คปภ.ชี้"ประกันชีวิต"ส้มหล่น2เด้ง "เก็บภาษีมรดก-เลิกสิทธิ์LTF"คนหันซื้อกรมธรรม์

คปภ.ชี้"ประกันชีวิต"ส้มหล่น2เด้ง "เก็บภาษีมรดก-เลิกสิทธิ์LTF"คนหันซื้อกรมธรรม์

คปภ.ชี้"ประกันชีวิต"ส้มหล่น2เด้ง "เก็บภาษีมรดก-เลิกสิทธิ์LTF"คนหันซื้อกรมธรรม์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คปภ.ชี้ "ภาษีมรดก" หนุนประกันชีวิตบูม เหตุผลประโยชน์จากประกันชีวิตไม่เสียภาษี แถมค่าเบี้ยหักภาษีได้อีก 1 แสนบาท เชียร์ธุรกิจช่วยวางแผนมรดก ตอบโจทย์ลูกค้า ส่วนแนวคิดยกเลิกหักภาษี LTF ถ้าเลิกจริง ส้มหล่นใส่ประกันชีวิตด้วย

นายอำนาจ วงศ์พินิจวโรดม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนาและวิเคราะห์ระบบการตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีมรดกนั้น มองว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจประกันชีวิตอย่างมากในอนาคต เพราะเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจะเกินมูลค่า 50 ล้านบาทก็ตาม

"ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่าผลประโยชน์จากสัญญาประกัน ชีวิต จะไม่ต้องเสียภาษี และผู้บริโภคยังมีโอกาสได้ประโยชน์เด้งที่ 2 ถ้ากรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นสัญญาระยะยาวเกิน 10 ปีขึ้นไป ก็จะได้รับสิทธิ์หักลดหย่อนภาษีด้วย จึงมองว่าตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจประกันชีวิตที่จะตอบโจทย์ด้านการ วางแผนมรดกให้แก่ลูกค้าได้ด้วย"

ขณะที่แนวคิดที่จะไม่ต่ออายุโครงการ ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดลงในปี 2559 นั้น นายอำนาจกล่าวว่า ในเวลานี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบเชิงบวกอย่างชัดเจนต่อธุรกิจประกันชีวิต เพราะผู้ลงทุนยังมีเวลาใช้สิทธิ์ได้อีก 2 ปี


"อย่างไรก็ตาม หากรัฐจะไม่ต่ออายุโครงการนี้จริง คนที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ต้องหาช่องทางอื่น หนึ่งในนั้นก็คือ ประกันชีวิต ก็มองว่าในระยะถัดไปประกันชีวิตก็น่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีส่วนนี้ หรือใช้แล้วแต่ยังไม่เต็มเพดานที่กำหนดไว้สูงสุด 1 แสนบาท ก็น่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจนี้ในระยะยาว"

ส่วนภาพรวมธุรกิจประกันภัยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ มีเบี้ยประกันภัยโดยรวมทั้งสิ้น 409,696 ล้านบาท เติบโต 12% แบ่งเป็นเบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิต 291,347 ล้านบาทเติบโต 17% และเบี้ยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 118,349 ล้านบาท เติบโต 1%นายอำนาจกล่าวว่า แรงหนุนการเติบโตในช่วง 7 เดือนแรกมาจากฝั่งธุรกิจประกันชีวิตเป็นหลัก โดยเฉพาะประกันชีวิตรายสามัญที่ยังเติบโตได้ถึงประมาณ 21% โดยช่องทางขายผ่านธนาคารหรือแบงก์แอสชัวรันซ์เป็นเครื่องจักรสำคัญที่ช่วยเร่งการเติบโตสร้างเบี้ยปีแรกและเบี้ยแบบจ่ายครั้งเดียวได้สูงมาก จึงผลักดันให้เบี้ยประกันชีวิตเติบโตค่อนข้างมาก

"ประกันชีวิตจะอาศัยจังหวะการเติบโตอยู่พอสมควรเหมือนกัน เท่าที่เราสังเกตจะพบว่าเบี้ยจากช่องทางธนาคารจะเติบโตมากในเดือนสุดท้ายของ แต่ละไตรมาส เช่นในช่วงเดือน มิ.ย.ยอดก็จะเติบโตดีมาก แต่พอเข้ามาถึงเดือน ก.ค.ยอดก็จะชะลอลงไปนิดหน่อย แต่เชื่อว่าในช่วง 4 เดือนที่เหลือนี้ก็น่าจะยังมีแรงหนุนสำหรับตลาดประกันชีวิตอีกพอสมควร โดยเฉพาะการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีซึ่งจะซื้อกันเยอะช่วงปลายปี"

ขณะที่ประกันวินาศภัย แม้ว่าโดยรวมจะเติบโตเพียง 1% ซึ่งธรรมชาติของธุรกิจนี้จะเติบโตล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีประกันภัยบางกลุ่ม เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยทรัพย์สิน และประกันภัยความรับผิด ยังสามารถเติบโตได้ค่อนข้างดี ซึ่งมาช่วยชดเชยตลาดประกันอัคคีภัยที่หดตัวลง และประกันรถยนต์ที่ลดลงเล็กน้อย แต่ประเมินว่าในช่วงปลายปีน่าจะฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook