"พาณิชย์"ถก5ยักษ์เอกชน ระดมแก้ของแพง-ส่งออกดับธปท.หั่นเป้าเหี้ยน0%

"พาณิชย์"ถก5ยักษ์เอกชน ระดมแก้ของแพง-ส่งออกดับธปท.หั่นเป้าเหี้ยน0%

"พาณิชย์"ถก5ยักษ์เอกชน ระดมแก้ของแพง-ส่งออกดับธปท.หั่นเป้าเหี้ยน0%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ฉัตรชัย" สั่งปลัดพาณิชย์เชิญ 5 เสือผู้ผลิตสินค้า"ซีพี-เบียร์ช้าง-มิตรผล-SCG-สหพัฒน์" จับเข่าคุยก่อนเรียกผู้ประกอบการ 7 กลุ่มสินค้า "อาหาร-วัสดุก่อสร้าง-ของใช้-ปัจจัยการเกษตร-กระดาษ-ปิโตรเลียม" เฟ้นไอเดียดูแลราคาสินค้ารับมือตรึงราคาหมดอายุ ส่งออกวูบหนัก ธปท.หั่นเป้าเหลือ 0%


ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมาตลอด ได้สร้างความกังวลให้กับกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ความกังวลดังกล่าวได้สะท้อนออกมาในการประชุมระหว่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับผู้บริหารระดับสูง เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย พล.อ.ฉัตรชัยได้ให้นโยบายการดูแลสินค้าอุปโภค/บริโภคกับกรมการค้าภายในว่าให้สร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นหลักระหว่างผู้ผลิตพ่อค้าคนกลางและผู้บริโภค ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ในการดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ให้คิดอะไรใหม่ ๆ ด้วยการหารือกับผู้ประกอบการ ที่สำคัญไม่ต้องการให้เกิดการกักตุนสินค้า หรือสินค้าปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผล เพราะการดูแลผู้บริโภคไม่ใช่แค่การควบคุมราคาสินค้า แต่ต้องให้มีสินค้าเพียงพอกับระดับฐานะของประชาชนผู้บริโภค พร้อมกับสั่งให้มีการตั้ง "ตลาดชุมชน" เพื่อให้มีการกระจายสินค้าสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง


เรียก 5 ยักษ์ถกราคาสินค้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมประสานเรียกผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ของประเทศเข้าพบตามที่ พล.อ.ฉัตรชัยมีนโยบายจะหารือร่วมกับผู้ประกอบการโดยเร็วที่สุด เริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ "กลุ่ม 5 เสือ" ประกอบไปด้วยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP), ไทยเบฟเวอเรจ (เบียร์ช้าง), กลุ่ม SCG, กลุ่มสหพัฒนพิบูล และกลุ่มมิตรผล

"พล.อ.ฉัตรชัยต้องการพูดคุยดื่มน้ำชากับกลุ่มผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนแบบเจาะลึกไม่ใช่เฉพาะเรื่องราคาสินค้าเท่านั้น แต่บางบริษัทถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการขยายการลงทุนข้ามชาติ จึงอยากทราบข้อมูลเพื่อตรวจสอบครอสเช็กสถานการณ์การค้า การลงทุน การส่งออก และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ยกตัวอย่างผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ เช่น CP และไทยเบฟ แต่อาจจะมากกว่า 5 รายก็ได้ ให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปเซตมา" แหล่งข่าวกล่าว

ทยอยพบผู้ประกอบการ 7 กลุ่ม

หลังจากพบปะหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดของประเทศไปแล้ว ลำดับต่อไปได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในทยอยจัดประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าสำคัญ 7 กลุ่ม เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มของใช้ประจำวัน, กลุ่มผู้ผลิตจำหน่ายปัจจัยการเกษตร, กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะกำหนด "มาตรการดูแลราคาสินค้า" เป็นการเตรียมการก่อนที่จะขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าจะสิ้นสุดลงในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้

"นโยบายการดูแลราคาสินค้าในรัฐบาลนี้จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพไม่ใช่ว่าจะสั่งให้ตรึงราคาทุกๆ อย่าง แต่การตรึงราคายังจำเป็นต้องคงไว้ เพื่อผลทางด้านจิตวิทยา แต่หากผู้ประกอบการรายใดเดือดร้อน ก็ยังเปิดโอกาสให้ยื่นเรื่องเข้ามาได้ จุดประสงค์สำคัญ ทางรัฐบาลอยากให้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการ และคิดอะไรใหม่ ๆ ในการดูแลปัญหาค่าครองชีพ แต่ประชาชนต้องมีสินค้าเพียงพอ และมีความหลากหลายตามฐานะทางเศรษฐกิจ"

ประชุม กก.ราคาสินค้านัดแรก

ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกเดือนตุลาคมนี้ จะประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกในสมัยของ พล.อ.ฉัตรชัย เบื้องต้น กกร.มีวาระเรื่องการติดตามประเมินระบบการดูแลราคาสินค้าในปัจจุบัน ที่กรมการค้าภายในดูแลทั้งหมดที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน จำนวน 250 รายการ ในกลุ่มต่าง ๆ เช่น อาหาร-ของใช้-ปัจจัยการผลิต เป็นต้น เพื่อประเมินแนวทางดูแลราคาจำหน่ายที่เหมาะสมกับต้นทุนให้สอดคล้องกับการกำหนดราคาต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง พร้อมทั้งดูแลปริมาณสินค้าในตลาดให้เพียงพอ ติดตามประเมินสถานการณ์การผลิต การนำเข้า การสต๊อก และจำหน่าย ว่าควรจะมีการปรับเพิ่มลดบัญชีรายการสินค้าที่กรมการค้าภายในติดตามดูแลหรือไม่

จับตาสินค้า 3 กลุ่มหลัก

"ช่วงนี้เป็นจังหวะที่กำลังซื้อชะลอตัว ผู้ผลิตจึงไม่มีการขอปรับขึ้นราคามา เพราะเกรงว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด แต่ก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวตลอด ทั้งราคาวัตถุดิบ วัตถุดิบนำเข้า หรือวัตถุดิบในประเทศ ค่าแรงงาน และค่าพลังงาน รวมถึงวิเคราะห์ทิศทางดีมานด์-ซัพพลาย แนวโน้มราคาในอนาคต และกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เช่น สามารถลดต้นทุนได้หรือไม่ หรือสามารถเชื่อมโยงวัตถุดิบในประเทศได้หรือไม่"

ปัจจุบัน กรมการค้าภายในมีการติดตามประเมินสถานการณ์สินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าที่คาดว่าจะมีปัญหา ต้องติดตามราคาทุกวัน, สินค้าที่เริ่มไม่ปกติ ทุก 2 สัปดาห์ และสินค้าระดับปกติ ทุก 15 วัน ก่อนที่จะกำหนดมาตรการแก้ไข เช่น กำหนดขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม 43 ราย ซึ่งจะมีมาตรการบริหาร ขอความร่วมมือแจ้งก่อนปรับราคา ขอความร่วมมือตรึงราคา หรือชะลอการปรับราคา และบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ

ปลัดชี้เดินนโยบายเชิงรุก

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้กระทรวงทำงานเชิงรุก โดยให้ออกไปทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งวิธีการอาจจะมีการเชิญมาหารือกัน เพื่อให้ทราบข้อมูลจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์

สหพัฒน์เตรียมเข้าหรือ รมว.

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล 1 ในบริษัทที่ พล.อ.ฉัตรชัยจะเชิญเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ติดต่อกันมาโดยตลอด และในอีก 1-2 วันข้างหน้านี้ ภาคเอกชนจะได้เข้าพบ รมว.พาณิชย์ ซึ่งบริษัทคาดว่าคงเป็นการชี้แจงว่ากระทรวงต้องการขอความร่วมมืออย่างไร จริง ๆ บริษัทไม่ใช่ต้นเหตุเรื่องการขึ้นราคาสินค้า แม้ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อยู่ในสภาพที่รับได้ ไม่มีแนวคิดจะขึ้นราคาอยู่แล้ว แต่ที่มีปัญหาเรื่องราคาสินค้า อาจเป็นภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่ภาครัฐควบคุมไม่ได้

"ถ้าราคาวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นรุนแรง เราก็ไม่จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า อยากให้หน่วยงานเข้าไปดูแลกลุ่มที่ขึ้นราคาจริง ๆ อย่างเช่นกลุ่มอาหารมากกว่า เพราะแม้จะขึ้นราคา ประชาชนก็ยังต้องบริโภค นอกจากนี้ อยากเสนอให้ภาครัฐกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการจับจ่ายอย่างสบายใจ เพราะจริง ๆ เงินในประเป๋าของผู้คนไม่ได้ลดลงมากนัก จะช่วยเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง"

ต้องแก้ราคาสินค้าครบวงจร

ด้านนายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคและฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงพาณิชย์ แต่ประเด็นเรื่องราคาสินค้า ยินดีจะให้ความร่วมมือเท่าที่จะทำได้ อยากเสนอให้มีการดูแลแก้ไขเรื่องราคาสินค้าแบบครบวงจร เพราะนอกจากต้นทุนการผลิตแล้ว ยังมีต้นทุนขนาดใหญ่ในส่วนของ "ช่องทางการขาย" โดยเฉพาะในโมเดิร์นเทรด

"การขึ้นราคาสินค้าต้องมีเหตุมีผล สินค้าหลาย ๆ ตัวที่จะขึ้นราคาก็ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน ไม่มีผู้ผลิตคนไหนอยากขึ้นราคาอยู่แล้ว เพราะผู้บริโภคจะชะลอซื้อ แต่สินค้าไม่ได้ส่งจากเราไปยังผู้บริโภคโดยตรง มีกลางน้ำอย่างช่องทางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดที่ปัจจุบันทำกำไรสูงมาก ด้วยต้นทุนในช่องทางขาย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายปรับราคาสินค้าขึ้นทางอ้อม ในลักษณะลดปริมาณในบรรจุภัณฑ์ขนาดเดิม แต่ BJC ยังไม่ได้ปรับราคาทุกรูปแบบ"

ส่วนนายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บจ.ไลอ้อน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อเข้าร่วมหารือกับภาครัฐในประเด็นราคาสินค้าและต้นทุน แต่อาจติดต่อไปทางสหพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้บริษัท ปกติสินค้าอุปโภคบริโภคแข่งขันกันอย่างตรงไปตรงมา การขึ้นราคาจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ ที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ให้มีการผูกขาดตลาด เพื่อให้ราคาสินค้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคตามกลไกของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรี

"ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้วโดยเฉพาะวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากต่างประเทศหากต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าที่ผู้ผลิตจะแบกรับไหว ก็ควรปรับราคาขายให้เหมาะสม อาจต้องอิงราคาน้ำมัน แต่ปีนี้ราคาน้ำมันแกว่งตัวขึ้นลงไม่มากนัก ต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวมจึงยังอยู่ในระดับที่ผู้ผลิตรับไหว ไม่ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น" นายบุญฤทธิ์กล่าว

ธปท.หั่นส่งออกโต 0%

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ปรับประมาณการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกปีนี้เป็น 0% จากเดิมอยู่ที่ 3% และคาดว่าปี 2558 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 4% จากเดิมคาดไว้ 6% เนื่องจากโครงสร้างภาคการผลิตที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยเฉพาะยูโรโซน และญี่ปุ่น เทคโนโลยีการผลิตของไทยมีข้อจำกัดอย่างมากในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกรถยนต์ขยายตัวต่ำกว่าอดีต และราคาข้าวและยางพาราตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยมาก อย่างไรก็ตาม ธปท.ปรับเพียงไส้ในของคาดการณ์ แต่ยังคงประมาณการ จีดีพีปี 2557 ไว้ที่ 1.5% เท่าเดิม

"ขณะที่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้โดยปรับลดเป็น 4.8% จาก 5.5% แม้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อลดลง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงยังจำเป็นเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะเริ่มแรกของเศรษฐกิจไทย"นายเมธีกล่าว

อุ๋ยชี้ไทยหันค้าขายเอเชียเพิ่ม

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี 2558 หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3-4% ต่อปี ก็ถือว่าดีพอสมควรแล้ว สำหรับปีหน้าจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการค้าขายกับประเทศในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังไปได้ดีอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของโลกอีกแล้ว ซึ่งประเทศไทยก็ส่งออกไปจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเมื่อ 15-16 ปีก่อนมีสัดส่วน 2% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 12% แล้ว
"ขณะนี้ไทยกำลังเดินตามประเทศญี่ปุ่นในการเป็นประเทศการค้าของโลก ซึ่งรัฐบาลจะสร้างโอกาสในการดึงนักลงทุนมาตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยจะลดอุปสรรคด้านกฎ ระเบียบ และภาษีลงเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook