แบงก์เปิดศึกชิง6แสนล้าน ประกัน-กองทุนโดดแย่งเงินบอนด์ครบอายุ
จับตาครึ่งปีหลังพันธบัตรระยะยาวครบอายุกว่า 6 แสนล้านไหลเข้าตลาด "ธนาคาร-ประกัน-กองทุน" พาเหรดออกโปรดักต์แย่งเม็ดเงิน แบงก์ถล่มแคมเปญเงินฝากดอกเบี้ยสูงตุนสภาพคล่อง รับสินเชื่อขยายตัวหวังล็อกต้นทุนหวั่นปลายปีดอกเบี้ยขยับ ฟากธุรกิจประกันส่ง "ประกันออมทรัพย์" จ้องกวาดยอดอีก 2.6 แสนล้าน
บอนด์ยาวครบอายุกว่า 6 แสน ล.
นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค. 2557) จะมีพันธบัตรระยะยาวครบกำหนดไถ่ถอนมากถึง 608,573 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 244,399 ล้านบาท พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระยะยาว 183,162 ล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 66,466 ล้านบาท และตราสารหนี้เอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) 114,546 ล้านบาท
เฉพาะเดือน ก.ค.นี้จะมีพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งที่ออกมาเมื่อปี 2552 ครบอายุไถ่ถอนเงินต้นจำนวน 80,000 ล้านบาท ดังนั้นผู้ถือพันธบัตรนี้อยู่ ก็จะมีเงินสดในมือเพิ่มขึ้น และอาจกำลังหาแหล่งออมเงินหรือลงทุนใหม่ ทำให้มีการออกโปรดักต์ใหม่ ๆ มาดูดซับกันค่อนข้างมาก
ขณะที่ในวันที่ 15-25 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นอายุ 7 ปี และ 10 ปี แบบไร้ใบตราสารวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท มาจำหน่ายผ่านธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.25% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือน ก.ค.นี้มีธนาคารพาณิชย์ที่ออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษออกมาค่อนข้างมาก อาทิ ธนาคารกรุงไทย เงินฝากประจำพิเศษ@netbank 44 เดือน ดอกเบี้ย 3.54% ต่อปี9 เดือนดอกเบี้ย 2.70% ต่อปี ธนาคารกสิกรไทยฝาก 14 เดือน ดอกเบี้ย 2.80% ต่อปี ธนาคารกรุงเทพฝาก 11 เดือน ดอกเบี้ย 2.80% ต่อปี เป็นต้น
ยิ่งระดมช้า-ดอกเบี้ยยิ่งแพง
นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัย และธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าช่วงนี้ธนาคารเริ่มแข่งขันออกแคมเปญเงินฝากชุดใหม่กันอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้นไม่เกิน 10 เดือน โดยแข่งขันที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4-2.8% ต่อปี เป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย และเชื่อว่าเทรนด์จากนี้จนถึงปลายปีก็จะยิ่งแข่งขันแรงขึ้น
"ปัจจัยหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องการบริหารฐานเงินฝากเดิม บวกกับสถานการณ์ปัจจุบันที่นโยบายการคลังเริ่มกลับมาทำงานได้ ก็เห็นชัดว่านโยบายการเงินจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง ฉะนั้นก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเป็นขาขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงสินเชื่อในครึ่งปีหลังน่าจะมีทิศทางดีขึ้น ธนาคารต่าง ๆ จึงเร่งระดมเงินฝากกัน เพราะถ้าไม่รีบระดมเงินในจังหวะนี้ ต่างก็กลัวว่าต้นทุนการระดมเงินจะแพงขึ้นในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะไตรมาส 4 จะยิ่งเห็นชัดว่าจะแข่งหนักขึ้นอีก ดอกเบี้ยเงินฝากในบางกลุ่มอาจสู้กันไปถึง 3% ได้" นายกฤษณ์กล่าว
วิ่งหาเงินฝากรับเศรษฐกิจฟื้น
นอกจากการออกแคมเปญเงินฝากพิเศษใหม่ ๆ มาทำตลาด โดยสู้กันที่อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาการฝากเงินแล้ว ในแง่กลยุทธ์การหาเงินก็ขับเคี่ยวกันไม่น้อย โดยนายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการ
ผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปีนี้ทางซีไอเอ็มบีวางกลยุทธ์ให้สายงานบรรษัท ซึ่งดูแลทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี ช่วยรับผิดชอบด้านการหาเงินฝากจากลูกค้าธุรกิจเพิ่มขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระของสาขาที่ปัจจุบันยังมีเครือข่ายค่อนข้างน้อย โดยต้องเร่งหาทั้งเงินฝากเพื่อหมุนเวียนธุรกิจที่ตั้งเป้าเติบโต 40-60% เน้นบริการธุรกรรม พร้อมกับหาเงินฝากจากเจ้าของกิจการ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องแข่งด้วยอัตราดอกเบี้ยเทียบเท่ากับเงินฝากประจำ
"การแข่งขันของเงินฝากลูกค้าบรรษัทในระยะนี้ยังไม่รุนแรงมากนัก อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับปกติ แต่แนวโน้มระยะถัดไปในช่วงปลายไตรมาส 3-4 น่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นบ้าง ธนาคารก็คงจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเพื่อล้อไปกับตลาด" นายจิรัชยุติ์กล่าว
ขณะที่นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า แคมเปญเงินฝากที่ออกกันมากในเวลานี้อาจจะมีทั้งส่วนที่ทดแทนเงินฝากเดิมที่ครบกำหนด และทยอยระดมทุนเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีขึ้น
ฉะนั้นการระดมทุนในระยะนี้ก็น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสำหรับล็อกต้นทุนต่ำไว้ก่อน เพราะราวไตรมาส 4/57 หรือต้นปี 2558 ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ธนาคารจะระดมเงินฝากในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก ให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจและสินเชื่อที่ขยายตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม
ยันระดมชดเชยเงินฝากครบดีล
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เงินฝากที่ออกมาเป็นการระดมเงินฝากตามปกติเพื่อชดเชยที่ครบกำหนด ขณะนี้ยังไม่ได้มองว่ามีความจำเป็นต้องรีบตุนเงินเพื่อรองรับสินเชื่อที่จะกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังจากนี้ แม้จะมองว่าครึ่งปีหลังสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพน่าจะขยายตัว 3-5% บนคาดการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัว 4-5% เพราะสภาพคล่องยังอยู่ในระดับเพียงพอ และมองว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะแข่งขันในระดับที่ใกล้เคียงปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี
เช่นเดียวกับนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังสินเชื่อของธนาคารน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกที่สินเชื่อติดลบ แต่ก็มองว่ายังไม่ได้เป็นเหตุให้ธนาคารต้องเร่งระดมเงินฝากมากนัก เพราะสภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่เพียงพอ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากก็ยังอยู่ในกรอบ 92-98%
"เราก็มองอยู่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่เชื่อว่าเรายังพอมีเวลา เพราะถ้าเร่งระดมเงินฝากมาตอนนี้จะกลายเป็นต้นทุนของแบงก์มากเกินไป ส่วนที่เห็นหลายแบงก์ออกเงินฝากใหม่ในระยะนี้ มองว่าระดมมาเพื่อทดแทนส่วนที่ครบดีลมากกว่า" นายปรีดีกล่าว
ครึ่งหลังประกันโกย 2.6 แสน ล.
ฝั่งธุรกิจประกันชีวิตซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการออมเงินระยะยาวและดึงสภาพคล่องออกไปจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งปีหลัง ซึ่งข้อมูลในปี 2556 พบว่า 52% ของเบี้ยรับรวมนั้นเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง หรือคิดเป็นเงินราว 2.28 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับปีนี้ที่สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น 12-14% ก็น่าจะมีเบี้ยในครึ่งปีหลังอีกราว 2.6 แสนล้านบาท
ช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นบริษัทประกันชีวิตและธนาคารซึ่งเป็นช่องทางขาย ทยอยออกสินค้าใหม่มารองรับตลาดช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน อาทิ ธนาคารกสิกรไทย-บมจ.เมืองไทยประกันชีวิตเปิดตัว "ประกันชีวิตออมทรัพย์รับเยอะ" คุ้มครอง 10 ปี จ่ายเบี้ย 5 ปี ให้ผลตอบแทนสูงสุดถึง 3.5% ต่อปี หรือ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตก็ออก "พรีเมียร์ ไลฟ์" ประกันชีวิตออมทรัพย์ที่ตอบโจทย์ได้ทุกช่วงวัย และ บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ก็ออก "i-SAVE" แบบประกันออมทรัพย์ระยะสั้น 7 ปี จ่ายเบี้ยเพียง 4 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 3.28%
ออกกองทุนซับสภาพคล่อง
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับสภาพคล่องจากเงินที่จะไหลออกมาจากพันธบัตรไทยเข้มแข็ง ซึ่งกำลังจะหมดอายุในเดือน ก.ค.นี้ โดยจะมีการโปรโมตกองทุนตราสารหนี้ที่กำหนดอายุโครงการ (Term Fund) กองเดิมที่มีอายุประมาณ 1-3 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 3.4% ต่อปี รวมถึงจะมีการออก Term Fund กองใหม่ อายุประมาณ 1-2 ปี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนว่าควรจะมีส่วนผสมของตราสารหนี้อายุเท่าไหร่ สัดส่วนอย่างไรบ้าง และในเบื้องต้นกองทุนดังกล่าวควรสร้างผลตอบแทนได้ 3% ขึ้นไป
"เราได้เตรียมพร้อมรองรับเม็ดเงินที่จะไหลจากพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งแล้ว โดยมีทั้ง Term Fund กองเดิมและกองใหม่ที่กำลังจะออกมาเสนอขาย แต่จากการหารือภายในคิดว่าเงินส่วนใหญ่น่าจะเข้าไปอยู่ในแบงก์มากกว่า เพราะช่วงครึ่งปีหลังแบงก์ต่าง ๆ อาจจะต้องแข่งกันระดมทุน เนื่องจากหลายแห่งยังมีความต้องการขยายอัตราการเติบโตของการปล่อยสินเชื่ออยู่" นางชวินดากล่าว