ทีดีอาร์ไอ อ้างวิจัยล่าสุด แฉโกงข้าว มโหฬาร1.1แสนล้าน

ทีดีอาร์ไอ อ้างวิจัยล่าสุด แฉโกงข้าว มโหฬาร1.1แสนล้าน

ทีดีอาร์ไอ อ้างวิจัยล่าสุด แฉโกงข้าว มโหฬาร1.1แสนล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


@ เผยวิจัยทีดีอาร์ไอไม่ใช่ข้อมูลหลัก

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการพิจารณากรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ละเลยหน้าที่ทำให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้ผลวิจัยของทีดีอาร์ไอนั้น ได้รับการชี้แจงว่า ป.ป.ช.นำผลวิจัยของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีมาใช้โดยบทวิจัยดังกล่าว ป.ป.ช.เป็นผู้ว่าจ้าง

ทีดีอาร์ไอให้จัดทำ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงวิธีช่วยเหลือเกษตรกรโดยไม่จำเป็นต้องแทรกแซงตลาดโดยตรงและลดการทุจริตทำได้อย่างไร

"ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า นำบทวิจัยไปอ้างอิงว่ามีงานวิจัยที่แสดงถึงแนวทางในการป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร และได้นำผลวิจัยไปเตือนรัฐบาลแล้ว ไม่ใช่เป็นข้อมูลหลักในการสอบสวนการทุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงไม่ได้ส่งรายงานฉบับเต็มไปให้ หากต้องการสามารถดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ" นายนิพนธ์กล่าว

@ เล็งเปิดวิจัยจำนำข้าวรบ.ปู

นายนิพนธ์กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเปิดเผยบทวิจัยการทุจริตโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสำนวนของ ป.ป.ช. โดยตนจัดทำรายงานโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง "การคอร์รัปชั่นกรณีการศึกษา : โครงการรับจํานําข้าวทุกเมล็ด" ศึกษาพฤติกรรมการทุจริต และประมาณการมูลค่าการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว โดยยังไม่นับรวมการทุจริตที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนอื่นๆ จากโครงการรับจำนำข้าวตลอด 5 ฤดูกาลผลิตของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา หรือฤดูการผลิตปี 2554/55-2556/57 ซึ่งรัฐบาลรับซื้อข้าวจากชาวนารวมประมาณ 54 ล้านตัน ใช้เงินนอกงบประมาณ ด้วยการกู้จากสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ได้ผ่านรัฐสภา รวมตลอดโครงการรวมประมาณ 985,000 ล้านบาท

นายนิพนธ์กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกศึกษาเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว เพราะรัฐบาลเป็นระบายข้าวที่มีอยู่ในมือได้ทั้งหมด ต่างจากขั้นตอนการรับข้าวเข้าสู่โครงการที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมหาศาล ทั้งชาวนา โรงสี และโกดัง หากดูจากราคาข้าวสารในประเทศสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใกล้เคียงกับราคาข้าวสารของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่สูงมาก ซึ่งนั่นหมายความว่ามีการระบายข้าวออกจากสต๊อกเพื่อรักษาระดับราคาข้าวสารในประเทศไม่ให้แพง เพราะหากราคาข้าวสารแพงคนในเมืองก็จะไม่พอใจ และเป็นอุปสรรคทางการเมืองของรัฐบาลได้

@ แฉมูลค่าทุจริตกว่าแสนล้าน

นายนิพนธ์กล่าวว่า มูลค่าการทุจริตในการระบายข้าวที่คำนวณจากแบบจำลอง คิดเป็นเงินรวมประมาณ 111,000 ล้านบาท จาก 4 วิธีการทุจริตในการระบายข้าวรัฐออกไปในราคาต่ำ แบ่งเป็น 1.การทุจริตจากการค้าข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 7.8 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 45,094 ล้านบาท วิธีการขายข้าวนี้รัฐได้เปิดขายโดยให้ผู้ซื้อเป็นฝ่ายเสนอราคา แต่รัฐบาลไม่บอกว่า ขายให้ใคร ในราคาและปริมาณเท่าใด เมื่อตรวจสอบดูก็จะพบว่ามีนายหน้าบางรายเท่านั้นที่สามารถเข้าไปซื้อข้าวจากรัฐได้

นายนิพนธ์กล่าวว่า 2.การทุจริตจากการเลือกขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวกที่เสนอซื้อข้าวของรัฐในราคาต่ำ รวมประมาณ 4 ล้านตัน เป็นเงิน 21,512 ล้านบาท 3.การทุจริตจากโครงการข้าวธงฟ้าและข้าวถุงถูกใจ 1.1 ล้านตัน เป็นเงิน 12,267 ล้านบาท และ 4.ปัญหาข้าวหาย 2.9 ล้านตัน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากผู้มีอิทธิพลทางการเมืองใช้อำนาจนำข้าวเปลือกหรือข้าวสารจากโรงสีในโครงการไปขายให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่งและพ่อค้าข้าวถุง แล้วหาข้าวราคาต่ำมาส่งคืนโกดังในภายหลัง ผลการคำนวณพบว่า มูลค่าทุจริตส่วนนี้เท่ากับ 25,616 ล้านบาท

@ แฉนักการเมืองได้8.4หมื่นล.

นายนิพนธ์กล่าวว่า การคำนวณผลลัพธ์ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูง ว่ามีผลได้หรือผลเสียต่อสังคมมากว่ากันนั้น พบว่า ผลประโยชน์ที่ตกอยู่กับกลุ่มบุคคลต่างๆ ในสังคม จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 5 ฤดูกาลที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 540,000 ล้านบาท แบ่งเป็นชาวนาได้ประมาณ 297,000 ล้านบาท แต่ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นชาวนาขนาดกลางและขนาดใหญ่ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ประมาณ 138,000 ล้านบาท พ่อค้าพรรคพวกนักการเมืองได้ประโยชน์ ประมาณ 84,000 ล้านบาท โรงสีได้ประโยชน์ประมาณ 54,000 ล้านบาท โกดังเก็บข้าวได้ประโยชน์ประมาณ 9,600 ล้านบาท และผู้สำรวจคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ได้ประโยชน์ 2,200 ล้านบาท

นายนิพนธ์กล่าวว่า เมื่อนำผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด 540,000 ล้านบาท มาหักลบกับต้นทุนของที่สังคมไทยต้องจ่ายไปจากการทำโครงการนี้ 4 ข้อ คือ 1.รัฐขาดทุนจากการซื้อข้าว 2.การส่งออกข้าวของประเทศไทยลดลง 3.การนำข้าวทั่วประเทศที่ผลิตได้ไปเก็บไว้ให้เน่าเสียในโกดัง และ 4.การผลิตข้าวในปริมาณมากเกินความจำเป็น ชาวนาใช้ปุ๋ยมากขึ้น ต้องใช้น้ำเกินความจำเป็นทั้งที่น้ำมีต้นทุนทำอย่างอื่นได้ เม็ดเงินสินเชื่อจากธนาคารอาจมีประโยชน์หากปล่อยกู้ประเภทอื่น แทนที่การปล่อยกู้ไปสร้างโกดังเก็บข้าว โรงสีเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ปีละ 100 ล้านตัน ทั้งที่ประเทศไทยผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 35 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ตัวเลขจากผลการศึกษาพบว่า สังคมไทยขาดทุนจากการจัดทำโครงการรับจำนำข้าวรวมประมาณ 120,000 ล้านบาท และนี่คือความสูญเสียของสังคม

นายนิพนธ์กล่าวว่า ในอนาคตหากมีการเลือกตั้งแล้ว มองว่าโครงการนโยบายประชานิยมในลักษณะนี้ยังมีโอกาสกลับมาแน่ เพราะมีหลายกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินมหาศาลที่รั่วไหลออกมาจากโครงการ ดังนั้นจะต้องออกแบบประเทศเพื่อป้องกันปัญหา ในทางปฏิบัติควรมีกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลที่จะใช้นโยบายประชานิยม จัดทำพระราชบัญญัติตั้งงบประมาณพิเศษ เป็นรายปี เพื่อรายงานสถานะการใช้เงินของแผ่นดิน เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook