RMF ฮีโร่พิชิตเงินเฟ้อ เพิ่มความมั่งคั่ง มนุษย์เงินเดือน รับเกษียณ

RMF ฮีโร่พิชิตเงินเฟ้อ เพิ่มความมั่งคั่ง มนุษย์เงินเดือน รับเกษียณ

RMF ฮีโร่พิชิตเงินเฟ้อ เพิ่มความมั่งคั่ง มนุษย์เงินเดือน รับเกษียณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสังคมเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยกระแสปลุกเร้าให้เกิดการบริโภค ทำให้ "มนุษย์เงินเดือน" ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว ทั้งอาหาร เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฮเทค ฯลฯ จนเหลือเงินออมในธนาคารแบบ "ขวัญถุง" ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะไม่เพียงพอในวัยเกษียณแล้ว เงินก้อนเล็กที่ว่านี้อาจไม่เพียงพอที่จะกินเป็ดย่างดี ๆ ซักตัวในอีก 30 ปีด้วยซ้ำ !!

หลายคนอาจสงสัยว่า การมีเงินไม่พอกิน "เป็ดย่าง" ดูจะเป็นคำพูดที่เกินจริงไปสักนิด แต่ "เจษฎา สุขทิศ" ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง สำหรับผู้ที่ "ไม่วางแผนการออม" ซึ่งจะทำให้ไม่มีเงินเหลือใช้ในวัยเกษียณ หรือมีเหลือน้อยจนเกินไป และที่สำคัญเงินก้อนนี้ยังจะถูกลดค่าจาก "อัตราเงินเฟ้อ" ในอนาคตด้วย

ยกตัวอย่าง หากปัจจุบันราคา "เป็ดย่างยี่ห้อดังร้านหนึ่ง" ตัวละ 570 บาท ในอีก 30 ปีข้างหน้า เราอาจต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเป็ดสูงถึงตัวละ 1,384 บาท หรือ "กาแฟข้างทาง" ราคาแก้วละ 45 บาท ก็จะพุ่งขึ้นไปถึงแก้วละ 109 บาท หากเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.43% (ประเมินจากเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา) สรุปได้อย่างง่ายที่สุดก็คือ ข้าวของเครื่องใช้ที่เคยจับจ่ายใช้แบบสบายในช่วงวัยรุ่นวัยทำงาน จะมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต ดังนั้นหากมีเงินออมที่น้อยเกินไป ก็จะมีชีวิตช่วงวัยเกษียณอย่างยากลำบากก็ได้

"ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน จะมีอายุเกษียณเฉลี่ยที่ประมาณ 60 ปี แต่คนไทยในปัจจุบันอาจยังไม่ได้วางแผนไว้มากนัก จึงทำให้ต้องพึ่งพาลูกหลานในวัยเกษียณ ทั้งที่ความจริงแล้วเราสามารถบริหารจัดการได้ตั้งแต่ตอนนี้ เช่น ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะมีเงินใช้จ่ายในวัยเกษียณอย่างน้อยเดือนละ 50% ของเงินเดือนที่ได้รับสุดท้าย เพื่อไม่ให้คุณภาพชีวิตด้อยลงกว่าช่วงที่ยังทำงานอยู่ จากนั้นจึงค่อยวางแผนการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้" เจษฎากล่าว

ด้าน "กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ" นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ คิดว่า "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" (RMF) ดูน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันกองทุนเหล่านี้ก็มีรูปแบบการลงทุนให้เลือกหลากหลาย

โดย RMF ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ RMF ที่ลงทุนใน "หุ้นไทย" จะเห็นได้จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 ส.ค. 2557 ที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารสูงถึง 5.92 หมื่นล้านบาท และยังสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะ 10 ปี 5 ปี 3 ปีและ 1 ปี สูงกว่าเมื่อเทียบกับ RMF ที่ลงทุนในตราสารประเภทอื่น

โดย RMF 5 อันดับแรกที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผลเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDIVRMF) ผลตอบแทน 27.35% กองทุนเปิด

อเบอร์ดีน สมาร์ท แคปปิตอล เพื่อการเลี้ยงชีพ (ABSC-RMF) 25.77% กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (BERMF) 25.51% กองทุนเปิด ยูโอบี ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBEQRMF) 23.85% กองทุนเปิด หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (ERMF) 22.99%

อันดับถัดมาคือ RMF ที่เน้นลงทุนในพันธบัตร มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 5.40 หมื่นล้านบาท ขณะที่ RMF แบบผสม ที่ลงทุนทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน มีมูลค่าสินทรัพย์ 3.24 หมื่นล้านบาท และ RMF ที่ลงทุนในทองคำ มูลค่า 8.33 พันล้านบาท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีผลตอบแทนเฉลี่ยแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม คำถามที่หลายคนสงสัยว่า ควรจะลงทุน RMF ประเภทใด สัดส่วนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมนั้น "กิตติคุณ" แนะนำว่า ให้ตั้งต้นจาก RMF "หุ้นไทย" ก่อน และสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมให้คำนวณด้วยการนำตัวเลข 100 ลบด้วยอายุปัจจุบัน เช่น ขณะนี้มีอายุ 30 ปี ก็ลบกับ 100 จะได้ตัวเลข 70 ซึ่งหมายความว่า ควรลงทุนใน RMF หุ้นไทยประมาณ 70% ของเงินลงทุน ส่วนที่เหลือสามารถกระจายไปใน RMF ประเภทอื่นตามความต้องการ

"คอนเซ็ปต์การนำเลข 100 ลบด้วยอายุ เป็นรูปแบบการคิดคร่าว ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง แต่สิ่งสำคัญที่อยากชี้ให้เห็นคือ นักลงทุนควรตั้งหลักการลงทุนชนิดนี้ โดยคำนึงถึงอายุในปัจจุบันให้มากที่สุด แล้วถึงจะมากำหนดรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสม รวมทั้งไม่ควรหวั่นไหวไปกับภาวะตลาดที่ผันผวนรายวันด้วย เพราะต้องเข้าใจว่าการลงทุนชนิดนี้เป็นการลงทุนระยะยาว เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อและสร้างผลตอบแทนให้มั่งคั่งเพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณ" กิตติคุณกล่าว

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า RMF เป็น "ฮีโร่" ของมนุษย์เงินเดือนวัยเกษียณ ที่ช่วยปราบ "เงินเฟ้อ" ในอนาคต และอยู่ที่คุณพร้อมขอความช่วยเหลือเขาแล้วหรือยัง ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook