"แอลทีเอฟ" จ๊าก-เลิกสิทธิทางภาษี ปีละ 3 แสนหายวับ-แบงก์ชี้คนซื้อไม่ได้รวยทั้งหมด

"แอลทีเอฟ" จ๊าก-เลิกสิทธิทางภาษี ปีละ 3 แสนหายวับ-แบงก์ชี้คนซื้อไม่ได้รวยทั้งหมด

"แอลทีเอฟ" จ๊าก-เลิกสิทธิทางภาษี ปีละ 3 แสนหายวับ-แบงก์ชี้คนซื้อไม่ได้รวยทั้งหมด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชงยกเลิกสิทธิภาษีกองทุนหุ้นระยะยาว หรือแอลทีเอฟ ตามบัญชา คสช. ระบุช่วยคนรวยมากกว่า โดยไม่ต่ออายุสิทธิทางภาษีหลังสิ้นสุดปี′59 ด้านกลุ่มแบงก์ชี้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้รวยทั้งหมด และถือเป็นการออมเงินอีกรูปแบบหนึ่ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สรุปรายละเอียดการปฏิรูปภาษีให้นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง รับทราบแล้ว โดยเรื่องการลดหย่อนภาษีการลงทุนกองทุนหุ้นระยะยาว หรือแอลทีเอฟ (LTF) ซึ่งจะหมดสิทธิประโยชน์ในปี 2559 จะไม่เสนอต่ออายุ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการยกเลิกภาษีให้กับคนรวย


แต่ในส่วนของการลงทุนในกองทุนหุ้นเพื่อการเกษียณอายุ หรืออาร์ทีเอฟ (RTF) ยังคงให้มีต่อไป เนื่องจากถือว่าเป็นการส่งเสริมการออม ให้ผู้ลงทุนมีเงินเพื่อการดำรงชีพหลังอายุครบ 55 ปี เนื่องจากกองทุนดังกล่าวจะนำออกขายได้เมื่อผู้ซื้อถือครองจนครบอายุ 55 ปี โดยทั้ง 2 กองทุนใช้สิทธิซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีละไม่เกิน 300,000 บาท

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด กล่าวถึงการไม่ต่ออายุกองทุนแอลทีเอฟว่า ระยะสั้นไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากผู้ลงทุนในแอลทีเอฟมีระยะเวลาการถือครอง 5 ปี ดังนั้น การไม่ต่อมาตรการลดหย่อนฐานภาษีดังกล่าว จะไม่กระทบกับเม็ดเงินลงทุนผ่านกองทุนซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท

กองทุนนี้จะมีวงเงินครบกำหนดปีละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายหุ้นต่อวันในขณะนี้อยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากกองทุน ดังกล่าวขายหุ้นออกมาเชื่อว่ากระทบตลาดหุ้นน้อยมาก

ส่วนนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า อาจส่งผลกระทบต่อการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และต้องยอมรับว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในแอลทีเอฟเป็นมนุษย์เงินเดือน แม้จะมีกลุ่มคนที่มีรายได้สูงอยู่บ้าง แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่คนที่รายได้มากหรือน้อย เพราะหัวใจสำคัญคือ การจูงใจให้ประชาชนรู้จักการออมเพื่ออนาคตในระยะยาว โดยเฉพาะสังคมไทยที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณในไม่ช้า

จริงๆ แล้วส่วนตัวมองว่าท้ายที่สุดคงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการออมระยะยาวเป็นเป้าหมายหลัก มากกว่าจะมองแค่ว่าควรยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมวัยชรา หากรัฐจะยกเว้นการลดหย่อนการลงทุนในแอลทีเอฟแล้ว ควรจะมีมาตรการจูงใจให้คนออมเงินเก็บไว้รองรับชีวิตในวัยเกษียณมากขึ้นมาทดแทน


ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook