"ซีพี"วางแผนตั้งรง.ผลิตยางรถยนต์ ลุยสร้างโรงงานยางแท่งจ.เลย-ซื้อตรงเกษตรกร
CP เตรียมเปิดโรงงานยางแท่งแห่งแรกในไทยที่ จ.เลย กำลังผลิต 40,500 ตัน/ปี มุ่งเป้าทำยาง STR10 ใช้โมเดลสมัครสมาชิกรับซื้อยางจากชาวสวนโดยตรง ตัดวงจรโบรกเกอร์กดราคา ส่งเสริมทำยางก้อนถ้วยคุณภาพ ให้ค่าพรีเมี่ยมสูงกว่าราคาตลาด เผยเล็งตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ในอนาคต
นาย ขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เปิดเผยว่า CP กำลังก่อสร้างโรงงานยางพาราแบบแท่งแห่งแรกของ CP ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กำลังการผลิต 150 ตัน/วัน หรือประมาณ 40,500 ตัน/ปี (ยางแห้ง) ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้ว 52% คาดว่าจะเปิดเดินเครื่องได้ในเดือนมีนาคม 2558 ตรงกับฤดูเปิดกรีดฤดูกาลหน้าของ จ.เลย
นายขุนศรีกล่าวว่า การเปิดโรงงานยางแท่งของ CP ที่ จ.เลยจะไม่ใช้การรับซื้อยางผ่านโบรกเกอร์ แต่เป็นโมเดลใหม่โดยร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.เลย และ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เพื่อเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงให้ทำยางก้อนถ้วยคุณภาพดี พัฒนาดิน ใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร และงดการกรีดยางต้นเล็ก ซึ่งเกษตรกรที่ร่วมเป็นสมาชิกกับ CP จะได้รับค่าพรีเมี่ยมสูงกว่าราคาตลาดเมื่อสามารถผลิตยางคุณภาพให้แก่ CP โดยเบื้องต้นอาจให้เพิ่ม 1 บาท/กก. และเมื่อ CP มาตั้งโรงงานในแหล่งผลิตจะสามารถเข้าไปรับซื้อโดยตรงได้ เป็นการตัดวงจรโบรกเกอร์กดราคาและค่าขนส่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ จ.เลยยังไม่มีโรงงานยางพาราทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าขนส่งไปที่โรงงานใน จ.บึงกาฬประมาณ 4 บาท/กก.
"เราติดต่อเกษตรกรเป็นรายคน แต่เวลาประชุมเราก็พยายามจัดรวมกลุ่มโดยมีหัวหน้ากลุ่ม มีเกษตรกรร่วมกับเราทั้งหมด 7,000 ราย ใน 8 อำเภอซึ่งเป็นเขต 30 กม.รอบโรงงาน พื้นที่รวม 1.5 แสนไร่" นายขุนศรีเผยนายขุนศรีกล่าวว่า CP เลือก จ.เลยเป็นแห่งแรกในการตั้งโรงงานยาง เนื่องจากโมเดลส่งเสริมเกษตรกรโดยตรงแบบนี้ต้องอาศัยเกษตรกรที่พร้อม เปลี่ยนแปลง และ CP เคยมีโครงการส่งเสริมปลูกยาง 1 ล้านไร่ที่ จ.เลยอยู่แล้ว
"เราต้องทำหน้าที่พัฒนาเกษตรกรให้ด้วย ทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพการผลิตเขาเพิ่มขึ้น ได้คุณภาพดี แก้ปัญหาน้ำยางในถ้วยให้สะอาดเพื่อลดต้นทุนโรงงานในการล้างยางหรือตัดแต่ง ยางที่สกปรกด้วย เราก็ต้องพัฒนาเกษตรกรให้ดูแลยางอย่างถูกวิธี"
นาย ขุนศรีเปิดเผยว่า CP ตั้งเป้าหมายในการวิเคราะห์ดินเพื่อทำปุ๋ยสั่งตัดจำหน่ายให้เกษตรกร ว่าจะสามารถเพิ่มอัตราน้ำยางได้ 10% จากเดิมที่สวนยางพาราใน จ.เลยมีอัตราน้ำยางเฉลี่ย 255 กก./ไร่ ซึ่งปุ๋ยสั่งตัดนี้ไม่ได้เป็นการบังคับให้ชาวสวนซื้อจาก CP เท่านั้น แต่ยืนยันว่าค่าปุ๋ยต่อไร่จะลดลงกว่าเดิม เพราะใส่ปุ๋ยตรงกับความต้องการ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจะส่งเสริมให้ชาวสวนใช้ถ้วยรับน้ำยางแบบมีฝาปิดเพื่อกันน้ำฝน แมลง และสิ่งสกปรก
ด้านโรงงานยางพาราแห่งแรกของ CP มีพื้นที่ 134 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย มีเป้าหมายที่จะเป็นโรงงานยางแท่ง STR10 เน้นคุณภาพดีสำหรับส่งออกจำหน่ายให้โรงงานทำยางล้อรถยนต์ สามารถรับยางแห้งได้ 40,500 ตัน/ปี หรือคิดเป็นยางสดกว่า 1 แสนตัน/ปี ขณะที่พื้นที่สวนยาง 1.5 แสนไร่ ซึ่งเป็นสมาชิกของ CP สามารถผลิตยางสดได้ประมาณ 9 หมื่นตัน/ปี ดังนั้นโรงงานนี้ จะสามารถรองรับยางพาราของสมาชิกได้ทั้งหมด"การทำยางแท่งนั้นลดขั้นตอนการ ผลิตมากกว่ายางแผ่น และมีมาตรฐานตรวจวัดชัดเจน เมื่อก่อนประเทศไทยทำเป็นแต่น้ำยางข้นกับยางแผ่น แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นยางแท่งกว่า 80% ต่อไปเทรนด์โลกก็น่าจะเปลี่ยนเป็นยางแท่งเกือบทั้งหมด"
"ตลาดอนาคต เรามุ่งไปสู่การผลิตยางล้อ การจะมุ่งไปเราก็ต้องทำพื้นฐานให้ดีก็คือเรื่องยางแท่งก่อน เป็นวิสัยทัศน์ในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า คิดว่ามีโอกาสที่จะทำเพราะเรามีการร่วมทุนผลิตรถยนต์แบรนด์ MG สายพันธุ์อังกฤษในเมืองไทยอยู่ และเป็นผู้ถือหุ้นอิโตชูส่วนหนึ่ง" นายขุนศรีกล่าว
ด้านนายอภิรัตน์ วงศ์สง่า ประธานกลุ่มยางบ้านภูทับฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวสวนยางที่ร่วมเป็นสมาชิกกับ CP เปิดเผยว่า การทำสัญญากับ CP ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีกว่า สัญญาที่ตกลงกันถือว่าเป็นธรรม มีการระบุไว้ว่า หาก CP ให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด ชาวสวนยางสามารถเลือกไม่จำหน่ายให้กับ CP ได้ และการลงทุนเพิ่มฝาปิดถ้วยรับน้ำยางก็ไม่ใช่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก"โรงงาน CP ยังไม่ตัดสินใจเรื่องราคา แต่จะให้แพงขึ้น อย่างน้อยเรามองว่าคุ้มค่าฝาที่เพิ่มขึ้นมาแน่นอน" นายอภิรัตน์กล่าว
อนึ่งใน จ.เลย ยังมีโรงงานยางของ บ.เซาธ์แลนด์ ในเครือ บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี (STA) กำลังก่อสร้างอยู่ใน จ.เลยเช่นกัน