13 พฤติกรรม ทวงหนี้ "ผิดกฎหมาย"

13 พฤติกรรม ทวงหนี้ "ผิดกฎหมาย"

13 พฤติกรรม ทวงหนี้ "ผิดกฎหมาย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ มุมคิดคนข่าว โดย อังศุ angsu.tul@gmail.com

ข่าวสะเทือนใจ "นางสังเวียน รักษาเพ็ชร์" ตัดสินใจราดน้ำมันเผาตัว หลังจากเข้ามาร้องเรียนปัญหาหนี้สินกับหน่วยงานรัฐในกรุงเทพฯ แล้วไม่ได้รับความสนใจ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. กระทั่งตอนนี้อาการยังโคม่า

เป็นเคสที่ทำให้ต้องมานั่งนึกๆ ดูว่า นอกจาก "อารมณ์ดราม่า" เห็นใจ แค้นใจ สงสาร แล้วพากันชี้นิ้วตำหนิไปที่เจ้าหนี้เงินกู้ที่มีส่วนไม่มากก็น้อย ทำให้เหตุการณ์เศร้าสลดนี้เกิดขึ้นแล้ว

อีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนภาพปัญหาระดับโครงสร้างในการบริหารจัดการทรัพย์สินเงินทองของคนทั่วไปในสังคมไทย เพราะนอกจากนางสังเวียนจะเป็นลูกหนี้แล้ว เธอยังเป็นเครือข่ายเงินกู้นอกระบบ ทำงานร่วมกับเจ้าหนี้ปล่อยกู้ เก็บดอกให้ ด้วยความที่แต่ละคน ใครๆ ก็อยากทำมาหากินให้มีดอกมีผล แต่เธออาจจะพลั้งเผลอ ช่วยเก็บดอกเบี้ยและร่วมลงชื่อในสัญญารับเป็นลูกหนี้เงินกู้ด้วยจึงทำให้ หนี้สินพอกพูนและกลายเป็นแรงกดดันบีบคั้นสุดทนได้

สำหรับลูกหนี้นอกระบบที่ชีวิตไม่ได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายๆ การยอมเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง


เรื่องนี้ทำให้นึกถึง "ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ...." ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีหลักการคือพิทักษ์ปกป้องลูหนี้และสนับสนุนการทำธุรกิจติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม

ในเอกสารประกอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุถึง 13 พฤติกรรมการทวงหนี้นอกระบบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนำมาจากเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จึงขอคัดลอกมานำเสนอ ดังนี้


1) ใช้ผู้มีอิทธิพล กลุ่ม หรือแก๊งอันธพาล ติดตามทวงหนี้ กดดันให้ลูกหนี้หวาดกลัวจนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ

2) ทวงหนี้ในที่สาธารณะหรือต่อหน้าผู้อื่นในลักษณะประจานกับเพื่อนบ้าน ญาติ เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา เป็นต้น

3) ทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ กรรโชก ใช้อาวุธ

4) จ้างเยาวชนว่างงานไม่เรียนหนังสือ ติดยาเสพติดก่อกวนตามหนี้

5) โทรศัพท์ทวงหนี้ในเวลาดึก เช้ามืด ใช้ถ้อยคำหยาบคาย

6) ใช้กำลังประทุษร้าย

7) บังคับให้ชำระหนี้ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เช่น ให้ร่วมหลับนอน ให้ชดใช้ด้วยอวัยวะ หรือให้ทำผิดกฎหมาย ก่ออาชญากรรม ค้ายาเสพติด เป็นต้น

8) แอบอ้างทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแต่งกายเลียนแบบ เพื่อทวงหนี้

9) ประจานให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ด้วยการเปิดเผยความลับ หรือเรื่องส่วนตัวต่อที่สาธารณะ

10) หลอกลวงด้วยการอ้างข้อความอันเป็นเท็จ แอบอ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนจัดทำเอกสารเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร

11) เจ้าหนี้หลอกลวงให้ลูกหนี้ทำสัญญาลงวันที่ย้อนหลัง เพื่อนำไปทำสัญญาประนีประนอมยอมในศาล จนศาลพิพากษาตามยอม แล้วเจ้าหนี้นำคำพิพากษานั้นมาบังคับหนี้ เป็นเหตุให้ลูกหนี้ถูกบังคับคดี หรือยึดทรัพย์สิน

12) มีพฤติกรรมปกปิด อำพราง วางแผนเอารัดเอาเปรียบ หรือจ้างวานผู้อื่นกระทำผิด จนทำให้ลูกหนี้ไม่กล้าร้องทุกข์แจ้งความ

13) เจ้าหนี้แจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการก่อน ทำให้ในบางกรณีใบแจ้งความถูกใช้เป็นหลักฐาน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเชื่อว่าเจ้าหนี้เป็นฝ่ายถูกและทำให้ลูกหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม


หากพบพฤติกรรมเหล่านี้ ลูกหนี้ต้องระมัดระวังและเก็บทุกอย่างไว้เป็นหลักฐานเพื่อป้องกันตัวเอง เพราะถึงแม้จะมีกฎหมายบังคับเอาผิด แต่จุดเริ่มต้นคือลูกหนี้ต้องไม่ประมาทด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook