ส่องผลตอบแทนกองหุ้นนอก ยุโรปติดลบ-สหรัฐขั้นเทพ
นักลงทุนนิยมกระจายพอร์ตไปยังต่างประเทศมากขึ้น ปัจจุบันก็เริ่มเห็น บลจ.หลายแห่งเสนอขายกองทุนที่มีความหลากหลาย และมีการกระจายในประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น
แม้ปีนี้ ตลาดหุ้นไทยจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้เหนือความคาดหมาย สะท้อนจากดัชนีที่ทะยานขึ้นกว่า 20% นักลงทุนไทยทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นนักลงทุนย่อมเข้าใจดีว่าไม่มีตลาดใดที่ปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการเริ่มมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด และส่งผลให้สัญญาณเงินทุนไหลออกเริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน
ปีนี้ถือเป็นอีกปีทองที่กระแสคนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกลงทุนเพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นอื่นๆ ซึ่งจะเห็นการเคลื่อนไหวของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในปีนี้ออกกองทุนลงทุนต่างประเทศจำนวนมากขึ้น
จากการเปิดเผยข้อมูลของ "นายพีร์ ยงวณิชย์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 31 ต.ค. 2557 พบว่านักลงทุนได้เข้าไปซื้อกองทุนต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 44,684 ล้านบาท
โดยประเทศที่กองทุนไทยเข้าไปลงทุนสูงสุด (ดูตาราง) คือกองทุนหุ้นยุโรป นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนจำนวนมาก โดยมีมูลค่าเงินไหลเข้ากว่า 1.48 หมื่นล้านบาท ตามด้วยกองทุนหุ้นญี่ปุ่น, กองทุนหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) กองทุนหุ้นสหรัฐ กองทุนหุ้นทั่วโลก ส่วนกองทุนหุ้นจีนอยู่อันดับ 6
ขณะที่กองทุนหุ้นในตลาดเกิดใหม่ พบว่ามีเม็ดเงินไหลออกสุทธิ 69 ล้านบาท
หากพิจารณาด้านมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนหุ้นต่างประเทศมียอดรวมทั้งสิ้น 79,849 ล้านบาท โดยแชมป์ก็ยังเป็นกองทุนหุ้นยุโรป มีมูลค่าสินทรัพย์ 18,400 ล้านบาท รองลงมาเป็นกองทุนหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) มูลค่า 15,428 ล้านบาท กองทุนหุ้นจีน 12,477 ล้านบาท กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 12,250 ล้านบาท กองทุนหุ้นสหรัฐ 12,052 ล้านบาท กองทุนหุ้นทั่วโลก 6,940 ล้านบาท และกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ 2,302 ล้านบาท
"ตอนนี้นักลงทุนนิยมกระจายพอร์ตไปยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งก็ดีกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัวอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัจจุบันก็เริ่มเห็น บลจ.หลายแห่งเสนอขายกองทุนที่มีความหลากหลาย และมีการกระจายในประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น เยอรมนี ไต้หวัน ฯลฯ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ช่วยกระจายความเสี่ยงให้นักลงทุนได้" นายพีร์กล่าว
พร้อมทั้งแนะให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของประเทศที่เข้าไปลงทุนด้วย ซึ่งจากการประเมินกองทุนหุ้นต่างประเทศที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดในช่วง 10 เดือนปีนี้ พบว่าผลตอบแทนของกองทุนหุ้นสหรัฐขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ซึ่งเฉลี่ยสูงถึง 8.14% ส่วนกองทุนหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ให้ผลตอบแทนประมาณ 7.64% ขณะที่กองทุนหุ้นจีนอยู่ราว 2.11% แต่ว่ากองทุนหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนติดลบ 3.41% รวมถึงกองหุ้นญี่ปุ่นด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีกระแสความต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับช่วงปีที่ผ่านมา บลจ.หลายแห่งได้ออกกองทุนรวมประเภทใหม่ ๆ ทางมอร์นิ่งสตาร์ฯจึงได้จัดทำข้อมูลเพื่อให้นักลงทุนติดตามได้ดีขึ้น จึงแบ่งกลุ่มกองทุนใหม่เป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.กองทุนหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) 2.กองทุนหุ้นจีน 3.กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ 4.กองทุนหุ้นยุโรป 5.กองทุนหุ้นทั่วโลก 6.กองทุนหุ้นญี่ปุ่น และ 7.กองทุนหุ้นสหรัฐ
จากเดิมแบ่งกลุ่มเพียง 3 ประเภท คือ กองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) และกองทุนหุ้นเอเชีย
"บริษัทคาดว่าหลังจัดประเภทกองทุนแล้วจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนของแต่ละประเทศได้อย่างละเอียดขึ้น"
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การจัดประเภทกลุ่มกองทุนใหม่ (Morningstar Category) จะเปรียบเทียบกองทุนที่มีสินทรัพย์การลงทุนที่เหมือนกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มพิจารณาจากพอร์ตโฟลิโอการลงทุนจริงของกองทุนทุกกอง
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของข้อมูลธุรกิจกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมอร์นิ่งสตาร์ฯตอบโจทย์การขยายตัวของอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์กองทุนรวมใหม่ ๆ ที่มีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือให้นักลงทุนมอนิเตอร์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในแต่ละประเทศได้ดีขึ้น