เอสเอ็มอีชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบุกเมียนมาร์ งัดกลยุทธ์เกาะติดธุรกิจญี่ปุ่น
ในระยะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มของสินค้า อุปกรณ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ส่งออกไปเมียนมาร์มีอัตราการเติบโตสูงมาก ถ้าดูจากตัวเลขของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รถยนต์ และอุปกรณ์ส่งประกอบมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 46.03% โดยตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค. 2557 ที่ผ่านมา ส่งออกไปแล้ว 99.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,200 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32.50 บาท) อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจเมียนมาร์จะขยายตัวถึง 7.8 ในปี 2558 ด้วย
ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมก็เห็นปรากฏการณ์ตรงนี้ และเรียกการเปิดตัวครั้งนี้ว่า "กลยุทธ์กอดขาโต๊ะญี่ปุ่น"
คุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมสนับสนุน ที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการ 57 ราย จากผู้ประกอบการทั้งหมด 100 ราย ไปออกงานแสดงสินค้า Intermach Myanmar 2014 and Subcon Myanmar 2014 ที่ประเทศเมียนมาร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวถึงเป้าหมายของการไปเจาะตลาดเมียนมาร์ใน 2 ตลาดหลัก คือ การไปกับธุรกิจของญี่ปุ่นในกลุ่มของรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไปลงทุนในเมียนมาร์ อีกส่วนก็คือ หาพันธมิตรนักธุรกิจชาวเมียนมาร์อีกด้วย
"ญี่ปุ่นเองมีแผนที่จะกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจคือ ไม่กระจุกตัวอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง มีทั้งไทย เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไปตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในพม่าแล้ว"
"ประเทศพม่ายังรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของญี่ปุ่นไม่ได้ ดังนั้นโรงงานที่ใช้แรงงานหรือใช้เทคโนโลยีไม่สูงมาก และค่าแรงไม่แพงก็จะมาตั้งอยู่ที่พม่า ในขณะที่ชิ้นส่วนต่างๆ ก็จะส่งมาจากประเทศไทย ซึ่งเราได้เปรียบในเรื่องของโลจิสติกส์"
นอกจากนี้ ประเทศพม่ายังมีความต้องการสินค้าอื่นๆ อีกด้วย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยานยนต์ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนจักรยาน
ขณะที่ คุณสมเกียรติ ชูพรรคเจริญ นายกสมาคมรับช่วงการผลิตไทย กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจเมียนมาร์กำลังขยายตัว และเขาต้องการอุปกรณ์พื้นฐาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น สุขภัณฑ์ต่างๆ อุปกรณ์ต่อเติมบ้าน นอต สกรู ด้านพลังงาน ต้องการเครื่องปั่นไฟที่จะใช้ในร้านอาหาร ร้านค้า
ขณะที่บรรยากาศเมืองย่างกุ้ง พบว่า มีการก่อสร้างโรงแรมหลายแห่ง เช่น กลุ่มทุนจากเวียดนามกำลังก่อสร้างโรงแรมมูลค่ากว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ มีจำนวนห้องราว 1,000 ห้อง โรงแรมแชงกรี-ลาที่กำลังก่อสร้างไปกว่า 80 % และมีห้างสรรพสินค้าขนาดกลางราวๆ 10 แห่งโดยที่ผ่านมาโรงแรมไม่เพียงพอต่อการเข้ามาของนักลงทุน และกลุ่มนักท่องเที่ยวทำให้การก่อสร้างโรงแรมที่พักมีมาต่อเนื่อง
คุณสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการบริษัทยูบีเอ็ม เอเซีย (ประเทศไทย) ผู้จัดงาน Intermach Myanmar and Subcon Myanmar 2014 กล่าวว่า เราพยายามที่จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยเติบโต การที่พาผู้ประกอบการไทยมาออกบูท รวมทั้งการจัดให้มีเวิร์กช็อปอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ด้วยว่าใช้อย่างไร ซึ่งจะดึงดูดให้ผู้ประกอบการพม่าสนใจ
สำหรับปีหน้า คุณสรรชายยังกล่าวด้วยว่า จะยังจัดงาน Intermach Myanmar and Subcon Myanmar ต่อเนื่อง เพราะเทรนด์ของญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนในเมียนมาร์เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และไม่นานก็จะมีการลงทุนในส่วนอื่นๆ เช่น ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งไทยเองมีความถนัดตรงจุดนี้