งัดโปรเจ็กต์แก้เมืองอัมพาต สลับเวลาทำงานพื้นที่กทม.-ทุ่มแสนล.ผุดBRT-โมโนเรล6จังหวัด
คมนาคม เร่งแก้ปัญหารถติดเขต กทม.-ปริมณฑล ขยายผลพื้นที่ 6 เมืองหลัก "เชียงใหม่-โคราช-ขอนแก่น-พิษณุโลก-ภูเก็ต-สงขลา" หลังเมืองโตไม่หยุด เผยนโยบายรถคันแรก ดันปริมาณรถเพิ่ม 2 เท่าตัว ทะลุกว่า 8.55 ล้านคัน ผุดสารพัดโปรเจ็กต์รับมือจราจรอัมพาต ทำงานสลับเวลา คู่มือก่อสร้าง ถนน สะพานข้ามแม่น้ำ ทางด่วน บีอาร์ที รถราง โมโนเรล คาดลงทุนเฉียด 1 แสนล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จะเร่งแก้ปัญหารถติดพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึง 6 เมืองหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก และสงขลา จะสรุปโครงการที่จะดำเนินการแต่ละพื้นที่เสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุมัติในเร็ว ๆ นี้
เมืองใหญ่-กทม.ปัญหาไม่ต่างกัน
"ต่างจังหวัดเมืองขยายตัวมาก เพราะคนอยู่อาศัยเยอะ มีปัญหารถติดเหมือนกรุงเทพฯ ต้องเร่งแก้ไข สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑลต้องเร่งแก้ด่วน เพราะคนเริ่มบ่นหลังมีรถเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว อยู่ที่ 8.55 ล้านคัน จากนโยบายรถคันแรก ยังมีสร้างรถไฟฟ้าหลายสายบนถนนหลัก เช่น จรัญสนิทวงศ์ ปีหน้าจะมีสร้างอีกหลายโครงการ จะประสาน กทม. ตำรวจจราจร ทำคู่มือก่อสร้างช่วงกลางวันและกลางคืน"
นายอาคมกล่าวว่า วันที่ 11 พ.ย.ได้เปิดตัว "สาทรโมเดล" โครงการต้นแบบแก้ไขการจราจรพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คมนาคมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเอกชนดำเนินการ เนื่องจากถนนสาทรรถติดมาก จึงกำหนดเป็นพื้นที่นำร่อง
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การแก้รถติดกรุงเทพฯและปริมณฑลมี 3 ระยะ คือ 1.เร่งด่วน เช่น มาตรการทำงานเหลื่อมเวลา 2.ระยะกลาง 1-3 ปี จะแก้ 257 ทางแยกที่เป็นจุดวิกฤตและเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามแผนแม่บท เช่น เกียกกาย และ 3.ระยะยาวจะดำเนินการหลังรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ เช่น จำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เช่น เก็บค่าใช้ถนน รวมถึงมาตรการด้านผังเมืองกำหนดการพัฒนาให้เมืองขยายตัวไปรอบนอกมากขึ้น
โคราชผุดขนส่งมวลชน 4 พัน ล.
สำหรับปัญหาจราจร 6 เมืองหลัก คาดว่าเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุน 94,315 ล้านบาท ในส่วน "นครราชสีมา" เป็นศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ คมนาคมและอุตสาหกรรมของอีสานตอนล่าง ในพื้นที่เขตเมืองและรอบนอกมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวตั้งและแนวราบ
"แก้ปัญหาเร่งด่วนคือกวดขันวินัยจราจร เช่น จัดระเบียบที่จอดรถ ติดป้ายจราจร ระยะกลางจะพัฒนาโครงข่ายถนนเขตผังเมืองและปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจร" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ระยะยาวจะจัดระเบียบและพัฒนาระบบรถโดยสารประจำเส้นทางหลัก ใน 5 ปีแรก มี 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (ราชสีมาวิทยาลัย-บ้านเกาะ) 13.94 กม. และสีฟ้า (โคกกรวด-ราชสีมาวิทยาลัย) 9.04 กม., ช่วง 5-10 ปี มี 2 เส้นทาง คือ สายสีม่วง (ประตูน้ำ-หัวทะเล) 9.33 กม. และสีเหลือง (บ้านเกาะ-จอหอ) 7.10 กม. และใน 10-15 ปี มีสายสีแดง (บิ๊กซี-แยกจอหอ) 7.76 กม.
อีกทั้งสร้างระบบขนส่งมวลชนเป็นรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที วิ่งรอบเมือง ระยะทาง 12 กม. จากหน้าโรงเรียนนครราชสีมา ผ่านการเคหะ โรงแรมสีมาธานี เทสโก้ โลตัส โรงพยาบาลกรุงเทพ เดอะมอลล์ อาชีวะ เลี้ยวเข้าถนนสุรนารายณ์ สิ้นสุดที่ราชมงคล ลงทุน 4,697 ล้านบาท และสร้างถนนเลี่ยงเมือง วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นต้น
เมืองดอกคูนลุยบีอาร์ที 6 พันล้าน
ด้าน "ขอนแก่น" เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การศึกษา และจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภาคอีสานและภูมิภาคอินโดจีน ได้แก้ไขปัญหารถติดมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างทางต่างระดับหลังศูนย์ราชการและขยายทางผ่านรถไฟ จัดระเบียบตลาด ขยายผิวจราจร ห้ามจอดในชั่วโมงเร่งด่วน ปรับปรุงสัญญาณไฟแยกเซ็นทรัล เป็นต้น
ในระยะยาวจะจัดระเบียบรถขนส่งสาธารณะและก่อสร้างรถบีอาร์ที 5 เส้นทาง คือ 1.สายรอบเมือง 2.สายสำราญ-ท่าพระ 3.สายหนองโคตร-หนองใหญ่ 4.สายน้ำต้อน-ศิลา และ 5.สายบ้านทุ่ม-บึงเนียม ระยะทาง 108 กม. ลงทุน 6,356 ล้านบาท
หาดใหญ่โหมโมโนเรลหมื่นล้าน
ส่วน "หาดใหญ่" จ.สงขลา มีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน 10 ปี (2555-2565) ลงทุน 316 ล้านบาท จัดรถโดยสารสาธารณะที่มีอยู่วิ่งใน 8 เส้นทาง 104 กม. อาทิ วิ่งวงกลมรอบเมืองฝั่งตะวันออกและตะวันตก, คอหงส์-สถานีรถไฟ, นิพัทธ์อุทิศ 2-นิพัทธ์อุทิศ 3 และสร้างระบบโมโนเรล (รถไฟรางเดี่ยว) จากเทศบาลเมืองบ้านพรุ สถานีขนส่ง ม.สงขลานครินทร์ สามแยกคอหงส์ ตลาดพลาซ่า ตลาดเกษตร จะลงทุนไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท และฟื้นเส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 30 กม. ที่เลิกมา 30 ปี เปิดวิ่งบริการใหม่และลงทุน 12,000 ล้านบาท สร้างมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-สะเดา 50 กม.
อีกทั้งสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ 29 กม. จากหมู่บ้านฉัตรแก้ว-บ.ท่านางหอม อ.หาดใหญ่, ตัดถนนใหม่ แยกคูหา-ควนเมือง-บรรจบกับถนนสาย 408 ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 1,400 ล้านบาท
ภูเก็ตลงทุน BRT 3 สาย
ขณะที่ "ภูเก็ต" จะสร้างรถบีอาร์ที 3 เส้นทาง 76.6 กม. ลงทุน 12,816 ล้านบาท ได้แก่ 1.สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.4 กม. ลงทุน 7,064 ล้านบาท 2.ป่าตอง-เมืองภูเก็ต 18.4 กม. ลงทุน 2,844 ล้านบาท และ 3.สามแยกบางคู-ห้าแยกฉลอง 16.8 กม. ลงทุน 2,908 ล้านบาท ก่อสร้างทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง 3.9 กม. ลงทุน 8,730 ล้านบาท จะสร้างปี 2560 และเสร็จปี 2564 โครงการอื่น ๆ เช่น ทางลอดห้าแยกฉลองและแยกบางคู, รถไฟสายสุราษฎร์ฯ-พังงา, ตัดถนนใหม่จากสาคู-เกาะแก้ว 23 กม., เร่งอุโมงค์สี่แยกโลตัสเปิดใช้เดือน มิ.ย.ปีหน้า
เชียงใหม่จัดระเบียบรถแดง
ด้าน "เชียงใหม่" แบ่งการแก้ปัญหา ได้แก่ 1.ระยะ 1-3 ปี ลงทุน 700-1,000 ล้านบาท จัดระเบียบรถสี่ล้อแดงและรถบัสให้เป็นระบบ 2.ระยะกลางใน 10 ปี ลงทุน 14,000 ล้านบาท สร้างรถไฟโมโนเรล
วิ่งบริการในเมือง กำลังพิจารณาเป็นรถบีอาร์ทีหรือรถรางไฟฟ้า (Tram)
และ 3.ระยะยาว 10 ปีขึ้นไป สร้างระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมเขตเมืองและนอกเมือง ลงทุน 17,000 ล้านบาท ใน 3-10 ปี ระยะทาง 50 กม. วิ่งภายในถนนวงแหวนรอบ 2 พื้นที่ 150 ตร.กม. มี 4 สาย ได้แก่ สายศาลากลาง-สวนสัตว์กลางคืน, ม.เชียงใหม่-บวกครก, ศูนย์ราชการ-สามแยกสันทราย และพุทธสถาน-ช้างคลาน-เชียงใหม่แลนด์-ศรีดอนไชย ใน 10 ปี ขยายออกไปอีก 50 กม. ไปเขตรอบนอกมี 7 เส้นทาง อีกทั้งในอนาคตกรมทางหลวง (ทล.) จะขยายถนนวงแหวนรอบที่ 3 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 28 กม. วงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นต้น
พิษณุโลกศึกษาบีอาร์ที-รถราง
ส่วน "พิษณุโลก" เมืองศูนย์กลางการคมนาคม การศึกษา และท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่าง ปัจจุบันการขยายตัวของเมืองจะกระจุกตัวหนาแน่นเขตเทศบาล
ขณะที่การแก้ปัญหารถติด ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดจราจรสถานที่สำคัญ อาทิ แหล่งท่องเที่ยว โรงเรียน ชุมชน ตลาด ปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจร ในระยะยาวอยู่ระหว่างศึกษาระบบขนส่งมวลชน เช่น รถบีอาร์ทีหรือรถราง