ย้อนเบื้องหลังความสำเร็จ “ตระกูลศรีวัฒนประภา” ผู้สร้างตำนาน “เลสเตอร์ ซิตี้” ผงาดโลกลูกหนัง

ย้อนเบื้องหลังความสำเร็จ “ตระกูลศรีวัฒนประภา” ผู้สร้างตำนาน “เลสเตอร์ ซิตี้” ผงาดโลกลูกหนัง

ย้อนเบื้องหลังความสำเร็จ “ตระกูลศรีวัฒนประภา” ผู้สร้างตำนาน “เลสเตอร์ ซิตี้” ผงาดโลกลูกหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนกลับไปในยุค 90 ตอนปลาย "เลสเตอร์ ซิตี้" ถือเป็นสโมสรฟุตบอลดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดแห่งเกาะอังกฤษ เพราะนับตั้งแต่ทีมจิ้งจอกสีน้ำเงินจากดิวิชั่น 1 (ลีกแชมเปี้ยนชิพปัจจุบัน) ดึงตัวกุนซือหนุ่ม "มาร์ติน โอนีล" เข้ามาทำทีมฤดูกาล 1995/96 ก็สามารถเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกทันทีในปีถัดมา พร้อมยกระดับทีมลูกหนังขนาดย่อมจากย่าน อีสต์มิดแลนด์ ให้กลายเป็นทีมกลางตารางของลีกสูงสุด ที่คว้าแชมป์ลีกคัพมาครองถึง 2 สมัย (1997, 2000) แถมยังไปโลดแล่นอยู่ในฟุตบอลถ้วยสโมสรยุโรป "ยูฟ่าคัพ" ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

จนเรียกได้ว่าช่วงเวลาที่โอนีลทำทีมระหว่างปี 1995-2000 คือ "ยุคทองของเลสเตอร์ฯ" ก็คงไม่ผิดนัก

แต่เมื่อโอนีลบอกลาทีมไปอยู่ "เชลติก" ในปี 2000 ผลงานของเลสเตอร์ทีมก็ตกต่ำลง จนสุดท้ายต้องกระเด็นไปอยู่ดิวิชั่น 1 ในปี 2004 ก่อนเลวร้ายหนักถึงขั้นหล่นลงลีกวันในอีก 4 ปีต่อมา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มยุคมืดของเลสเตอร์ฯอย่างเต็มตัว

กระทั่งปี 2010 "วิชัย ศรีวัฒนประภา" ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท "คิง เพาเวอร์" จากเมืองไทย ได้หอบเงินก้อนโตหลายพันล้านเข้าเทกโอเวอร์ทีมเลสเตอร์ฯ ต่อจาก "มิลาน แมนดาริก" พร้อมก้าวขึ้น เป็นประธานสโมสรคนใหม่ในเวลาต่อมา และแต่งตั้ง "อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ลูกชายคนเล็กของครอบครัว ให้รับตำแหน่งรองประธานสโมสรที่มีอายุน้อยสุดในขณะนั้นด้วยวัย 25 ปี

เมื่อเข้าควบคุมกิจการทีมเลสเตอร์ฯเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คิง เพาเวอร์ได้ใช้ระยะเวลากว่า 4 ปีเต็ม ปรับปรุงโครงสร้างและแนวทางการบริหารทีมใหม่รวมถึงหันไปดึงตัว "ไนเจล เพียร์สัน" อดีตกุนซือให้กลับมาทำทีมอีกคำรบ จนสุดท้ายสามารถพาทีมเลื่อนขึ้นพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในรอบ 10 ปี ด้วยตำแหน่งแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพที่เก็บแต้มได้มากถึง 102 คะแนน

จากผลงานการบริหารสโมสรฟุตบอลอันน่าทึ่งข้างต้นของคิง เพาเวอร์ ได้กระตุ้นให้ใครหลายคนเกิดความสนใจในวิสัยทัศน์ของครอบครัวศรีวัฒนประภา ที่ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้า "จิ้งจอกสยาม" ฉายาใหม่ของเลสเตอร์ฯ ซึ่งเคยเป็นแค่ทีมฟุตบอลธรรมดา ให้กลายมาเป็นทีมเล็กพริกขี้หนูสู้ทีมใหญ่ได้อย่างสนุก

"ประชาชาติธุรกิจ" จึงนัดหมายพูดคุยกับอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา รองประธานสโมสรเลสเตอร์ฯ ผู้รับหน้าที่กำหนดทิศทางและวางนโยบายของทีม ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาซื้อกิจการในปี 2010 ก่อนทำให้จิ้งจอกสยามประสบความสำเร็จระดับพรีเมียร์ลีกอย่างในวันนี้

เส้นทางเทกโอเวอร์จิ้งจอกสยาม

"คุณพ่อกับผมชอบดูฟุตบอลด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก และเคยได้ยินคุณพ่อพูดให้ฟังอยู่เป็นประจำว่า "เออ...วันหนึ่งจะมีทีมฟุตบอลอังกฤษเป็นของตัวเองไหมน่ะ" ถึงจะเป็นการพูดเล่นสนุกๆตอนดูบอล แต่เราก็รู้ว่านั่นเป็นความฝันลึก ๆ ของคุณพ่ออยู่แล้ว"

อัยยวัฒน์ เปิดบทสนทนาด้วยความฝันของคุณพ่อวิชัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก่อนเล่าถึงเส้นทางการเป็นเจ้าของทีมลูกหนังอังกฤษให้ฟัง เพิ่มเติมว่า ความจริงคิง เพาเวอร์เกือบยื่นซื้อกิจการของ "เรดดิ้ง" อีกหนึ่งทีมดังแห่งลีกแชมเปี้ยนชิพมาแล้วเมื่อ 6 ปีก่อน

แต่สุดท้ายการเจรจาต้องล้มลง เพราะเจ้าของทีมเดอะรอยัลเกิดความไม่แน่ใจว่า "คิง พาวเวอร์ จะสามารถบริหารทีมฟุตบอลได้จริงๆ"

ถัดจากวันยกเลิกการเข้าซื้อกิจการทีมเรดดิ้งประมาณ 2 ปี วิชัยตัดสินใจทุ่มเงินเข้าสนับสนุนเสื้อทีมให้กับเลสเตอร์ฯเป็นเวลา 3 ปี ทว่าระหว่างการเดินชมสนามฟิลเบิร์ตเวย์ (ชื่อเดิมของ คิง เพาเวอร์สเตเดี้ยม) วิชัยเกิดความรู้สึกประทับใจบรรยากาศของสโมสรแห่งนี้ขึ้นมา จึงทำการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการเข้าเทกโอเวอร์ และปิดดีลอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น

รองประธานทีมจิ้งจอกสยาม เล่าย้อนอดีตแบบติดตลกว่า หลังจากตกลงซื้อขายทีมกันได้แล้ว ตนเองได้ถามคุณพ่อว่าจะให้ใครดูแลทีมเลสเตอร์ฯ ซึ่งคำตอบสั้นที่ได้รับกลับมาคือ "แกไง"

ทำให้นับตั้งแต่วันนั้น อัยยวัฒน์ต้องรับตำแหน่งรองประธานสโมสร และคอยจัดการดูแลทุกอย่างเกี่ยวกับเลสเตอร์ฯ ตั้งแต่เริ่มต้นเขียนสัญญา ตรวจสอบข้อกฎหมาย ตอบข้อสงสัยของสื่อที่อังกฤษ คัดเลือกทีมงาน และปรับทัศนคติสโมสรให้เข้ากับการทำงานของคิง เพาเวอร์

"โชคดีที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพภาคอินเตอร์ คณะเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจใหม่ ทำให้ค่อนข้างมีพื้นฐานทั้งในเรื่องของธุรกิจและภาษาอังกฤษ แต่ที่สำคัญสุดคือตัวผมมีโอกาสเห็นการทำงานของคุณพ่อตั้งแต่วันที่ไม่มีอะไรเลย แต่ที่มีทุกวันนี้ได้เป็นเพราะคุณพ่อทำงานหนัก ความจริงคุณพ่อไม่เคยสอนอะไรเราเลย มันเป็นเรื่องของการซึมซับวิธีการทำงานมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งตรงนี้เราได้นำเอามาใช้กับเลสเตอร์ฯแบบเต็ม ๆ"

ส่งเลสเตอร์ฯขึ้นพรีเมียร์ลีก

อัยยวัฒน์ ยอมรับว่า ก่อนหน้าเข้ามาทำทีมเลสเตอร์ฯ เคยคิดว่าการซื้อทีมฟุตบอลเป็นเรื่องง่ายเหมือนเล่นเกม ขอเพียงมีเงินถุงเงินถังคอยอัดฉีดทีมก็พอ แต่หลังจากตนเองได้เข้ามายืนอยู่ในจุดนี้จึงพบว่าไม่ง่าย เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ต้องจัดการอีกเพียบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "แรงต้านจากแฟนบอล" อันเป็นปัญหาหลักที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน

"แฟนบอลมีการต่อต้านมากในตอนแรก เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเข้ามาซื้อไปทำไมและเพื่ออะไร ซึ่งเราก็ใช้เวลาแสดงให้เขาเห็นว่าเราเข้ามาพัฒนาทีม มีการปรับปรุงสนามแข่งและสนามซ้อมให้ดีขึ้นกว่าเดิม แล้วสำคัญที่สุดคือให้ทีมชนะในสนามได้เยอะ ๆ เพียงแค่นี้แฟนบอลก็จะรู้สึกแฮปปี้"

รองประธานเลสเตอร์ฯบรรยายว่า ตอนนี้ผู้คนในเมืองเลสเตอร์รักคนไทยมาก เพราะเขามองว่าคนไทยเข้ามาช่วยให้ทีมและธุรกิจในเมืองดีขึ้น เมื่อปีก่อน (2013) มีสื่อสำนักหนึ่งในอังกฤษเขียนเปรียบทีมในแชมเปี้ยนชิพว่า "ใครเป็นเจ้าของที่ดีที่สุด" ซึ่งผลที่ออกมาคือคิง เพาเวอร์ติด 1 ใน 2 นั่นหมายถึงวิธีการบริหารของเราเดินมาในจุดที่ถูกต้องแล้ว

การบริหารเลสเตอร์ฯของคิง เพาเวอร์ในช่วงแรก อัยยวัฒน์ยอมรับว่ายังไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะไม่อยากให้พนักงานของสโมสรต้องตื่นตระหนกจึงเลือกพูดคุยทำความเข้าใจเป็นหลัก

แต่หลังจากผลงานปีแรกของเลสเตอร์ไม่เข้าเป้า ทำให้ต้องตัดสินใจผ่าตัดทีมครั้งใหญ่ ตั้งแต่แนวทางการเล่นของทีม การวางแผนซื้อตัวนักเตะ ระบบแมวมอง เปลี่ยนซีอีโอ การจ้างทีมงานโค้ช รวมทั้งวางระบบให้การหาเงินและใช้เงินบาลานซ์กัน

"ทันทีที่ปลด สเวน-โกรัน อิริกสัน ออกจากตำแหน่งตอนปี 2011 ช่วงนั้นทีมแกว่งมากการตัดสินใจเลือกผู้จัดการทีมคนใหม่จึงยากมาก เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วทีมยังไม่ดีขึ้นคราวนี้มีปัญหาแน่ ๆ เพราะหลายคน เริ่มไม่แน่ใจกับเจ้าของแล้ว ดังนั้น คนที่เข้ามาจึงต้องมีพาวเวอร์ สามารถเปลี่ยนความคิดนักเตะและสตาฟได้ สองต้องทำทีมที่มิกซ์ระหว่างตัวเก๋าและดาวรุ่งได้ จนกระทั่งมาเจอกับไนเจลที่มีแคแร็กเตอร์ตรงกับใจเราทุกอย่าง"

เมื่อถามไปถึงเป้าหมายของเลสเตอร์ฯในปีนี้ อัยยวัฒน์ตอบกลับมาอย่างเรียบง่ายว่า "ขอแค่อยู่รอดในพรีเมียร์ลีกก็พอ" หลังจากนั้น ค่อยขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้ามองจากฟอร์มช่วงออกสตาร์ตที่ผ่านมา 5 นัดแรก รองประธานจิ้งจอกสยามยอมรับว่า "แอบมั่นใจว่าต้องทำได้" แล้วเมื่อไหร่ที่เลสเตอร์ฯอยู่บนลีกสูงสุดนาน ๆ ขึ้น นักเตะฝีเท้าดีก็ตัดสินใจย้ายมาเล่นให้ทีมได้ไม่ยาก

"หลายคนอาจมองว่าความสำเร็จของทีมฟุตบอลขึ้นอยู่กับผู้จัดการทีมเป็นสำคัญ แต่ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่เจ้าของทีมมากกว่า ว่าเข้าใจกีฬาฟุตบอลได้มากแค่ไหน เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ไม่ลอจิกเลย วันไหนเล่นดีก็อาจแพ้ บางจังหวะไม่ฟาวล์แต่กรรมการเป่าให้ก็จบ ซึ่งมันไม่แฟร์ในมุมของนักธุรกิจ แต่ต้องเข้าใจว่ามันเป็นกีฬา ถ้ารับตรงนี้ไม่ได้ก็เหนื่อยและอาจจะเจ๊งได้ ยกเว้นแมนฯ ยูไนเต็ดที่ชนะได้เพราะมีเซอร์ (อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน)" อัยยวัฒน์กล่าวเสียดสีทีมโปรดในวัยเด็ก

สานฝันบอลไทยไปบอลโลก

นอกจากแผนการสร้างทีมเลสเตอร์ฯให้แข็งแกร่งแล้ว อัยยวัฒน์ยังมีความคิดพัฒนาศักยภาพให้กับ "นักเตะเยาวชนไทย" ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อสโมสรด้วยการทำโครงการ "จิ้งจอกสยาม อะคาเดมี" คัดเลือกเด็กไทยอายุไม่เกิน 16 ปี จำนวน 16 คน ไปฝึกซ้อมอยู่ในระบบเยาวชนของทีมเลสเตอร์ฯเป็นเวลา 2 ปีเต็มในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งจะเป็นการลงเล่นกลุ่มเดียวกับทีมใหญ่อย่างแมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และอาร์เซนอล หากใครผลงานเข้าตาก็จะส่งไปเล่นกับทีมในลีกยุโรปอีก 1 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการคว้า "เวิร์กเพอร์มิต" สำหรับค้าแข้งกับทีมชุดใหญ่ต่อไป

"ผมอยากเห็นคนไทยเล่นในพรีเมียร์ลี ก เลยเข้าไปคุยกับทีมงานของสโมสรให้ไปหาวิธีการที่เป็นไปได้มา สุดท้ายได้มา 2 แบบ คือ ดึงตัวมาปั้นตั้งแต่สัก 2 ปี จากนั้นค่อยส่งไปเล่นในยุโรปอีก 1 ปีในตำแหน่งตัวจริง กลับมาก็น่าจะได้เวิร์กเพอร์มิตทำงานในอังกฤษ ส่วนอีกเวย์เป็นทางลัดคือต้องหานักเตะที่เก่งมากจริง ๆ แล้วเรียกนักข่าวมาช่วยกันสร้างกระแสสร้างสตอรี่ให้เอฟเอเห็น ซึ่งอันนี้ค่อนข้างยากเพราะตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครที่เก่งได้ในระดับนั้น"

อย่างไรก็ตาม เยาวชนไทยทั้ง 16 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ ไม่เพียงแค่ได้เข้าร่วมทีมอะคาเดมีเท่านั้น แต่ยังจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำของเมืองเลสเตอร์ด้วย เพื่อเป็นการรองรับในกรณีที่ฝีเท้าไม่เข้าตาแล้วต้องกลับเมืองไทยหลังจบ 2 ปี

"ถ้าเอาเด็กไปเล่นบอลอย่างเดียวเราคงโดนพ่อแม่เขาด่า เราเลยจะให้ทุนกับเด็กเหล่านี้ได้เรียนไปด้วย เพราะอย่างน้อยถ้าไม่เล่นบอลต่อก็ยังมีเครดิตว่าได้เรียนที่อังกฤษ แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเด็กเหล่านี้ถ้าไม่ได้เล่นที่อังกฤษ ก็น่าจะกลับมาเล่นในไทยพรีเมียร์ลีกได้สบาย ๆ"

รองประธานเลสเตอร์ฯ บอกถึงจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ทีมแมวมองของเลสเตอร์ฯเห็นจากเด็กไทย คือ "ร่างกาย" ที่จัดอยู่ในระดับห่วยมาก หากต้องปะทะกันหนักแบบเกมในพรีเมียร์ลีกอาจจะตัวหักได้ ขณะที่เรื่องของ "ฝีเท้า" และ "พรสวรรค์" เยาวชนค่อนข้างมีพร้อมอยู่แล้ว

"การทำโครงการอะคาเดมีของเลสเตอร์ฯจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้เด็กไทยได้อย่างแน่นอน แล้วลองดูกันว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะมีนักเตะผ่านโครงการนี้ทั้งสิ้น 160 คนถามหน่อยว่าทีมชาติไทยจะไม่มีลุ้นไปเล่นฟุตบอลโลกเลยก็ให้มันรู้ไป" อัยยวัฒน์กล่าวปิดท้ายถึงอนาคต "บอลไทยไปบอลโลก" ด้วยน้ำเสียงอันมั่นใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook