ไฟเขียว!! คสช. อนุมัติงบกว่า 5 พันล้าน อุ้มยางพารา

ไฟเขียว!! คสช. อนุมัติงบกว่า 5 พันล้าน อุ้มยางพารา

ไฟเขียว!! คสช. อนุมัติงบกว่า 5 พันล้าน อุ้มยางพารา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คสช. อนุมัติงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ ขณะที่แกนนำเรียกร้องปัญหาราคายาง ยืนยัน จะไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร แต่จะใช้วิธียื่นเรื่องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแทน


ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. แถลงว่า หลังการประชุม คสช. ชุดใหญ่ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปี 2557 มีกรอบวงเงิน 5,938.25 ล้านบาท โดยใช้งบกลางรายการสำรองฉุกเฉินและกรณีจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2557 จำนวน 977.75 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.มาตรการยกระดับราคาโดยเพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาด โดยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางวงเงิน 350 ล้านบาท 2.แนวทางการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพการผลิตวงเงินตลอดโครงการในปี 2557 วงเงิน 1,088.25 ล้านบาท และ 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา ให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ วงเงินตลอดโครงการ 4,500 ล้านบาท

ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางพัฒนาและยกระดับราคายางพาราในระยะยาว 10 ปี (ก.ย. 2557-2567) วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลักได้แก่ 1.มาตรการยกระดับราคาโดยเพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาดเพื่อรวบรวมยางพารา วงเงิน 10,000 ล้านบาท 2.แนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและคุณภาพผลผลิตยางพารา โดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ให้กับสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาท และ 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพารา 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผอ. องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เปิดเผยว่า มติ คสช. วันที่ 26 ส.ค. 57 เห็นชอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยางทั้งระบบนั้น แยกเป็น 2 ส่วนคือ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรแปรรูปยางขั้นต้นเพื่อจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น อีก 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นวงเงินหมุนเวียนรับซื้อยางของสถาบันเกษตรกรเหล่านี้ เงินกู้ทั้งหมดจะมาจาก ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ย 4 % โดยสถาบันเกษตรกรกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการจะรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ เพียง 0.01% ที่เหลือรัฐบาลจะสนับสนุนอัตราดอกเบี้ย 3% และใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์สนับสนุนในอัตราที่เหลือ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่เห็นชอบไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ บก.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. กล่าวว่า หัวหน้าคสช. มอบให้ตนเจรจาพูดคุยกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ตัวแทนประธานชุมชนสหกรณ์เกษตรกรรมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขราคายางพาราตกต่ำ โดยนายอุทัย จะชี้แจงข้อมูลปัญหาต่างๆ โดยไม่ได้มายื่นหนังสือหรือเรียกร้องใดๆ กับ คสช. ทั้งสิ้น ซึ่ง คสช. มีมาตรการช่วยเหลือและการแก้ปัญหาที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ยั่งยืน อาทิ การหาแหล่งเงินกู้ การวิจัยยางพาราเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศ

ด้านนายอุทัย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและคณะมาพบ พล.อ.ฉัตรชัย เพื่อหารือการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวเข้ามากรุงเทพฯ เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย เกษตรกรสวนยางพาราทั้ง 63 จังหวัด ทำหนังสือผ่านผู้ว่าฯถึงนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เรื่องที่ยื่นเสนอไปได้แก่ ไม่ต้องการให้ขายยางในสต๊อก 120,000 ตัน การนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติมาใช้การเสริม สภาพคล่องช่วงราคาตกต่ำ 10,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการแปรรูป 5,000 ล้านบาท สินเชื่อ ผู้ประกอบการนำไปขยายฐานการผลิต โดยเฉพาะถุงมือยางซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยาง 400,000 - 500,000 ตัน การเสนอให้ 8 ประเทศอาเซียนที่ส่งออกยางพาราซึ่งมีสัดส่วน 80% ของโลก รวมตัวกันเพื่อต่อรองราคาได้ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาราคายางพารานั้นเบื้องต้นเกษตรกรขอให้ราคาปัจจุบันใกล้เคียงกับต้นทุน 65.25 บาทต่อกิโลกรัมก่อน จากนั้นจึงหามาตรการแก้ไขต่อไป ราคาล่าสุดวันที่ 22 ส.ค. 57 อยู่ที่ 22.82 บาทต่อกิโลกรัม

ทางด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้ของประชาชนที่เกิดจากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก ได้มี โอกาสฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนสามารถดำรงชีพได้อย่างเป็นปกติสุข เริ่ม 1 ก.ย. 57 ถึง 30 ก.ย. 58

ทั้งนี้หนี้นอกระบบดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ที่มีต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกัน สุทธิหลังประนอมหนี้แล้วคงเหลือไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก รวมทั้งเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ก.ย. 57 และมีเอกสารหลักฐานการเป็นหนี้จริง โดย ธ.ก.ส.ได้กำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี
 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook