ปิดทางเลี่ยง"ภาษีมรดก" สอบข้อมูลย้อนหลัง5ปี-เช็กบิลที่ดินรกร้างริบเข้ารัฐ
กฤษฎีกา เคาะ "ภาษีมรดก" ชง สนช.บังคับใช้ปี"58 เพิ่มเงื่อนไขสอบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี สกัดผ่องถ่ายทรัพย์เลี่ยงภาษี "มีชัย" เสนอเก็บอัตราเดียว 10% เกิน 50 ล้านบาทต้องจ่าย มท.เข้มงัดกฎเข้มริบที่ดินทิ้งร้างเข้ารัฐ
แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ พ.ศ. ...ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พิจารณารายละเอียดร่างกฎหมายดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จ จะพยายามสรุปให้จบภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอเข้าไปพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่จำเป็นต้องเสนอกลับไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง เนื่องจากผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแล้ว จากการเสนอของกรมสรรพากรก่อนหน้านี้ ต่างจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ที่เสนอโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบก่อน
"ร่างกฎหมายภาษีมรดก เสนอไปที่ สนช.ได้เลย ควบคู่กับร่างกฎหมายการสอบสวนคดีภาษีอากร ที่จะให้อำนาจกรมสรรพากรทำการสอบสวนคดีภาษีอากร และอำนาจการระงับธุรกรรมผู้เสียภาษีได้"
"บิ๊กตู่"ผลักดันบังคับใช้ปี 58
แหล่ง ข่าวกล่าวว่า เป็นนโยบายของหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ พ.ศ. ...มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีภาษี 2558 เป็นต้นไป โดยการเก็บภาษีมรดก จะเก็บจากผู้รับ มีการรับเมื่อใดก็เก็บเมื่อนั้น ไม่ใช่เก็บจากกองมรดกอย่างที่ยังมีหลายคนเข้าใจผิดกัน แต่จะจัดเก็บสำหรับผู้ที่ได้รับมรดกจากผู้ตายที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 10% อัตราเดียว ไม่ได้เป็นขั้นบันไดเหมือนที่เคยมีข้อเสนอ
เนื่องจากนายมีชัยเกรงว่า จะทำให้ผู้เสียภาษีสับสน ขณะเดียวกัน จะรวมถึงการรับมรดกในช่วงที่ผู้ให้ โอนให้แก่ผู้รับ ระหว่างที่ผู้ให้ยังไม่ตาย โดยจะดูการโอนทรัพย์มรดกให้กันในช่วงย้อนหลังไป 5 ปีก่อนหน้าวันที่มีการโอนทรัพย์มรดกให้แก่กันล่าสุดด้วย เพื่อป้องกันการโอน หรือถ่ายเททรัพย์สินกันก่อน แต่ส่วนนี้จะเรียกว่า "ภาษีการรับให้" ซึ่งก่อนหน้านี้จะกำหนดแค่ 2 ปี เป้าหมายเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินกันล่วงหน้า
"ในระยะ เวลาตลอด 5 ปีย้อนหลัง หากมีการรับมรดกและรับให้ ทั้งเงินฝากในธนาคาร หลักทรัพย์ และที่ดิน รวมแล้วเกิน 50 ล้านบาท ก็จะถูกเก็บภาษี 10% ไม่ว่าคนให้ตายหรือยัง การโอนตอนไม่ตายก็ดูด้วย"
มท.งัดกฎริบที่ดินรกร้าง
ด้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ
ในสังคม กระทรวงมหาดไทยจะเสนอพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สั่งการให้กรมที่ดินพิจารณาหามาตรการกระจายสิทธิการถือครองที่ดิน และการนำที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ โดยนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินมาบังคับใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติมาก ขึ้น ประกอบกับกรมที่ดินมีแผนเสนอปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งประกาศบังคับใช้มาครบ 60 ปี จึงน่าจะปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินหมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาตรา 6 เกี่ยวกับเรื่องนี้คราวเดียวกันด้วย
สาระสำคัญในการแก้ไข จะกำหนดให้บุคคลที่ถือครองที่ดิน โดยมีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดิน น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ต้องทำประโยชน์ในที่ดินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากปล่อยให้ที่ดินอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ภายในระยะเวลา เกินกว่า 10 ปีติดต่อกัน กรณีเป็นโฉนดที่ดินและ น.ส.3 กับ น.ส.3 ก. เกินกว่า 5 ปีติดต่อกัน ให้อธิบดีกรมที่ดินยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าว ให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ
ลบภาพเสือกระดาษ
จากปัจจุบัน แม้จะมีบทบัญญัตินี้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากไม่มีการสำรวจรวบรวมข้อมูลที่ดินที่ถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่าในแต่ละ ปีเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าที่ดินแปลงใดบ้างที่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ ปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า ส่งผลให้ตัวบทกฎหมายไม่มีสภาพบังคับใช้
ขณะ ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยรกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 กำหนดให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศสำรวจที่ดินในเขตการปกครอง ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ก็ไม่ได้เร่งรัดให้มีการตรวจสอบติดตามข้อมูลดังกล่าวเช่นเดียวกัน