แบงก์ล้อมคอก"สกิมมิ่งบัตรATM" งัดระบบจับพฤติกรรมผิดปกติ-ตั้งทีมดูแล24ชม.

แบงก์ล้อมคอก"สกิมมิ่งบัตรATM" งัดระบบจับพฤติกรรมผิดปกติ-ตั้งทีมดูแล24ชม.

แบงก์ล้อมคอก"สกิมมิ่งบัตรATM" งัดระบบจับพฤติกรรมผิดปกติ-ตั้งทีมดูแล24ชม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ระดมสารพัดมาตรการ สกัดปัญหาสกิมมิ่งบัตรเอทีเอ็ม เจอพฤติกรรมใช้ผิดปกติ สั่งระงับไว้ก่อน ตั้งทีมเกาะติดเข้ม24 ชั่วโมง ดูแลลูกค้าใกล้ชิด "คืนเงิน-ออกบัตรใหม่" รวดเร็ว เดินหน้าใช้ระบบชิปการ์ดแทนบัตรแม่เหล็กต้นปี′59


หลังจากพบปัญหามิจฉาชีพแอบติดตั้งอุปกรณ์ที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อคัดลอกข้อมูล (สกิมมิ่ง) และบันทึกภาพรหัสบัตรเอทีเอ็ม เพื่อทำบัตรใหม่และถอนเงินออกจากบัญชี สร้างความเสียหายต่อบุคคลและระบบเศรษฐกิจ ล่าสุด สกิมมิ่งก็ยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ


เจอก่อน - มิจฉาชีพได้นำอุปกรณ์เลียนแบบมาครอบติดช่องรับบัตรของตู้เอทีเอ็มธนาคาร กสิกรไทย เพื่อใช้สกิมมิ่งบัตร แต่มีผู้แจ้งความจับกุมผู้กระทำผิดได้ก่อนเกิดความเสียหาย

นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้เพิ่มระบบวิเคราะห์และตรวจสอบพฤติกรรมการใช้บัตรของลูกค้าที่ผิดปกติ หากพบพฤติกรรมการใช้บัตรที่ผิดไปจากการใช้งานปกติของลูกค้ารายนั้น ระบบก็จะสั่งระงับการทำธุรกรรมครั้งต่อไปทันที เพื่อให้ลูกค้าติดต่อกับธนาคารเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้ง หากข้อมูลถูกต้องก็ปลดล็อกบัตรให้ หรือถ้าลูกค้าต้องการจะเปลี่ยนบัตรใหม่ก็จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม

"ระบบวิเคราะห์นี้ อาจจะเพิ่มความไม่สะดวกบ้าง แต่ถ้าลูกค้าใช้งานตามปกติก็จะไม่มีผลกระทบ แลกกับการป้องกันปัญหาเรื่องสกิมมิ่งและสกัดกั้นความเสียหาย"

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เพิ่มรอบของทีมตรวจสอบตู้เอทีเอ็มและกล้องวงจรปิด โดยประสานกับผู้จัดจำหน่ายตู้เอทีเอ็มเพื่ออัพเกรดอุปกรณ์อยู่เป็นระยะ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลของพฤติกรรมมิจฉาชีพระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน เพื่อร่วมกันสกัดปัญหานี้

ขณะที่การเปลี่ยนระบบบริการเอทีเอ็มจากรูปแบบแถบแม่เหล็กให้มาเป็นระบบชิปการ์ดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ขอความร่วมมือมานั้น นายทวี?กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารกำลังเตรียมความพร้อมทั้งการเปลี่ยนบัตรให้แก่ลูกค้าที่มีเกือบ 10 ล้านใบ รวมถึงปรับระบบตู้เอทีเอ็มกว่า 10,000 ตู้ให้รองรับชิปการ์ด คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้เต็มที่ภายในปี 2558 ซึ่งตามกำหนด ธปท.ที่ให้เริ่มใช้ในปี 2559

"ปัญหาที่พบ คือต้นทุนค่าชิปการ์ดแพงมาก 2-3 เท่าตัวของค่าบัตร ถ้าเปลี่ยนบัตรทั้งหมดตอนนี้ ลูกค้าจะต้องแบกรับต้นทุนค่าบัตรถึง 500-600 บาท/ใบ เทียบกับปัจจุบันที่คิดเพียง 200 บาท/ใบ ขณะเดียวกัน ตู้เอทีเอ็มที่รองรับชิปการ์ดก็ยังไม่ครอบคลุมเต็มที่ จึงไม่ยุติธรรมสำหรับลูกค้าที่ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ความสะดวกกลับลดลง เราจึงมองว่ารอจังหวะใกล้ถึงกำหนดของ ธปท.แล้วค่อยเปลี่ยนระบบ ซึ่งหวังว่าเวลานั้นจะมีดีมานด์สั่งชิปการ์ดที่เยอะขึ้นและกดต้นทุนให้ต่ำลงได้" นายทวีกล่าว

ด้านนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ตั้งทีมงานเพื่อเข้ามาดูแลปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยทีมนี้จะทำงาน 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันต่ออาชญากร และที่สำคัญคือ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลูกค้าอย่างเร่งด่วน หากพบเจอปัญหาสกิมมิ่งขึ้น ธนาคารจะรีบติดต่อลูกค้าให้รีบเปลี่ยนบัตรได้โดยเร็ว และถ้าเสียหายก็จะได้รีบคืนเงินให้ลูกค้าได้

"ยอมรับตามตรงว่าไม่มีอะไรที่สามารถป้องกันหรือปลอดภัย100% แต่ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งทำให้เราเรียนรู้ได้มาก การป้องกันหรือแก้ปัญหาเรื่องนี้ทุกอย่างต้องเร็ว ทั้งแจ้งเตือนภัยและคืนเงิน ซึ่งเราพัฒนาระบบมาโดยตลอด แต่ผู้ร้ายก็พัฒนาตัวเองจนเก่งขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องพยายามตรวจสอบและสามารถจัดการได้ทันทีในการถูกสกิมมิ่งครั้งแรก และไม่มีการทำซ้ำได้อีกเป็นครั้งที่สอง" นางกรรณิกากล่าว

ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่ายอดบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ซึ่งเป็นบัตรเดียวในประเทศไทยที่เป็นระบบชิปอัจฉริยะปลอดภัยจากการถูกคัดลอกบัตรนั้น ณ สิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีจำนวนบัตรแล้วเกือบ 4 ล้านใบ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากสิ้นปี 2556 ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านใบ

"ที่ผ่านมา เราพยายามสื่อสารให้ลูกค้าตระหนักถึงภัยรอบตัว และวิธีปกป้องเงินในบัญชีให้ปลอดภัย รวมถึงโปรโมตบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ที่ช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ โดยธนาคารได้จัดแคมเปญกระตุ้นให้ลูกค้าที่สมัครบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ภายในวันที่ 15 พ.ย. นี้ ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท และยังได้บริการ SMS แจ้งความเคลื่อนไหวของบัญชีฟรีอีก 2 เดือนด้วย" นายทวีลาภกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook