แห่โอนที่ดินหลบภาษีมรดก ทั่วประเทศพุ่งเท่าตัว "เยาวราช-สีลม" แชมป์
ภาษีมรดกเขย่าขวัญกระเจิง ตระกูลเก่าแก่ ประชาชนแห่โอนที่ดิน-บ้านให้ทายาทยอดเพิ่ม 100% ย่านเพลินจิต เยาวราช สีลมติดโผ สนง.ที่ดิน กทม.-เชียงใหม่-ปากเกร็ด-บางบัวทอง ยอดจดทะเบียนรับมรดกพุ่ง "คลัง" ชง ครม.กลาง พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกบังคับใช้เป็นรูปธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่อยู่ในภาวะรวยกระจุกแต่จนกระจาย โดยช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานับจากมีกระแสข่าวภาษีมรดกออกมาต่อเนื่อง ส่งผลให้ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์มีนักธุรกิจและประชาชนแห่มาโอนมรดกให้ทายาทอย่างคึกคัก และจดทะเบียนรับให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ทายาท อาทิ ที่ดิน บ้าน คอนโดฯ ฯลฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติมาก
ยอดโอนมรดกพุ่งเท่าตัว
นายถวัลย์ ทิมาสาร รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากกระแสข่าวการจัดเก็บภาษีมรดกส่งผลให้เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีสำนักงานที่ดินบางแห่งมีประชาชนมาติดต่อขอโอนมรดกให้ทายาทและจดทะเบียนรับให้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นกว่าปกติ ยกตัวอย่างสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน 10 เขต อาทิ เขตพระนคร ปทุมวัน บางรัก สาทร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ฯลฯ มีปริมาณงานเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 100% สาเหตุเกิดจากประชาชนยังไม่ทราบว่ากฎหมายภาษีมรดกจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ จึงรีบมาโอนมรดกจำพวกบ้านและที่ดินให้ทายาทล่วงหน้า เนื่องจากกังวลว่าอนาคตอาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันกรณีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวดโอนมรดกให้ลูก หลาน เหลน ลื้อ จะคิดค่าโอน 0.5% ของราคาประเมิน หรือล้านละ 5 พันบาท
แห่โอนที่ดินในเมืองให้ทายาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจสถิติประชาชนที่มาโอนมรดกและจดทะเบียนรับให้ที่สำนักงานที่ดินต่าง ๆ ปรากฏว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯจากเดือนรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้มาจดทะเบียนรับมรดก 102 ราย และ 83 รายตามลำดับ ล่าสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 90-100% เป็น 194 ราย ส่วนสถิติจดทะเบียนรับให้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมามีจำนวน 96 ราย และ 85 รายตามลำดับ เดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 188 ราย
แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ในจำนวนประชาชนมาติดต่อโอนมรดกเดือนกันยายน สังเกตว่าบางรายได้รับมรดกจากพ่อ-แม่หรือศาลมีคำพิพากษาให้ได้รับมรดกมานานหลายปี แต่ไม่เคยติดต่อสำนักงานที่ดินเลยเนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน อย่างไรก็ตาม พอทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายจะจัดเก็บภาษีมรดกก็รีบมาโอนในช่วงนี้
"เท่าที่สังเกตมีประชาชนบางรายเป็นเจ้าของที่ดินในเมืองย่านเพลินจิต เยาวราช สีลม แต่ละรายมาโอนที่ดินหลายแปลงเนื้อที่รวม ๆ 2-5 ไร่ มูลค่าตามราคาประเมินที่ดินน่าตั้งแต่หลายร้อยล้านจนถึงหลักพันล้านบาท บางรายเป็นตระกูลเก่าแก่ที่ยังไม่เคยมาโอนมรดกให้ทายาท จู่ ๆ ก็มาโอนในช่วงนี้" แหล่งข่าวกล่าว
สำนักงานที่ดินยอดโอนพุ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจสถิติสำนักงานที่ดินอื่น ๆ พบว่ามีสถิติโอนมรดกและจดทะเบียนรับให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสำนักงานที่ดินเชียงใหม่มีผู้มาจดทะเบียนรับมรดกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 63 ราย และ 76 ราย เดือนกันยายนเพิ่มเป็น 89 ราย ส่วนสถิติจดทะเบียนรับให้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมมีจำนวน 90 ราย และ 108 ราย เดือนกันยายนเพิ่มเป็น 185 ราย
สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาปากเกร็ด มีผู้มาจดทะเบียนรับมรดกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2557 จำนวน 35 ราย และ 33 ราย เดือนกันยายนเพิ่มเป็น 58 ราย สถิติจดทะเบียนรับให้เดือนรกฎาคม-สิงหาคม มีจำนวน 63 ราย และ 65 ราย เดือนกันยายนเพิ่มเป็น 105 ราย
สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง มีผู้มาจดทะเบียนรับมรดกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 42 ราย และ 40 ราย เดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 116 ราย ส่วนสถิติรับให้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มี 99 ราย และ 109 ราย เดือนกันยายนเพิ่มเป็น 124 ราย
แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้มาจดทะเบียนรับมรดกมีนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงรวมอยู่ด้วย โดยมาโอนที่ดินเปล่ารวมเกือบ 100 ไร่ มูลค่าตามราคาประเมินกว่า 150 ล้านบาท นอกจากนี้ มีบางรายมาโอนที่ดินมรดกรวมประมาณ 20-30 ไร่
ส่งเข้า ครม.กลาง พ.ย.นี้
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลังกล่าวว่าขณะนี้ร่างกฎหมายภาษีมรดกยังอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่ส่งมาให้คลังพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งทางกระทรวงก็จะมีการเสนอปรับปรุงเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถเสนอร่างกฎหมายภาษีมรดกฉบับสมบูรณ์ให้ ครม.พิจารณาอย่างช้าไม่เกินกลางเดือน พ.ย.นี้
ก่อนหน้านี้นายสมหมายยืนยันว่า กฎหมายภาษีมรดกจะบังคับใช้ต้นปี 2558 แน่นอน โดยจะมีระยะเวลาหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 3 เดือน ก่อนจะเริ่มจัดเก็บภาษี
ทั้งนี้ รมว.คลังคาดว่าจะได้รับร่างกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งทางคลังจะเสนอปรับปรุงอีกครั้งโดยมีบางประเด็นที่เห็นว่า ควรต้องเพิ่มเติมยกเว้นอัตราจัดเก็บ 10% คงที่ จะไม่มีการปรับเปลี่ยนเพียงแต่จะดูว่าจะเขียนกฎหมายเปิดช่องให้สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราได้ง่ายขึ้นในอนาคตหรือไม่
นอกจากนี้ คลังเห็นว่าจะต้องปิดช่องโหว่บางประการ เช่น ผู้รับมรดกที่ยังเปิดกว้างอยู่ จนอาจทำให้มีการตั้งนอมินีมารับมรดกเพื่อเลี่ยงภาษีในอนาคตได้ รวมทั้งกฎหมายจะเปิดโอกาสให้ผู้รับมรดกที่ไม่มีเงินพอเสียภาษี สามารถผ่อนชำระได้จนกว่าจะขายที่ดินได้
ขณะที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ร่างกฎหมายภาษีมรดกมีความคืบหน้าแล้ว 80-90% โดยจะยกเว้นภาษีสำหรับมรดกขั้นต่ำ 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจากนั้นจัดเก็บอัตราคงที่ 10%
ภาษีมรดกพายเรือวนในอ่าง
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การสรุปรายละเอียดร่างกฎหมายภาษีมรดก ต้องล่าช้าออกมาจากกำหนดเดิมที่คาดว่าจะเรียบร้อยตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. แต่ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้เนื่องจากในการพิจารณาร่างยังมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปมาตลอด เหมือน "พายเรือวนในอ่าง" ดังนั้นจึงต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเคาะให้ชัดเจนก่อนนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเมื่อต้นเดือน ต.ค.ว่า ไม่เกินกลางเดือน พ.ย.ร่างกฎหมายภาษีมรดกน่าจะเสร็จเรียบร้อย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นสุดท้ายในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรณีมีกระแสข่าวว่าผู้มีมรดกมากเริ่มทยอยโอนทรัพย์สินออกนอกประเทศ นายประสงค์กล่าวว่าตนเองคิดว่าน่าจะเป็นแค่เรื่องพูดกันไป เชื่อว่าการโอนทรัพย์สินไปไว้ต่างประเทศก็คงไม่ใช่เรื่องที่อยากทำกัน เช่นเดียวกับกระแสการโอนที่ดินซึ่งตนมองว่า ถือเป็นสิทธิ์ของประชาชนในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออกมาบังคับใช้
ส่วนกรณีจะเรียกเก็บภาษีจากทรัพย์สินจดทะเบียนอย่างเดียวหรือไม่ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า จะเรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ "มีหลักฐาน" ขณะที่การยกเว้นหรือลดหย่อนจะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งการออกกฎหมายลูกจะมีเวลาให้ดำเนินการภายหลังกฎหมายหลัก หรือหลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว 3 เดือน