"คสช." ปลดแอกหนี้รถไฟแสนล้าน โละที่ดิน "มักกะสัน-แม่น้ำ" ล้างขาดทุน

"คสช." ปลดแอกหนี้รถไฟแสนล้าน โละที่ดิน "มักกะสัน-แม่น้ำ" ล้างขาดทุน

"คสช." ปลดแอกหนี้รถไฟแสนล้าน โละที่ดิน "มักกะสัน-แม่น้ำ" ล้างขาดทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาระหนี้ล้นพ้นตัวร่วม 109,317 ล้านบาท ทำให้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ต้องเร่งฟื้นฟูองค์กรแบบเร่งด่วน โดยยอดขาดทุนสะสมแยกเป็นหนี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 13,950 ล้านบาท รถจักรและล้อเลื่อน 11,856 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 33,229 ล้านบาท และขาดทุนจากการดำเนินงานมากถึง 50,280 ล้านบาท

2 ทางเลือกปฏิรูป-แปรรูป

โจทย์ใหญ่ปลดแอกภาระหนี้ เป็นสิ่งที่ "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" และประธานบอร์ดใหม่ "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" ต้อง "ปฏิรูป" แน่ แต่จะถึงกับ "แปรรูป" หรือไม่ ต้องรอดูแนวคิดปรับโครงสร้างหนี้การรถไฟฯมีมาทุกยุคสมัย ครั้งใหญ่ ๆ ก็มีในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ในปี 2553 ที่อนุมัติโครงสร้างใหม่ แยกเป็น 3 หน่วยธุรกิจ คือ หน่วยเดินรถ หน่วยซ่อมบำรุง และหน่วยบริหารทรัพย์สิน

พ่วงบริษัทลูก "บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด" มาบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมอนุมัติเงินลงทุน 176,000 ล้านบาท สำหรับปรับโครงสร้างกิจการใหม่ระยะเร่งด่วน 5 ปี (2553-2557) แต่ในทางปฏิบัติจริงยังไปไม่ถึงไหน เพราะ "ร.ฟ.ท." ยังทำงานสไตล์เดิม ๆ จน "สตง.-สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" ไม่กล้ารับรองบัญชี


โมเดลแก้หนี้ฉบับ ม.เกษตรฯ

ปี 2556 "ร.ฟ.ท." ทุ่มเงิน 40 ล้านบาท จ้าง ม.เกษตรศาสตร์ ศึกษาวางกรอบขับเคลื่อนองค์กรใหม่ โดยภาพรวมที่ออกมาทุกอย่างยังคงอยู่ภายใต้ปีก "ร.ฟ.ท." แต่จะเขย่าโครงสร้างธุรกิจ 3 หน่วยให้ชัดเจน

ส่วนการปลดภาระหนี้แสนล้านบาท มีข้อเสนอให้รัฐบาลรับภาระหนี้ด้านโครงสร้างพื้นฐานกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่เหลืออีก 7-8 หมี่นล้านบาท เสนอให้นำที่ดินทั่วประเทศ 234,976 ไร่ มาสร้างรายได้เพิ่ม

โฟกัสเฉพาะแปลงเด็ดทำเลใจกลางเมือง 3 แปลงใหญ่ มูลค่าที่ดินเฉียดแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นย่านมักกะสันกว่า 512 ไร่ พหลโยธิน 1,070 ไร่ และสถานีแม่น้ำกว่า 277 ไร่ โดยนำที่ดินบางแปลงให้กระทรวงการคลังพัฒนาเพื่อแลกหนี้ หาก "ร.ฟ.ท." เดินไปตามโมเดลนี้ คาดว่า 10 ปีหรือภายในปี 2563 จะพลิกฟื้นผลประกอบการจากตัวแดงได้ โดยเฉพาะหนี้จากค่าบำนาญที่ ร.ฟ.ท.รับภาระเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท ไปจนถึงปี 2590 คาดว่าจะต้องรับภาระ 4-5 หมื่นล้านบาท สำหรับแผนรายได้ ม.เกษตรศาสตร์ระบุว่า ในปี 2563 "ร.ฟ.ท."จะมีรายได้เพิ่มเกือบ 3 เท่า อยู่ที่ 17,746 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากการขนส่งเชิงพาณิชย์ 38% รายได้จากภาคขนส่งสินค้า 38% และรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 20%

ชงบอร์ดเคาะ 25 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลักการแก้หนี้ของ ร.ฟ.ท. รัฐจะต้องรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานให้ ส่วนการนำที่ดินมักกะสันและแม่น้ำให้กระทรวงการคลังพัฒนา 99 ปี จะต้องรอฟังนโยบายของที่ประชุมบอร์ด เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลและผู้ว่าการคนใหม่ "แผนฟื้นฟูที่จะนำเสนอ คสช.และบอร์ดใหม่พิจารณา จะไม่หนีไปจากโมเดลของ ม.เกษตรศาสตร์มากนัก เพราะการสร้างรายได้เพิ่มด้วยการนำที่ดินมาพัฒนาจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะนำมาเป็นตัวช่วยเรื่องภาระหนี้ได้ดีที่สุดในเวลานี้"ด้าน "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" ประธานบอร์ดการรถไฟฯ กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าจะล้างขาดทุนกว่า 1 แสนล้านบาทได้ คิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้ขาดทุนน้อยลง"การหารายได้เชิงพาณิชย์จะทำเป็นสิ่งแรก ๆ เช่น เลดี้โบกี้ก็การตลาดแบบหนึ่ง รวมถึงสร้างฮับขนส่งสินค้าในเส้นทางรถไฟทางคู่ เพื่อให้เอกชนหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟมากขึ้น นอกจากการพัฒนาที่ดิน ส่วนการนำที่ดินแลกหนี้กับกระทรวงการคลังขอดูรายละเอียดก่อน"

เพราะการรถไฟฯยุคนี้อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นโกลเด้นพีเรียดที่ "ร.ฟ.ท." จะขออนุมัติโครงการ ที่คิดว่ายาก...อาจจะง่ายขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook