ปิ๊งไอเดีย ! คลัง ออกพันธบัตร อายุ 100 ปี ระดมทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้าน

ปิ๊งไอเดีย ! คลัง ออกพันธบัตร อายุ 100 ปี ระดมทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้าน

ปิ๊งไอเดีย ! คลัง ออกพันธบัตร อายุ 100 ปี ระดมทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สบน.ชงออก′บอนด์100ปี′

เมื่อวันที่ 6 กันยายน กรณีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงการคลัง ถึงการใช้มาตรการพิเศษออกมาช่วยภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยเฉพาะการระดมเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า น่าจะได้เห็นมิติใหม่ของการระดมทุน ต้องทำให้ทุกคนร้องว้าวให้ได้ เป็นการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมานั้น

นายสมหมายได้ให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องดังกล่าวว่า เครื่องมือในการระดุมทุน มีทั้งพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์) ที่มีอายุตั้งแต่ 3-5-7-10-15 และ 20 ปี ตั๋วสัญญาใช้เงินพันธบัตรรายย่อยเพื่อขายประชาชนทั่วไป การนำเครื่องมือใดมาใช้นั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งในเรื่องภาวะตลาดการเงิน ช่วงเวลาในการออก ระยะเวลาในการกู้เงิน และดอกเบี้ยในขณะนี้เมื่อเทียบแต่ละเครื่องมือดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ในทุกปี ทาง สบน.ต้องพัฒนาเครื่องมือทางการการเงินใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดการเงิน ล่าสุดมีแนวคิดการออกบอนด์อายุ 100 ปี ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดที่ สบน.เตรียมไว้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้หากนายสมหมายต้องการเห็นผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ อาจจะออกบอนด์ 100 ปี ได้ในปีงบประมาณ 2558 เพราะ สบน.ได้ศึกษาเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีจังหวะนำมาใช้

เผยธุรกิจประกันเคยเรียกร้อง

"ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้มีอายุสูงสุดคือ 50 ปี ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจประกันเรียกร้องออกบอนด์อายุ 100 ปี กลุ่มนี้ต้องการนำเงินลูกค้ามาบริหาร ซึ่งกลุ่มธุรกิจประกันนี้เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ซื้อบอนด์อายุ 50 ปี ในต่างประเทศนั้นเป็นกลุ่มที่ซื้อบอนด์อายุ 100 ปี นอกจากกลุ่มประกันแล้วยังเป็นกลุ่มของสถานศึกษา ในประเทศไทยเคยมีการระดมเงินอายุยาว 100 ปี คือ การออกหุ้นกู้ของกลุ่ม ปตท. เมื่อช่วงปี 2554 ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากนักลงทุน" รายงานระบุ และว่า ในการระดมเงินทุน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีข้อเสนอให้ สบน.ออกบอนด์อายุ 50 ปี คาดว่าในการลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท ที่อาจจะมีขึ้น คงไม่ต่างจากโครงการ 2 ล้านล้านบาท น่าจะมีทั้งบอนด์อายุ 30-50 ปี และบอนด์เพื่อรายย่อยพิเศษ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการของรัฐบาลด้วย

ชงให้ใช้การลงทุน2.4ล้านล.

"ขณะนี้ต้องรอข้อสรุปจากรัฐบาลชุดใหม่ว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะใช้วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทหรือไม่ จะเพิ่มหรือลดจากนี้ และต้องดูเวลาในการลงทุนว่าจะ 8 ปีหรือ 10 ปี ล่าสุด นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่าอาจจะต้องลงทุนยาวหน่อย 10 ปี ถ้าโครงการนี้มีความชัดเจน สบน.ต้องปรับแผนการกู้เงินอีกครั้ง ส่วนจะนำบอนด์ 100 ปี มาระดมทุนเพื่อใช้ใน 2.4 ล้านล้านบาทหรือไม่ เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่จะตัดสินใจ" รายงานข่าวระบุ

ตามแผนลงทุน 8 ปี สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท มีการรระบุไว้ คือ ในปี 2558 ใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท, ปี 2559 ลงทุน 3.3 แสนล้านบาท, ปี 2560 ลงทุน 4.7 แสนล้านบาท, ปี 2561 ลงทุน 5 แสนล้านบาท, ปี 2562 ลงทุน 4.8 แสนล้านบาท, ปี 2563 ลงทุน 2.9 แสนล้านบาท, ปี 2564 ลงทุน 1.2 แสนล้านบาท และปี 2565 ลงทุน 4 หมื่นล้านบาท การลงทุนดังกล่าวแบ่งเป็นเงินกู้ 45% ร่วมลงทุนกับเอกชนผ่าน พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (พีพีพี) 20% งบประมาณ 20% เงินของรัฐวิสาหกิจ 10% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 5%

 ก.ล.ต.หนุนตั้งกองทุนรวมฯ

นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและพัฒนา รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.พร้อมให้คำปรึกษาการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชน ปัจจุบัน ก.ล.ต.มีเกณฑ์จัดตั้งกองทุนกำหนดไว้ชัดเจน แต่ในส่วนรัฐวิสาหกิจอาจมีข้อจำกัดด้านกฎหมายแต่ละหน่วยงาน เพราะกองทุนจะกำหนดให้โอนทรัพย์สิน หรือแบ่งรายได้ในอนาคตให้กับผู้ซื้อ

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ล่าสุดตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หารือถึงการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแล้ว พร้อมได้ชี้แจงให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. รับทราบถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนนี้ เพื่อระดมเงินผู้ลงทุนไปใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ปัจจุบันมีภาคเอกชนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และระดมทุนไปเรียบร้อยแล้ว 3 ราย ในด้านระบบรถไฟฟ้า โรงไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคม

 ลดภาระงบ-ลดหนี้สาธารณะ

"หากหน่วยงานภาครัฐสนใจสามารถดำเนินการได้ เลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เช่น รัฐวิสาหกิจสามารถใช้วิธีขายสิทธิในส่วนแบ่งกระแสรายได้ในอนาคตช่วงหนึ่งให้แก่กองทุน ซึ่งรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินตามเดิม" นายวรพลกล่าว และว่า การใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระดมทุนเพื่อเร่งรัดพัฒนาประเทศ จะช่วยลดภาระงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะ จะได้สงวนงบประมาณและเพดานหนี้สาธารณะไว้ใช้ลงทุนด้านอื่นที่มีความจำเป็น เช่น การศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น ผู้ลงทุนยังมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและมีทางเลือกในการลงทุนระยะยาว ก.ล.ต.จึงต้องการสนับสนุนรวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ.จะระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า และโครงการขยายระบบสายส่งของ กฟผ. ซึ่งความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขออนุมัติจากคณะกรรมการของ กฟผ. จากนั้นจะเสนอกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแล และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จึงจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลขอจัดตั้งกองทุน (ไฟลิ่ง) และเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook