ปมร้อนเศรษฐกิจ ระเบิดเวลารอรบ."ประยุทธ์ 1"

ปมร้อนเศรษฐกิจ ระเบิดเวลารอรบ."ประยุทธ์ 1"

ปมร้อนเศรษฐกิจ ระเบิดเวลารอรบ."ประยุทธ์ 1"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับถอยหลังต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ซึ่งหน้าตาของคณะรัฐมนตรีจะหล่อเหลาสมคำคุยหรือไม่ คงไม่สำคัญเท่ากับงานที่รอตรงหน้า เพราะเวลานี้ปัญหาด้านเศรษฐกิจกำลังรอการเยียวยาจากทีมเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ ไม่มีเวลาให้ทดลองงานกันแล้ว

เริ่มที่การผลักดันตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี ล่าสุด ภาครัฐวาดหวังผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ไว้ 2% แต่มีเอกชนบางฝ่ายมองว่าอาจลดลงไปถึง 1.5% เพราะภาคการผลิตค่อนข้างถดถอย เห็นได้จากอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์ที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงลดกำลังผลิตเหลือแค่ 1 ล้านคัน

ดังนั้น ช่วงไตรมาสสุดท้าย (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) ของปี จึงน่าลุ้นว่ารัฐบาลจะสามารถพลิกตัวเลขเศรษฐกิจกลับมาได้แค่ไหน ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่น่าจับตาคือ การผลักดันงบประมาณปี 2558 นั่นเอง

ยางพาราราคาดิ่ง เตรียมก่อม็อบเข้ากรุง

ขณะที่ปัญหารายกระทรวงเศรษฐกิจนั้น พบว่า ปัญหาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กำลังเป็นปมระเบิดที่หากแก้ไม่ได้ คะแนนรัฐบาลคงดิ่งตั้งแต่เริ่มต้น เพราะข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ราคายางพาราในเดือนสิงหาคม 2557 นั้น ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 54.17 บาทต่อ กก. และราคาน้ำยางสดคละอยู่ที่ 52.58 บาทต่อ กก. ซึ่งถือเป็นราคายางพาราตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งๆ ที่ราคายางพารานั้นเคยขึ้นสูงสุดถึง 170.75 บาทต่อ กก. ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2554 ก่อนที่ราคาจะตกลงต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวสวนยางในจังหวัดต่างๆ เริ่มมีการเคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำภายใน 7 วัน มิเช่นนั้นจะออกมาเคลื่อนไหวใหญ่

ทั้งนี้ ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำมาจากปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยางน้อยลง เนื่องจากประเทศจีนผู้นำเข้าหลักมีนโยบายการปลูกยางภายในประเทศเพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณการนำยางมาใช้ในประเทศไทยยังน้อยลง ซึ่งสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า คสช.จะพยายามพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำกว่า 50 บาทต่อ กก. โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาเบื้องต้น นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงรอการอนุมัติงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทจากทาง คสช.ในการช่วยเหลือผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการพัฒนาการผลิต และจัดให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) โค่นยางเก่าให้ได้ 4 แสนไร่พร้อมจัดสรรเงินชดเชย เพื่อลดพื้นที่และนำไปใช้ปลูกพืชอื่น

ขณะที่การแก้ปัญหาพืชทั้ง 4 ของไทย ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย จากการรายงานข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ พบว่า สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 7.51 ล้านไร่ มีผลผลิตรวมต่อปีประมาณ 5.08 ล้านตัน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มักมีปัญหาราคาที่ตกต่ำมาจากผลผลิตออกมากและกระจุกตัว มันสำปะหลัง ปัจจุบันมีพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 8.32 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 29.20 ล้านตัน ปัญหาของมันสำปะหลังในไทยเกิดจากเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ปลูกมันสำปะหลังมานาน ส่งผลให้เกิดปัญหาดินดาน จนผลผลิตต่อไร่ต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น

ขณะที่ปาล์มน้ำมันมีเนื้อที่ให้ผลผลิตทั่วประเทศรวมประมาณ 4.10 ล้านไร่ ผลผลิตในปี 2557 ประมาณ 13.20 ล้านตัน ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา คือเกษตรกรใช้พันธุ์ปาล์มคุณภาพต่ำ โรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มใช้กำลังการผลิตเพียง 60-70% เท่านั้น และอ้อย ปัจจุบันมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั่วประเทศในปีการผลิต 2556/57 รวมประมาณ 8.46 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 103.70 ล้านตัน ปัญหาการผลิตอ้อยในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องจักรกลสำหรับใช้ในไร่อ้อยมีราคาสูงทำให้เกษตรกรต้องใช้แรงงานเก็บเกี่ยวเป็นหลัก และต้นทุนการผลิตอ้อยที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่เกษตรกรได้รับ

หล่านี้ทำให้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์พืชทั้งของ คสช.เบื้องต้นต้องจัดคณะทำงานจัดทำร่างยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ การจัดทำโซนนิ่งการเพาะปลูก และเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของพืชไทย และหาวิธีการแปรรูปพืชเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้

วอนเลิกอัยการศึกดึงท่องเที่ยวไทย

ฟากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โจทย์หนักคือ การเร่งดึงนักท่องเที่ยวให้กลับประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังมีประกาศกฎอัยการศึกค้ำอยู่ ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยค่อนข้างนิ่ง หากปล่อยไว้จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ประเทศ เพราะปลายปีคือช่วงไฮซีซั่นที่ปกตินักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะมุ่งหน้าเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ขณะที่ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ในด้านความมั่นคงภาครัฐเองยืนยันกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นอยู่

อีกเรื่องสำคัญคือ การสร้างภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย ซึ่งนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) แสดงความต้องการเสนอให้ คสช. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่มการสื่อสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผ่านสถานทูต หรือสำนักงาน ททท. ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ เพราะประเทศไทยไม่มีเหตุรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวสามารถมาได้ตามปกติ หากดำเนินการได้จริง จะทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีกลับสู่ภาวะปกติ และเรื่อยยาวไปจนถึงปี 2558

แยกท่อก๊าซปตท.ปมขัดแย้งพลังงาน

มาที่ปมร้อนว่าด้วยปฏิรูปพลังงาน ประเดิมด้วย นโยบายการแยกท่อก๊าซธรรมชาติรวม 4 เส้น (3 เส้นขนส่งก๊าซฯและ 1 เส้น อยู่ระหว่างก่อสร้าง) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เห็นชอบให้ ปตท. แยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในลักษณะการแบ่งแยกตามกฎหมายออกไปเป็นบริษัทใหม่ ในรูปบริษัทจำกัด เพื่อให้ธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติมีการแข่งขันเป็นธรรม ให้ ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ในช่วงแรก จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2558 และจะไม่มีการแปรรูป หลังจากนั้น จะให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้น 25% และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 (ทีพีเอ) ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2558 รวมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ กกพ.ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อให้รองรับกับการแข่งขันในอุตสาหกรรม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้เสนอ กพช.เห็นชอบต่อไป

ซึ่งก่อนมติดังกล่าวจะเกิดขึ้น เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) แสดงจุดยืนต่อต้าน โดยมองว่าการที่ ปตท.จะจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการท่อก๊าซเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเช่าใช้นั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นสมบัติของรัฐ และระบุว่า ปตท.ต้องคืนท่อทั้งหมด คือทั้งบนบกและทะเล พร้อมยังอ้างถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าเคยส่งหนังสือทวงถาม ปตท.เรื่องการคืนท่อตั้งแต่ปี 2551 และคงยืนหนังสือฉบับนั้นอยู่

ต่อมาได้ปรากฏเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ทำกิจกรรมเดินเท้าจาก จ.สงขลา เข้าสู่กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ" เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในเรื่องของพลังงานและนำพิมพ์เขียวการปฏิรูปพลังงานนำเสนอต่อประธาน คสช. แต่ถูกจับกุม เพราะฝ่าฝืนประกาศกฎอัยการศึก

เมื่อกระแสทั้งทางตรงและทางอ้อมถาโถม จึงได้เห็นปรากฏการณ์รวมพลังแก้ข่าวคล้ายถูกสั่งด่วน เพราะทั้ง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าการแยกธุรกิจท่อก๊าซเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยการแยกท่อก๊าซจะไม่มีการแปรรูป คือจะไม่มีการนำเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นอันขาด เพราะตามแผนของภาครัฐจะให้กองทุนวายุภักษ์ ซึ่งมีสภาพคล่องกว่า 1 แสนล้านบาท เข้าถือหุ้นดังกล่าว โดยจะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกกฎเกณฑ์ในการดูแล หรือทีพีเอ ช่วงมีนาคม 2558 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลัง และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และยืนยันในสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแล้ว

ขณะที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมธนารักษ์ยืนยันว่า ปตท.ได้คืนท่อก๊าซในส่วนบนบกมูลค่า 15,000 ล้านบาท มาที่กรมธนารักษ์ในช่วงปี 2551 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองเมื่อปี 2550 และ ปตท.จ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์เฉลี่ยปีละ 500-550 ล้านบาท ส่วนท่อก๊าซในทะเลมีข้อยุติแล้วว่า ไม่ต้องโอนมาที่กระทรวงการคลัง

แม้ภาครัฐจะออกมายืนยันว่าทุกอย่างเคลียร์จบแล้ว แต่เชื่อว่าประเด็นพลังงานคงรอปะทุอีกหลายรอบ เพราะยังมีปมการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ยังไม่จบ ปมการผลักดันโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด ปมการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21ฯลฯ

เมื่อรวมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ต้องตามลุ้นว่ารัฐบาลประยุทธ์ 1 จะรับมือไหวไหม???

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีจะสามารถเลือกบุคคลเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจได้เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ เพราะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่มีเวลาให้รัฐมนตรีเข้ามาเรียนรู้ มีแต่ต้องเร่งทำงาน แก้ไขปัญหาให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบประมาณช่วงไตรมาสแรกของปี คือ ตุลาคม-ธันวาคม 2557 ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กำหนดให้มีการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 31% เพราะจะมีผลต่อตัวเลขจีดีพีที่ภาครัฐอยากให้ได้ถึง 2%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook