เปลี่ยนกล้วยให้เป็นเงิน? เมื่อเรื่อง "กล้วยกล้วย" กลายเป็นเรื่องระดับชาติ!
เมื่อเรื่อง "กล้วยๆ" ไม่ใช่เรื่อง "กล้วยๆ" อีกต่อไป อ่านแล้วอย่างเพิ่งงงครับ เพราะนอกเหนือจากพรรณไม้นานาชนิด เทคโนโลยีเกษตรหาดูยากแล้ว ความสร้างสรรค์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ถือเป็นอีกหัวใจหลักที่งาน "มหัศจรรย์ พรรณพืชทั่วไทย" จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้นำเสนอแก่ผู้ร่วมงาน โดยวันที่ 7 พ.ย. ภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "เปลี่ยนกล้วยให้เป็นเงิน" กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโพธิ์รังนกสามัคคี จากจังหวัดอ่างทอง ที่จะมาพูดถึงผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากเศษ "ต้นกล้วย" เหลือทิ้ง ให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่า ที่สวยงามเตะตาส่งออกไปไกลถึงเมืองนอก ไอเดียนี้มาจากไหน และเหตุใดถึงนำกล้วยมาต่อยอดเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ลองไปฟังจากปาก "ป้าอารมย์" หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านฯ กันเลย
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้น ไอเดียที่นำ "เศษกาบกล้วย" ที่มองยังไงก็ไม่น่าจะนำไปใช้งานได้ จับนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มีราคาหลักร้อยไปจนถึงพัน ป้าอารมย์ ศิริบุตร หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโพธิ์รังนกสามัคคี จ.อ่างทอง เล่าว่า
ไอเดียแรกเริ่มต้องย้อนกลับไปว่า ทางชุมชนแต่ละครัวเรือนมีการปลูกกล้วยกันเกือบ 100% ที่นอกเหนือจากส่วนใบตอง ที่สามารถนำไปขายหรือแปรรูป เย็บเป็นกระทงขายตามเทศกาลแล้ว ส่วนของลำต้นก็ยังใช้ได้เช่นกัน แต่ส่วนที่เหลือจริงๆ คือกาบใย ที่เหลือทิ้งแต่ละวันเยอะมาก เราเลยมาคิดว่าจะทำยังไงกับส่วนที่เหลือ และต้นกล้วยที่ไม่ใช้ดี ซึ่งเรามีพื้นฐานงานฝีมือจากการทำดอกไม้ประดิษฐ์มาก่อน เลยลองดัดแปลงเป็นดอกไม้ประดิษฐ์จากเศษกล้วย ซึ่งลองผิดลองถูกอยู่สองปีเต็ม กว่าจะออกมาสำเร็จชิ้นแรก
จากเศษกล้วยไร้ราคา สู่ดอกกุหลาบหลักร้อย?
ผลงานแรกๆ เป็นพวกดอกกุหลาบ ใบบัวสาย บัวหลวง ที่สามารถใช้ "ทุกส่วน" ของต้นกล้วยมาทำได้ โดยเฉพาะใบและลำต้น ขั้นตอนคือมาสับรวมๆ กันจนละเอียด จากนั้นนำไปต้มสามชั่วโมง ใส่สารโซเดียม เบนโซเอต 1 ช้อน และเอาไปขึ้นแผ่น เป็นลักษณะเดียวกับการทำกระดาษสา
ส่วนบริเวณ "ก้าน" ที่ไม่ได้ใช้ เราก็นำมาดัดแปลงเป็นดอกทานตะวันก้านกล้วย ดอกกล้วยไม้มาดาม ส่วนใบตองของเราจะไม่ใช้ใบตองแห้งที่ติดลำต้น แบบนั้นทำให้ติดเชื้อราแน่นอน แต่เราจะใช้ใบตองสด เอามาตาก-นึ่ง-อบ ก่อนถึงขั้นตอนการทำ
เส้นใย...ใครว่าไม่สำคัญ?
หลังผลิตดอกไม้จากเศษกล้วยจนอยู่มือ เริ่มคิดว่าว่าเราควรจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บ้าง บวกกับเราได้เข้าไปอบรมเรื่องเส้นใยที่กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนำไอเดียมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น เช่นกระเป๋า วอลเปเปอร์ เสื้อผ้า
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำเส้นใยผิวของกล้วยมาตีเรื่อยๆ และขูดจนออกมาเป็นเส้นคล้ายๆ ใยไหม แต่ถ้ามันมีลักษณะเนื้อหยาบ เราจะนำไปทอเป็นวอลเปเปอร์ แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้า กระโปรง ต้องนำเส้นไหมมาผสมก่อนเพื่อเพิ่มความนุ่มนวลเข้าไป เนื่องจากเส้นใยเปล่าๆ จากกล้วยค่อนข้างแข็งกระด้าง ทำให้ทอได้ยาก ใช้เวลาเยอะ ปกติเส้นไหมจะทอได้ความยาวหลักคืบเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าใยกล้วยจะได้แค่ 2-3 นิ้ว จึงใช้เวลามากกว่าปกติและราคาก็สูงตามไปด้วย ซึ่งตอนนี้มีคนสั่งไปทำกระเป๋าแฟชั่น ชุดไทย ซึ่งทั้งหมดแปรรูปมาจากเศษกล้วย ที่ดูไม่มีคุณค่าอะไร และไม่มีใครคิดว่าจะใช้งานได้ ซึ่งมีราคามูลค่าถึงเมตรละ 5000 บาทเลยทีเดียว
กล้วยไทย...ไปถึงต่างประเทศ
สินค้าทั้งหมดขายทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังอังกฤษและเช็ก ทางอังกฤษจะชอบสีธรรมชาติมาก หากซื้อที่อ่างทองจะราคา 100 บาท แต่ปลายทางกรุงเทพหรือต่างประเทศจะถูกอัพขึ้นตามลำดับ
ตอนนี้ทางมหิดลกำลังช่วยเราต่อยอดแนวคิด และดีไซน์รูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ถูกใจชาวต่างชาติ แถมยังเข้ามาสนับสนุนให้เป็นธุรกิจส่งออก เพราะมีหลายคนยังไม่รู้ว่าต้นกล้วยสามารถนำมาใช้แปรรูป เปลี่ยนเป็นรายได้แก่ชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่หลักพัน แต่ต่างประเทศสั่งกันเป็นหมื่นช่อ(ดอกไม้ประดิษฐ์) รายได้อยู่ในระดับล้านบาท อีกทั้งกระทรวงพาณิชยังเข้ามาช่วยอีกแรง ทำให้ชาวต่างชาติมาเห็นผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น โดยตลาดใหญ่ของเราอยู่ที่อังกฤษ ส่วนคนญี่ปุ่นก็ชอบเช่นกัน แต่ญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่มีระเบียบและพิถีพิถันมาก ขนาดกลีบและดอกต้องเนี๊ยบหมดเลย ซึ่งการเข้ามาช่วยของแต่ละฝ่าย ทำให้เรารู้รสนิยม ความต้องการของแต่ประเทศ ซึ่งเป็นผลดีต่อเรามาก ในการนำไปปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่อไป
ใครจะเชื่อว่าเรื่อง "กล้วยๆ" ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ของต้นกล้วยที่มีอยู่มากมายในบ้านเรา แต่แค่พลิกความคิด เข้าใจในวัตถุดิบที่มีอยู่ ก็สามารถแปรรูปสิ่ง "ไร้ค่า" ให้กลายเป็นมี "มูลค่า" ได้แบบไม่น่าเชื่อ แถมยังสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ตามความต้องการของตลาด สำหรับใครที่สนใจผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโพธิ์รังนกสามัคคี จ.อ่างทอง สามารถไปลองทำ เรียนรู้ ศึกษาได้จาก คุณป้าอารมณ์ได้เลย ที่ 149 หมู่ 3 ตำบลโพธิ์รังนก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง หรือกริ๊งกร๊างไปที่ 081-852-9218 ได้เลย
ใครสนใจงานพืชพรรณเกษตรกลางเมืองที่มีทั้งความรู้ ได้ชิมและช็อป เชิญมาร่วมงาน "มหัศจรรย์พรรณพืชทั่วไทย" จัดโดย นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 9 พ.ย. 2557 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 5 เซ็นทรัล ลาดพร้าว
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ