เริ่มกันใหม่! หากมีหนี้ครัวเรือน ควรบริหารเงินยังไงดี!
ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง การมีหนี้ครัวเรือน พบได้ทั่วไปในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งบางทีหนี้สิน ก็ทำเอาคนในบ้านปวดหัว จนเป็นที่มาของการทะเลาะเบาะแว้ง หย่าร้าง ครอบครัวแตกแยกกันเลยทีเดียว วันนี้ MoneyGuru.co.th จึงขอเอาเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการเริ่มตั้งต้นใหม่ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือป้องกันไม่ให้เป็นหนี้มาฝากกัน
รายรับรายจ่าย จำเป็นที่สุด!
การทำบัญชีล่วงหน้าเพื่อคาดคะเนรายรับและรายจ่ายตั้งแต่ต้นปีจะช่วยให้เราทราบได้ว่าต้องใช้จ่ายกับเรื่องจำเป็นเรื่องใดบ้าง และจะต้องจ่ายเงินค่าอะไร เมื่อใด ซึ่งรวมถึงรายการผ่อนชำระสินเชื่อต่างๆ ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าส่วนกลาง เบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่างๆ และควรคำนวณเผื่อค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินเช่น ค่ารักษาพยาบาล อีกด้วย โดยควรแยกเป็นเดือน เป็นจำนวน12เดือน และกรอกรายรับเทียบกับรายจ่าย
เงินสำรองฉุกเฉิน อย่าลืม!
เงินสำรองส่วนนี้ควรเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่นเมื่อตกงาน เจ็บป่วย หรือมีเรื่องจำเป็น ซึ่งหากคุณไม่มี คุณก็จะไม่สามารถผ่อนจ่ายหนี้สินได้ อาจส่งผลให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น บ้านหรือรถอาจโดนยึด เป็นต้น เงินสำรองควรเก็บไว้เพียงพอสำหรับกรณีเลวร้ายที่สุดซึ่งนั่นก็คือ 6 เดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ควรเก็บไว้ในที่ๆ สามารถถอนออกมาใช้ได้ทันที เช่น บัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนตราสารหนี้แบบที่สามารถถอนได้รายวัน
ซื้อประกัน ถ้าจำเป็น!
การทำประกันช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดเรื่องไม่คาดฝัน การมีประกันนั้นจะช่วยให้เราไม่เสียเงินหรือไม่ต้องเสียเยอะเท่าที่ควรเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นการทำไว้มักจะปลอดภัยกว่า ส่วนประกันที่จำเป็นหรือควรทำนั้นมีดังนี้
ประกันการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย
เป็นประกันที่ช่วยรับประกันว่าครอบครัวจะมีที่อยู่อาศัยในกรณีที่ผู้ผ่อนชำระเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า หากเกิดสิ่งใดขึ้นกับผู้ขอสินเชื่อ บ้านจะได้ไม่ถูกยึด
ประกันที่อยู่อาศัยจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ ภัยจากการก่อการร้ายและวินาศกรรม
เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาไม่นานก่อความเสียหายให้ครัวเรือนมากมาย และอัคคีภัยก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวนักการทำประกันจะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าคุณจะได้รับเงินทุนให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุร้าย
ประกันการใช้ยานพาหนะและอุบัติเหตุ
รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุการจราจรทางบกสูงเป็นอันดับสามของโลก อันตรายมีอยู่มากมาย และค่าซ่อมรถยนต์ก็ไม่ได้มีราคาถูกนัก เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินจำเป็นการทำประกันตรงนี้ไว้ก็ช่วยรับประกันสภาวะทางการเงินของคุณได้
ประกันสุขภาพของตนและคนในครอบครัว
คนเราย่อมเจ็บป่วยกันเป็นเรื่องธรรมดา แม้จะมีประกันสังคมและประกันจากทางบริษัทแล้วแต่ก็อาจจะไม่พอเพียงที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คุณอาจจะเสียได้ และโรคร้ายบางโรคก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อาจจะถึงหลักแสน การทำประกันตัวนี้เอาไว้จะช่วยรับประกันได้ว่าหากเราเจ็บป่วย เราจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
ประกันชีวิตและอุบัติเหตุ
เมื่อผู้นำครอบครัวพอการหรือเสียชีวิต คนในบ้านก็มักขาดรายได้ ยิ่งหากมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลอีกมากมายก็จะยิ่งเดือดร้อน เพราะฉะนั้นการทำประกันชีวิตและอุบัติเหตุไว้จะช่วยรับประกันว่าแม้เกิดอะไรขึ้นกับหัวหน้าครอบครัว คนที่เหลือก็จะสามารถดำนินชีวิตต่อไปได้
เก็บเงินไว้ตอนวัยเกษียณ
ไม่มีคำว่าเร็วไปสำหรับการเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ซึ่ง การคำนวณเงินเผื่อไว้ตอนเกษียณนั้น ควรคิดถึงค่าเงินเฟ้อในอีกหลายปีข้างหน้า เช่น ปีนี้ค่าเงินเฟ้อสูงขึ้น3% ก็คำนวณเอาว่าหากเงินเฟ้อ มีอัตราคงที่เท่านี้ไปอีก10ปี ถึงเวลานั้นค่าใช้จ่ายรายเดือนจะอยู่ที่กี่บาท และคูณไปว่าหากคุณอยู่จนถึงอายุ 80 หรือ 20 ปี หลังเกษียณ จะต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพออยู่ได้อย่างสะดวกสบาย และควรเตรียมเงินเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลไว้สัก 30% ของเงินเก็บทั้งหมด อีกทางเลือกคือการลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณ หรือลงทุนในรูปแบบประกันที่จะได้รับเงินคืน ก็เป็นได้
หากมีคำถามเรื่องเงินๆ ทองๆ สามารถติดต่อ MoneyGuru.co.th ได้ที่ www.moneyguru.co.th