ปลดล็อก"คนคำประกัน" สนช.ผ่านกม.ใหม่-แบงก์ผวาเสี่ยงให้กู้

ปลดล็อก"คนคำประกัน" สนช.ผ่านกม.ใหม่-แบงก์ผวาเสี่ยงให้กู้

ปลดล็อก"คนคำประกัน" สนช.ผ่านกม.ใหม่-แบงก์ผวาเสี่ยงให้กู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์ ผวากฎหมายใหม่ปลดล็อกคนค้ำประกัน-จำนองคุ้มหนี้ ชี้ปล่อยกู้ลูกค้าต้องรับความเสี่ยงเพิ่ม สั่งรื้อเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อ-ติดตามทวงหนี้เข้ม กลุ่มเอสเอ็มอี-รายย่อยจ่อเจอแจ็กพอต ถูกลดวงเงินกู้-เรียกหลักทรัพย์เพิ่ม ชี้เป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างหนี้จุดชนวนเอ็นพีแอลพุ่ง นัด ธปท.ถกรับมือด่วน 18 พ.ย.ชี้ ด้าน ธอส.ฟันธงไม่กระทบคนซื้อบ้าน

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ว่าด้วย ค้ำประกัน และจำนอง ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา และขณะนี้ผ่านการพิจารณาวาระ 3 อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับสถาบันการเงินทั้งระบบ เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายที่แก้ไขใหม่หลายมาตรา ซึ่งจะบังคับใช้แทนบทบัญญัติใน ปม.แพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบัน จะคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน และผู้จำนองซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรงมากขึ้น ขณะที่เจ้าหนี้จะมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายใหม่ลดทอนสิทธิเจ้าหนี้ในการบังคับหนี้จากผู้ค้ำประกันและผู้จำนองลงกว่าเดิมมาก

กม.ใหม่ปลดล็อกค้ำประกัน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า บทบัญญัติใน ปม.แพ่งฯ ที่ปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด 17 ประเด็น และผ่านการพิจารณาของ สนช. อาทิ บทบัญญัติมาตรา 681, 686, 691, 700, 727, 728, 729, 735, 737 และ 744 เป็นต้น สาระสำคัญ อาทิ

1.เจ้าหนี้ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน ในหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งลูกหนี้อาจผิดนัดชำระ ไว้ในข้อตกลงปล่อยสินเชื่อ เช่น วัตถุประสงค์ในการก่อหนี้ค้ำประกัน ลักษณะมูลหนี้ วงเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน ระยะเวลาค้ำประกัน ฯลฯ จากเดิมกฎหมายให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมด

2.ให้ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้เป็นโมฆะ จากเดิมให้ผู้ค้ำต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้

3.ให้ข้อตกลงที่เป็นภาระเกินสมควรต่อผู้ค้ำประกันหรือจำนองเป็นโมฆะ จากปัจจุบันเจ้าหนี้มักทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่างไปจากบทบัญญัติลักษณะที่ค้ำประกัน ทำให้เป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันเกินสมควร

4.กรณีลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้ไม่ทำหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันใน 60 วัน ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ฯลฯ จากเดิมลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้เรียกผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันที

5.ให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากที่เจ้าหนี้ลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ จากปัจจุบันเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ โดยไม่ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบ ทำให้ผู้ค้ำประกันสามารถปลดเปลื้องหนี้จำนวนที่ลดลงได้ 6.ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอน และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ฯลฯ จากปัจจุบันเจ้าหนี้อาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจกำหนดให้ผู้ค้ำต้องรับผิดมากเกินควร

7.ให้ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นไม่ต้องรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนอง จากปัจจุบันเจ้าหนี้บังคับจำนองได้ไม่คุ้มหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระ มักอาศัยความได้เปรียบบีบบังคับผู้จำนองซึ่งจำนองประกันหนี้บุคคลอื่น ให้ต้องรับผิดแทน

8.ก่อนบังคับจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวผู้จำนองทรัพย์สินประกันหนี้บุคคลอื่นทราบใน 15 วัน นับแต่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ หากเกินกำหนดให้ผู้จำนองหลุดพ้นความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน จากปัจจุบันเจ้าหนี้ไม่ต้องแจ้งผู้จำนอง

9.หลังหนี้ถึงกำหนดชำระ ผู้จำนองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล และผู้รับจำนองต้องขายทอดตลาดทรัพย์ภายใน 1 ปี จากกฎหมายปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติให้ผู้จำนองขอให้มีการบังคับจำนองได้ ทำให้เจ้าหนี้เลือกไม่บังคับจำนอง เพราะหวังได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและถ้าผู้รับจำนองไม่ขายทอดตลาดในระยะเวลากำหนด ให้ผู้รับจำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น

ธปท.ขอดูผลกระทบ

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทราบว่าร่างแก้ไข ปม.แพ่งฯ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้ มีเป้าหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเคารพ อย่างไรก็ตาม ในแง่การดูแลสถาบันการเงิน ธปท.กำลังติดตามดูผลกระทบ เพราะมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพ (Prudence) ของระบบสถาบันการเงินเป็นสำคัญ ขณะที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ต้องหาทางรับมือ เพราะอาจมีผลโดยตรงต่อการดำเนินกิจการ

"เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ต้องค่อย ๆ พิจารณาเพราะกฎหมายออกมาแล้ว แต่หากใช้กฎหมายแล้วมีผลกระทบกับความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ธปท.ก็ต้องเข้าไปดูแล แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกแนวปฏิบัติหรือประกาศใด ๆ เพราะทุกแบงก์มีนักกฎหมายเก่ง ๆ ดูแลผลประโยชน์ธุรกิจอยู่แล้ว"

ส่วนข้อสังเกตว่า อาจมีผลเปิดช่องให้ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ หรือมีคนไร้วินัยในการชำระหนี้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินนั้นอาจเกิดผลทางอ้อมได้ ซึ่ง ธปท.ต้องติดตามและพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะการจะออกกฎเกณฑ์มาควบคุมกำกับคนไม่ดีไม่กี่คน แล้วกระทบคนส่วนใหญ่ที่ควรได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอาจไม่ถูกต้อง

แบงก์ชี้กระทบขอสินเชื่อ SMEs

ด้านความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่เปิดเผยว่า หากประกาศใช้ ปม.แพ่งฯ ที่แก้ไขใหม่ จะมีผลกระทบ 2 เรื่องหลัก คือ 1.จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองมากขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าหนี้

สถาบันการเงินเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้เต็มที่ ก่อนบังคับหนี้จากผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันเพียงพอในการยื่นขอสินเชื่อ ทำให้ต้องมีผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองเพิ่ม เมื่อสิทธิในการเรียกชำระหนี้จากผู้ค้ำและผู้จำนองมีข้อจำกัดมากขึ้น การอนุมัติวงเงินกู้จะยากขึ้นด้วยหรืออย่างเจ้าหนี้นำทรัพย์สินซึ่งถูกจำนองประกันหนี้บุคคลอื่นออกขายทอดตลาดใช้หนี้ หากได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ยังขาดอยู่ แต่เอสเอ็มอีรายเล็กส่วนใหญ่จำเป็นต้องอาศัยการค้ำประกันและการจำนองทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่ออยู่เมื่อบทบาทของผู้ค้ำประกัน ผู้จำนองลดลงสถาบันการเงินอาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้น้อยลง

2.กฎหมายฉบับใหม่จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการประนีประนอม ซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น เพราะต้องใช้ระยะเวลา ทำให้สถาบันการเงินไม่อยากเสี่ยง จึงเลือกที่จะฟ้องร้องในชั้นศาลเลย ดังนั้นในอนาคตจึงจะเห็นการฟ้องร้องกันมากขึ้น

เรียกหลักทรัพย์ค้ำหนี้เพิ่ม

"ที่ผ่านมาการขอสินเชื่อของเอสเอ็มอีมักเป็นการกู้ยืมในนามของบริษัท แต่ทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกันจะเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในนามบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพย์ของเจ้าของบริษัทเอง เมื่อกฎหมายใหม่จำกัดกรอบการติดตามทวงหนี้จากผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ทำให้แบงก์เกรงว่าจะไม่สามารถบังคับให้ผู้ค้ำหรือผู้จำนองมาชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้"

นอกจากนี้ยังทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น เพราะมีขั้นตอนดำเนินงานยุ่งยากขึ้น อาจต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้มากขึ้น การปล่อยสินเชื่อในอนาคตก็อาจต้องเรียกหลักประกันที่คุ้มค่ามากขึ้น หรือหากไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่มได้ก็อาจใช้วิธีการให้ผู้ค้ำประกัน หรือผู้จำนองเป็นลูกหนี้ร่วมก็เป็นได้

"ผลกระทบกับสถาบันการเงินค่อนข้างเยอะ หากบังคับใช้จริงจะทำให้เกิดความวุ่นวายพอสมควร เพราะสถาบันการเงินต้องปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ ตั้งแต่วิธีการหาลูกค้า แนวทางอนุมัติสินเชื่อ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การติดตามทวงหนี้"

ธปท.นัดหารือแบงก์ 18 พ.ย.

แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่ 18 พ.ย.นี้ ธปท.จะเรียกสมาชิกสมาคมธนาคารไทยเข้าหารือผลกระทบของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์แสดงความคิดเห็นซึ่งไม่น่าจะเกิดประโยชน์ เพราะกฎหมายผ่านขั้นตอนการพิจารณาอยู่ระหว่างรอบังคับใช้แล้ว ต้นปีที่ผ่านมาภาครัฐก็เคยเรียกสมาคมเข้าไปหารือแล้วถึง 2 รอบ แต่สุดท้ายกฎหมายก็ออกมาเหมือนเดิม

ด้านนายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างให้ทีมกฎหมายศึกษาว่าจะส่งผลกระทบกับธนาคารในส่วนไหนอย่างไรบ้าง และต้องปรับตัวในทิศทางไหน แต่ยอมรับว่ากระทบเอสเอ็มอีมากพอสมควร และทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมหากผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย ยังสามารถติดตามทวงหนี้กับผู้ค้ำประกันได้เต็มวงเงินของมูลหนี้ และไม่มีกรอบเวลาในการติดตามทวงหนี้ แต่กฎหมายใหม่ลดบทบาทผู้ค้ำประกันลง และต้องเร่งติดตามหนี้ตามกรอบเวลาที่จำกัด จึงเสี่ยงมากขึ้น

ดังนั้นอาจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าใหม่ เพราะหากยังเลือกลูกค้ากลุ่มเดิมที่ต้องใช้บุคคลอื่นเข้ามาช่วยค้ำประกันก็มีความเสี่ยง วิธีแก้ก็อาจต้องมีการเรียกเอกสารเพิ่มเติม ลดวงเงินสินเชื่อ หรือปฏิเสธสินเชื่อ

สอดคล้องกับที่นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ ระบุว่า มองว่าจะกระทบกับการปล่อยสินเชื่อทำให้ธนาคารต้องปรับตัว ปรับขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ กระทั่งการติดตามทวงหนี้ใหม่ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายน่าจะสูงขึ้น

"เราให้ทีมกฎหมายดูอย่างละเอียดอยู่ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่น่าจะเยอะพอสมควร เพราะทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานยุ่งยากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่เจ้าของบริษัท พนักงาน หลักทรัพย์ค้ำประกันแทบจะเป็นชิ้นเดียวกัน หรือบุคคลเดียวกัน อาจจะทำให้การขอสินเชื่อทำได้ยากขึ้น" นายศักดิ์ชัยกล่าว

ชี้เพิ่มภาระเงินกลุ่มตามหนี้

ส่วนนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในเครือธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าส่วนตัวมองว่ากฎหมายใหม่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ค้ำประกันเพราะลดภาระผู้ค้ำ ส่วนของบริษัทอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ แต่เชื่อว่ากลุ่มที่จะต้องปรับตัวมากคือกลุ่มติดตามหนี้ เพราะจะยุ่งยากมากขึ้น และมีกระบวนการที่ต้องทำตามกรอบเวลามากขึ้น แต่คงไม่ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากนัก

ธอส.ชี้กระทบปล่อยกู้ซื้อบ้านน้อย

นายคนึง ครุฑาโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้ความเห็นว่า ปม.แพ่งฯ ฉบับใหม่จะทำให้สถาบันการเงินทั้งระบบ ขั้นตอนกระบวนการในการพิจารณาสินเชื่อ การติดตามทวงหนี้ หรือบังคับคดีเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่กระทบมากนัก เพราะส่วนใหญ่หลักประกันเงินกู้จะเป็นบ้าน หรือคอนโดฯ ที่ลูกหนี้ใช้จดทะเบียนจำนองหนี้ อาจกระทบบ้างหากเป็นกรณีการกู้ที่ต้องอาศัยผู้ค้ำประกัน หรือผู้จำนองที่ไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของ ธอส.กำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมปรับกระบวนการต่าง ๆ รองรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook