เทคนิควางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน
สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ เช่น เงินเดือน ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) นั้น การเข้าข่ายมนุษย์เงินเดือนจะดูจากการจ้างแรงงานว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการใช้แรงงานตามกำหนดเวลาจ้าง เช่น ทำงานตั้งแต่เวลา 8.30 – 17.30 น. วันจันทร์ – วันศุกร์ เป็นต้น
แม้งานที่ทำจะไม่สำเร็จ ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามกำหนดเวลาการจ้าง เช่น เงินเดือน 50,000 บาท จ่ายทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน เมื่อถึงวันที่ 30 ของเดือนนายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างแม้ว่างานที่ลูกจ้างทำจะยังไม่สำเร็จก็ตาม แต่ลูกจ้างไม่มีอิสระในการทำงาน ต้องทำงานตามเวลาและชั่วโมงที่นายจ้างกำหนด และจะต้องอยู่ในบังคับบัญชาของนายจ้าง
หากลูกจ้างทำงานผิดพลาด นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดในผลที่ลูกจ้างได้ก่อขึ้นตามหน้าที่การงานที่จ้างด้วย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
ดังนั้น เทคนิคการลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน ต้องใช้ตัวช่วย โดยการใช้สิทธิลดหย่อนที่มีอยู่ให้เต็มที่ เช่น การจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การลดหย่อนภรรยา บุตร บิดามารดาสูงอายุ รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติม เช่น การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพบิดามารดา ซึ่งนอกจากเป็นการออมและลงทุนแล้ว ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมด้วย
ตัวอย่างมนุษย์เงินเดือน นางเจนี่เป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนประจำจากโรงพยาบาลนายจ้าง นอกจากนั้นยังมีรายได้พิเศษจากนายจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาประจำเป็นรายชั่วโมง เช่น ค่าเฝ้าไข้พิเศษ การพยาบาลพิเศษแต่ละครั้ง การพยาบาลพิเศษในรถพยาบาล เงินได้ที่นางเจนี่ได้รับดังกล่าวเป็นเงินได้จากการทำงานให้นายจ้างซึ่งจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนประจำอยู่แล้ว ซึ่งนายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) ซึ่งคำนวณหักเสมือนได้จ่ายทั้งปี ดังนั้น มนุษย์เงินเดือน คือ ผู้ที่เสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกๆ เดือนก่อนที่นายจ้างจะจ่ายเงินเดือนให้เราได้นำไปออมหรือนำไปใช้จ่าย
เทคนิคพิเศษ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เป็นคู่สมรส ควรแยกยื่นดีกว่ารวมยื่น เพราะว่าท่านที่มีเงินได้ไม่ว่าจะเป็นเงินได้ตามมาตราใด เมื่อได้จดทะเบียนสมรส ตามกฎหมายบัญญัติว่าเงินได้ของภรรยาถือเป็นเงินได้ของสามี ดังนั้น หากภรรยามีเงินได้ต้องนำมารวมเสียภาษีร่วมกับสามีด้วย ยกเว้นกรณีภรรยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือภรรยาเป็นมนุษย์เงินเดือน ภรรยาสามารถแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของสามี
ยกตัวอย่างเช่น ภรรยาทำงานบริษัท มีเงินเดือน เดือนละ 50,000 บาท รวมรายได้จากเงินเดือนตลอดทั้งปีเท่ากับ 600,000 บาท และเป็นตัวแทนประกันชีวิตซึ่งมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นรวมตลอดปีจำนวน 300,000 บาท เท่ากับภรรยามีรายได้ตามมาตรา 40(1) จำนวน 600,000 บาท และเงินได้ตามมาตรา 40(2) จำนวน 300,000 บาท ภรรยาสามารถนำเงินได้จากเงินเดือนตามมาตรา 40(1) ไปแยกยื่นต่างหากจากสามีได้ ซึ่งจะเป็นการแตกหน่วยภาษีใหม่ทำให้ช่วยลดภาษีลงได้ ส่วนรายได้จากค่าคอมมิชชั่น 40(2) ภรรยายังคงต้องนำไปรวมกับเงินได้ของสามีเพื่อคำนวณเสียภาษี จะเห็นได้ว่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยในแต่ละเดือนแล้ว หากต้องการลดหย่อนภาษี ควรสำรวจสิทธิที่ตนเองพึงมี และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้เต็มที่ หากภรรยาเป็นมนุษย์เงินเดือนสามารถแยกยื่นได้ รวมถึงการบริจาคก็สามารถนำมาช่วยหักลดหย่อนได้เช่นกัน
ตัวอย่างเทคนิควางแผนภาษี ในบางสาขาอาชีพที่ประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทนายความ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก สามารถแปลงเงินได้จากการจ้างแรงงาน มาตรา 40(1) เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ มาตรา 40(6) ได้ ตามลักษณะการถูกว่าจ้าง ซึ่งให้ประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้มากกว่า เนื่องจากหากเป็นมนุษย์เงินเดือนตามมาตรา 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
ในขณะที่เงินได้ตามมาตรา 40(6) ในส่วนของวิชาชีพประกอบโรคศิลป์สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 ไม่มีเพดานสูงสุด และวิชาชีพอิสระอื่นหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30 ไม่มีเพดานสูงสุดเช่นกัน