตามมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากขณะนี้ที่มีอยู่เพียง 10% ได้ การที่จะเป็นศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามระดับโลกในอนาคตจะมีความเป็นไปได้สูงมากกว่าสิงคโปร์ที่ไม่มีแหล่งเพาะเลี้ยง