กลางกรุง ทำสวนมะนาว ก็รวยได้ง่ายๆ

กลางกรุง ทำสวนมะนาว ก็รวยได้ง่ายๆ

กลางกรุง ทำสวนมะนาว ก็รวยได้ง่ายๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ มะนาว จะมีรสชาติเปรี้ยวจนเข็ดฟัน แต่ฉันก็ขาดเธอไม่ได้ เพราะมะนาวเป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยปรุงแต่งรสชาติอาหารให้มีรสชาติอร่อย หอมยิ่งขึ้น แถมยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยเพิ่มวิตามินซี ต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้ มะนาว จึงเป็นพืชสำคัญประจำครัวของคนไทยทั่วประเทศ ทุกวันนี้มีเอกชนหัวใสผลิตมะนาวคั้นน้ำบรรจุขวด มะนาวแปรรูป ชนิดน้ำและแบบผงวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป มากมายหลายยี่ห้อ โกยรายได้มหาศาลในแต่ละปี

ในฉบับนี้ ผู้เขียนขอพาท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมชีวิตชาวสวนมะนาวกลางกรุง แถวย่านฝั่งธนบุรีกันดูบ้าง เกษตรกรรายนี้ ประสบความสำเร็จในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ มีแปลงปลูกมะนาว ประมาณ 200 ต้น มะนาวทุกต้นติดผลดกมาก ขนาดผลโต เปลือกบาง น้ำมาก มีกลิ่นหอม รสชาติเปรี้ยวมาก เรียกว่าคุณภาพดีคับแก้ว โดนใจผู้ซื้อ


เส้นทางชีวิต

ลุงจำรัส คูหเจริญ เกษตรกรวัย 77 ปี เจ้าของกิจการ “สวนเกษตรธนบุรี” เล่าให้ฟังว่า ผมมีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวสวนในย่านเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เรียกว่า ทำสวนเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว ผมสนใจปลูกกล้วยไม้เป็นอาชีพ ตามคำแนะนำของ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไทย ผมทำสวนกล้วยไม้ได้ประมาณ 8 ปี ก็สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นได้ ช่วงประมาณปี 2506 ผมไปเรียนอยู่ประมาณ 5 ปีครึ่ง เรียนต่อด้านวิศวะ ควบคู่กับสาขาการเกษตร หลังจากเรียนจบกลับมาก็เรียนต่อด้านพืชสวนและส่งเสริมการเกษตร ต่อมารับราชการที่กรมไปรษณีย์ ในตำแหน่งนายช่าง ตรี โท และเอก ตามลำดับ จนกระทั่งกรมไปรษณีย์ปรับโครงสร้างเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ผมรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองเคเบิ้ลใต้น้ำ การสื่อสารแห่งประเทศไทย เรื่อยมาจนครบเกษียณอายุ
จุดเริ่มต้น ทำสวนมะนาว

ลุงจำรัส เล่าว่า หลังเกษียณอายุราชการ ผมหันกลับมาทำสวนอีกครั้ง ที่บ้านในเขตภาษีเจริญ โดยปลูกมะม่วง ส้มโอ ขนุน ไว้หน้าบ้าน ปรากฏว่าเจอโดนเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนน จำนวน 5 ไร่ เหลือที่ดินเพียง 2 ไร่ ก็หันมาปลูกโป๊ยเซียนระยะหนึ่ง ก่อนเลิกและหันมาลงทุนปลูกมะนาวอย่างจริงจัง ผมสนใจปรับปรุงพัฒนาพันธุ์มะนาวที่มีความต้านทานโรคแคงเกอร์ จนได้มะนาวพันธุ์ใหม่ เรียกว่า มะนาวพันธุ์จำรัส 9 (จ.9) ซึ่งเป็นมะนาวลูกผสมระหว่างแป้นพวง (พันธุ์แม่) ผสมกับมะนาวน้ำหอม (ด่านเกวียน) ซึ่งให้ลูกดก ผลโต น้ำมาก น้ำเนื้อกลิ่นเหมือนมะนาวแป้น เปลือกบาง น้ำหนักผล 70-100 กรัม การเจริญเติบโตของต้นดี ใบใหญ่และต้านทานโรคดีมาก

“หลังจากนำเกสรมะนาวแป้นพวงมาผสมกับเกสรตัวผู้ของมะนาวด่านเกวียนแล้ว ใช้เมล็ดเพาะอีก 1 ปีครึ่ง ผลผลิตในรุ่นแรก คุณภาพใช้ไม่ได้ เพราะสายพันธุ์ยังไม่นิ่ง ต้องผสมซ้ำอีก 10 ครั้ง ใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 7 ปี จนได้มะนาวพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะเด่น คือผลใหญ่ เปลือกบาง น้ำมาก แม้กลิ่นไม่หอม แต่สามารถต้านทานโรคแคงเกอร์ได้ดีและมีผลดกประมาณ 500-600 ลูก ต่อต้น” ลุงจำรัส กล่าว

จากนั้น ลุงจำรัสได้ต่อยอดปรับปรุงพันธุ์มะนาวขึ้นมาใหม่ 2 สายพันธุ์ ที่มีลักษณะเด่นคือ ให้ลูกดก ผลโต และน้ำมาก ตั้งชื่อว่า มะนาวพันธุ์จำรัส 28 และจำรัส 29 ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์ขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรกับหน่วยงานภาครัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ลุงจำรัส กล่าวว่า มะนาวจำรัส 28 เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์มะนาวจำรัส 9 (พันธุ์แม่) และใช้มะนาวแป้นจริยา เบอร์ 1 มาผสม เมื่อเพาะเมล็ดจนเป็นต้นแล้ว ได้ออกดอกให้ผลเมื่อต้นยังเล็ก ผลโตมาก ทรงผลแบน แบบมะนาวแป้นทั่วไป น้ำเนื้อกลิ่นเหมือนมะนาวแป้นทุกอย่าง เปลือกบาง น้ำมาก ผลที่เจริญเติบโตเพียง 2 เดือน ก็มีน้ำมากแล้ว ออกดอกง่ายมาก ไม่ต้องบังคับก็ออกดอกได้ทั้งปี การเจริญเติบโตของต้นและการต้านทานโรคดีมาก

ส่วน มะนาวจำรัส 29 เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์มะนาวจำรัส 9 (พันธุ์แม่) และใช้ส้มโชกุนเป็นพ่อ เมื่อได้เพาะเมล็ดขึ้นมาเป็นต้นแล้วจะออกดอกและให้ผลเมื่อต้นยังเล็ก ผลโตมาก ลักษณะผลแบนเหมือนมะนาวแป้นทั่วไป เปลือกบาง น้ำมาก  ให้ผลผลิตดก มีกลิ่นหอม รสชาติเปรี้ยวมากกว่ามะนาวแป้นธรรมดา 1% ลุงจำรัส ได้นำมะนาวพันธุ์ใหม่ไปขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ และขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กับหน่วยงานส่งเสริมและปกป้องพันธุ์พืช เมื่อ ปี 2553 จนได้รับการจดรับรองสิทธิบัตรพันธุ์มะนาวอย่างเป็นทางการ เมื่อ ปี 2556

“ลักษณะเด่นของมะนาวทั้งสองสายพันธุ์แยกได้ง่ายมาก มะนาวจำรัส 28 ลักษณะหนามสั้น ส่วนมะนาวจำรัส 29 ลักษณะหนามยาว จุดเด่นของมะนาวทั้งสองสายพันธุ์แตกต่างกันแค่หนาม ส่วนผลผลิตไม่ต่างกัน เพราะมีผลโต เปลือกบาง น้ำมาก ให้ผลผลิตดก รสชาติเปรี้ยวจัด และมีกลิ่นหอมเหมือนกัน” ลุงจำรัส กล่าว

เทคนิคขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีปักชำ

โดยทั่วไป เกษตรกรมักนิยมขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีการตอนกิ่ง แต่ที่นี่แปลกไม่เหมือนใคร เพราะใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการปักชำ ที่ได้ผลดีอย่างน่าประหลาดใจ เพราะมองไปรอบๆ สวน เห็นต้นมะนาวต้นเล็กๆ ที่มีดอกมะนาวบานอยู่เต็มต้น กำลังติดเป็นผลมะนาวลูกเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด ทั้งๆ ต้นมะนาวเหล่านี้ เป็นมะนาวต้นเล็ก อายุยังไม่มาก แต่ให้ผลผลิตได้เร็วมาก

ลุงจำรัส บอกว่า หากใช้เทคนิคตอนกิ่ง จะตอนกิ่งได้แค่ วันละ 200 กิ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้แรงงานจำนวนมาก แถมยังต้องใช้ตอส้ม ตอมะขวิด มาเสียบยอดอีกด้วย ลุงจำรัสจึงเลือกขยายพันธุ์โดยใช้เทคนิคการปักชำแทน
 
“เคล็ดลับการปักชำอยู่ที่เทคนิคการเลือกกิ่งเพสลาด คือ ไม่แก่ ไม่อ่อน เกินไป มีใบยอดคลี่เต็มที่ มาปักชำ โดยนำกิ่งพันธุ์มะนาวที่คัดเลือกแล้วมาชุบน้ำยาเร่งรากแล้วค่อยนำไปปักชำในวัสดุที่เตรียมเอาไว้ ในกระถางที่มีความลึก ประมาณ 2 นิ้ว โดยทั่วไปกิ่งปักชำจะติดช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับช่วงฤดูกาลด้วย หากเป็นฤดูร้อนจะใช้เวลาประมาณ  2 เดือนกว่า ส่วนฤดูหนาวจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ส่วนหน้าฝน จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สังเกตง่าย หากพบว่า กิ่งปักชำมีการแตกยอดสักคืบหนึ่ง ก็มั่นใจได้ว่า รากเดินดีแล้ว” ลุงจำรัส กล่าว

การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

เมื่อถามถึงเทคนิคการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ลุงจำรัส บอกว่า ผมจะปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ขนาด 80 เซนติเมตร  โดยแต่ละวงบ่อซีเมนต์วางห่างกัน ประมาณ 3 เมตร เพื่อให้สะดวกในการดูแลต้นมะนาว โดยทั่วไป พื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะสามารถปลูกมะนาวได้ จำนวน 135 บ่อ จะใช้เงินลงทุน ประมาณ 50,000 บาท สำหรับเป็นค่าปุ๋ย ค่าต้นพันธุ์มะนาวรวมทั้งค่าวงบ่อซีเมนต์ หลังจากปลูกมะนาวแล้ว ภายใน 1 ปี จะสามารถถอนทุนคืนได้ทั้งหมด เนื่องจากการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถควบคุมน้ำและปุ๋ยได้ดี สามารถผลิตมะนาวนอกฤดูออกขายทำกำไรได้ตามที่ต้องการ ขณะที่การปลูกมะนาวลงดิน แม้จะมีผลผลิตสม่ำเสมอ แต่ยังทำผลกำไรสูงไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถบังคับให้ต้นมะนาวมีผลผลิตออกนอกฤดูได้

เมื่อถามถึงการเตรียมวัสดุปลูก ของสวนแห่งนี้ ลุงจำรัส บอกว่า สวนของผมเลือกใช้ดินเหนียวแห้ง ใส่จนเต็มวงบ่อซีเมนต์ จากนั้นเติมปูนขาวลงไป 1 กำมือ ต่อหลุม รดน้ำตามหนึ่งครั้งพอให้ดินชุ่มชื้น ขุดหลุมลึกประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้นให้นำกิ่งพันธุ์มะนาวที่จัดเตรียมไว้ ปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์ได้เลย และนำไม้ไผ่มาผูกกับต้นมะนาว เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นมะนาวโอนเอนไปมาในช่วงที่มีลมแรง จากนั้นเทแกลบเหลืองโรยหน้าดิน ตามด้วยปุ๋ยคอก คือมูลวัวแห้ง เทให้มีความหนาประมาณ 1 นิ้ว คอยดูแลให้น้ำและใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นมะนาวเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ และให้ผลผลิตภายในระยะเวลา 18 เดือน การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ หากมีการดูแลจัดการที่ดี ต้นมะนาวจะให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี

“การทำสวนมะนาวให้ประสบความสำเร็จ หัวใจหลักอยู่ที่การให้ปุ๋ย เพราะปุ๋ยเป็นอาหารเสริมที่ดี ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตของต้นมะนาว ทั้งทางรากและทางใบ เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันนี้ผมผลิตปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดต้นทุน ใช้ผสมผสานกับปุ๋ย อีเอ็ม ผมใส่ปุ๋ยสลับกันไป จนต้นมะนาวเจริญเติบโตดี ผมจะบังคับให้มะนาวออกดอกก่อน จึงค่อยหยุดการให้ปุ๋ย ประมาณเดือนสิงหาคม เพื่อให้มีผลผลิตออกนอกฤดู” ลุงจำรัส กล่าว

การจัดการปัญหาโรคพืช

ลุงจำรัส บอกว่า การปลูกต้นมะนาวแป้นโดยทั่วไป มักเจอปัญหาหนอนชอนใบ ก็จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงชนิดน้ำ เช่น คาโบซัลแฟน หรือไซเปอร์เมทริน ผสมกับยาจับใบ ฉีดพ่นทุก 3 วัน ขณะที่ฉีดยาควรอยู่เหนือลม และควรมีชุดเครื่องแต่งกายสำหรับป้องกันตนเองด้วย ส่วนโรคพืชอีกชนิดที่ต้นมะนาวมักเป็นกันบ่อยคือ โรคแคงเกอร์ หากสวนไหนเจอปัญหานี้ ผมจะแนะนำให้เพื่อนเกษตรกรลองใช้ยาสเตรปโตมัยซิน ผสมกับยาจับใบ และสารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ ฉีดพ่นทุกๆ 3 วัน หากต้นมะนาวไม่เจอโรคแคงเกอร์ ผมจะแนะนำให้ฉีดพ่นสารคอปเปอร์ผสมกับยาจับใบ ฉีดพ่นเดือนละ 1 ครั้ง เป็นการป้องกันโรคแคงเกอร์และฆ่าเชื้อราไว้ล่วงหน้า เพราะโรคพืชเหล่านี้มักแพร่ระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน ส่วนช่วงฤดูร้อน ไม่ค่อยเจอสักเท่าไหร่
 
ลุงจำรัส กล่าวว่า งานปลูกมะนาว ไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็ทำได้ วันนี้ ลุงจำรัส อายุ 77 ปีแล้ว ยังทำงานในสวนได้อย่างสบาย จึงอยากชักชวนเพื่อนฝูงที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกันมาออกกำลังกายทำสวนเช่นเดียวกับลุงจำรัส นอกจากนี้ เด็กเยาวชนคนใดสนใจอยากปลูกมะนาว เป็นรายได้เสริมระหว่างการศึกษา ก็สามารถแวะเข้ามาขอความรู้กับลุงจำรัสได้ ลุงจำรัสยินดีแบ่งปันความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานกับผู้สนใจ

 “สวนเกษตรธนบุรี” ของ ลุงจำรัส คูหเจริญ เดินทางไปได้ไม่ยาก เพราะอยู่กลางเมืองนี้เอง ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 363 ถนนพัฒนาการ แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160 โทร. (081) 552-6700 หรือ (02) 457-0920 (เวลา 09.00-22.00 น.)

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ กลางกรุง ทำสวนมะนาว ก็รวยได้ง่ายๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook