ปล่อยกู้เอสเอ็มอีฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก

ปล่อยกู้เอสเอ็มอีฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก

ปล่อยกู้เอสเอ็มอีฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บสย.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอี โดย คสช.รับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก 926 ล้านบาท คาดมีสินเชื่ออกสู่ระบบนับแสนล้านบาท

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วยประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แถลง “แผนปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” มาตรการฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อในปีแรกให้เอสเอ็มอี ผ่านโครงการ PGS 5  โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระชำระค่าธรรมเนียม ค้ำประกันแทนเอสเอ็มอี ปีแรกวงเงิน 926 ล้านบาท  โดยเปิดให้ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือจนครบวงเงินค้ำประกัน 55,000 ล้านบาท คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เม็ดเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าของวงเงินค้ำประกัน หรือเป็นสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 500,000 ล้านบาท

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์เริ่มให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยได้ดีอีกทางหนึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่วงเงินร้อยล้านพันล้านบาท มีการแข่งขันค่อนข้างสูง จึงได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยต่ำลง แต่ยอมรับว่าเอสเอ็มอีมีระบบบัญชี งบการเงินที่ยังไม่มีมาตรฐาน ธนาคารจึงต้องมีแผนวัดผลดำเนินการและดูแลเอสเอ็มอีให้มากขึ้น โดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ประมาณ  2-3 ล้านราย จากเดิมเข้าถึงสินเชื่อเพียง 700,000-800,000 ราย ยอมรับว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเริ่มดีขึ้น ประชาชน นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น การลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มเดินหน้าจากงบประมาณปี 2558 จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 4-4.5 ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ร้อยละ 8-10 คาดว่าทั้งปี จีดีพีจะเติบโตร้อยละ 2.5-3 ทำให้สินเชื่อปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้น              

นายธัชพล กาญจนกูล ประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กล่าวว่า แบงก์รัฐร่วมขับเคลื่อนเอสเอ็มอี เพราะเป็นวาระแห่งชาติ จากที่ผ่านมาธนาคารออมสิน ลงนามไปแล้วกับ 6 พันธมิตรในการช่วยเหลือคัดกรองเอสเอ็มอี เพื่อส่งมาให้พิจารณาสินเชื่อในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจากเอสเอ็มอีในระบบมีกว่า 2.9 ล้านราย  และพบว่า 2.3 ล้านรายเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีสัดส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตถึงร้อยละ 37 หากเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นจะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากกว่าร้อยละ 40 มีความสำคัญเหมือนกับหลายสาขาเงินทุนซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินมีมาตรการสนับสนุนผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ ซึ่งขณะนี้มีทยอยเข้ามากู้ 2,000-3,000 รายแล้ว และเดือนหน้าจะเร่งเดินหน้าโครงการเต็มที่.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook