ปตท.บ่นอุบ! อุ้ม ′เอ็นจีวี′ 9.5 หมื่นล้าน เล็งขายเอ็นจีวี 2 เกรด 2 ราคา
รายงาน ข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า หากรัฐบาลปรับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะช่วยลดภาระให้กับ ปตท.เพื่อมีเงินไปลงทุนขยายสถานีหลักและปั๊มเอ็นจีวีต่อไป
ที่ผ่านมาปตท.มีผลขาดทุนสะสมจากการอุดหนุนราคาเอ็นจีวีตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วเป็นเงิน 95,283 ล้านบาท โดยเฉพาะบัตรเครดิตพลังงาน 7.7 หมื่นใบ เมื่อปี 2553 ให้กลุ่มรถโดยสารสาธารณะใช้สิทธิซื้อเอ็นจีวีในราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากราคาจริง 10.50 บาทต่อกก. ทำให้ ปตท.ต้องอุดหนุนส่วนนี้เดือนละ 140 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังเกิดหนี้เสียจากการรูดบัตรเครดิตพลังงานเติมเอ็นจีวี แล้วไม่ยอมชำระถึง 20 ล้านบาท
ข่าวแจ้งว่า สำหรับราคาจำหน่ายเอ็นจีวีที่เหมาะสมนั้น ที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคาเอ็นจีวีพบว่า ในปี 2556 ต้นทุนเนื้อก๊าซมีราคาอยู่ที่ 11.19 บาทต่อกก. เมื่อรวมกับต้นทุนการลงทุน ค่าบริหารจัดการและภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 4.81 บาท ราคาเอ็นจีวีที่สะท้อนต้นทุนจริงอยู่ที่ 16 บาทต่อกก. ขณะที่ราคาเอ็นจีวีที่ขายอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกก.
ซึ่งขณะนี้มีปั๊มเอ็นจีวีทั่วประเทศ 496 แห่ง แยกเป็นสถานีจ่ายก๊าซหลัก 20 แห่ง ปั๊มเอ็นจีวีตามแนวท่อ 120 แห่ง และปั๊มเอ็นจีวีนอกแนวท่อ 356 แห่ง ยอมรับว่าการให้บริการปั๊มเอ็นจีวียังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และไม่สอดคล้องกับจำนวนรถที่ใช้เอ็นจีวี ที่มีอยู่ 451,618 คัน เป็นรถส่วนบุคคล 311,000 แสนคัน รถแท็กซี่ 75,000 คัน รถบรรทุก 53,000 คัน และรถโดยสาร 13,000 คัน โดยกลุ่มรถบรรทุกแม้จะมีสัดส่วนเพียง 12% ของรถที่ใช้เอ็นจีวี แต่เป็นกลุ่มที่ใช้เอ็นจีวีสูงถึง 49% ของการใช้เอ็นจีวี ดังนั้น จึงมีเป้าหมายขยายปั๊มเอ็นจีวีอีก 11 แห่ง ภายในปี 2557 นี้
นอกจากนี้ ปตท.มีแผนปรับปรุงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายเอ็นจีวี 2 เกรด 2 ราคา และศึกษาการนำก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้ในภาคขนส่ง
สำหรับสถานการณ์การใช้เอ็นจีวีปี 2557 พบว่า จำนวนรถติดตั้งเอ็นจีวีลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2556 เฉลี่ยมียอดติดตั้งเอ็นจีวีเพียงวันละ 89 คัน จากปีก่อนอยู่ที่วันละ 218 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถติดตั้งเอ็นจีวีจากโรงงานรถยนต์สาเหตุที่ลดลงเนื่องจากสภาพ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้มีรถเอ็นจีวีจากโรงงานเหลือค้างจำนวนมาก นอกจากนี้ รถยนต์ส่วนหนึ่งหันไปติดตั้งใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) แทน เพราะมีราคาถูกกว่าและมีจำนวนปั๊มมากกว่า