ทองคำย่อแรง น่าติดตาม
คอลัมน์ จับช่องลงทุน โดย บล.โกลเบล็ก
ตามท้องถนนเยาวราชในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยผู้คนที่แห่เข้าไปต่อคิวซื้อทั้งทองแท่งและทองรูปพรรณ หลังราคาทองคำโลกปรับลดลงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 4 ปี หลุดต่ำกว่า 1,180 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยไปแตะจุดต่ำสุดที่ 1,132 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำแท่งในบ้านเราปรับลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ราคาบาทละ 17,750 บาท เนื่องจากค่าเงินบาทปัจจุบันอ่อนค่ากว่าเมื่อ 15 เดือนก่อน
แล้วคำถามคือ ทองคำน่าสนใจหรือยัง ?
หากเรายังมั่นใจว่า ระบบ Fiat Currency หรือเงินกระดาษ ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันมีเสถียรภาพที่มั่นคง เชื่อถือได้ไปอีกยาว ประกอบกับหากเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเติบโตได้ดี ทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ดูจะไม่น่าสนใจ เพราะนักลงทุนจะนำเงินไปไว้กับสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
แต่ถ้าเรามองว่า ระบบเงินกระดาษมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในอนาคต เศรษฐกิจโลกมีโอกาสทรุดตัวลงในอนาคต ทองคำจะกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนทันที
ทองคำถูกพูดถึงมากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐเริ่มออกมาตรการอัดฉีด (QE) เมื่อปี พ.ศ. 2551 การพิมพ์เงินดอลลาร์เข้ามาในระบบ ทำให้หลายคนกังวลว่าดอลลาร์สหรัฐจะด้อยค่าในระยะยาว แต่ 6 ปีที่ผ่านมา ดอลลาร์กลับไม่ได้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินอีก 6 สกุลเงินหลักอื่น ๆ อย่างที่หลายคนคิด
แล้วปัจจุบันดูเหมือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มที่จะมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง จนสามารถทำให้เฟดยุติการปั๊มเงินเข้าระบบไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า แต่ประเทศอื่นๆ อย่างยุโรป และญี่ปุ่น ดูเหมือนว่าจะยังต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ทำให้ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้นอยู่ ยิ่งหากเฟดมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐก็ควรจะแข็งค่าขึ้นต่อ กดดันราคาทองคำต่อไป
ถ้าหากเราดูอุปสงค์ หรือ ความต้องการทองคำไตรมาส 3/2557 พบว่า ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 2% ที่หดหายไปอย่างมีนัยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนภาคเครื่องประดับแม้จะเติบโตขึ้นมากกว่าไตรมาส 2 แต่ก็ไม่สามารถชดเชยส่วนที่หายไปของภาคการลงทุน และความต้องการจากฟากฝั่งธนาคารกลางที่ซื้อทองคำก็เริ่มชะลอลงบ้าง
หากราคาทองคำจะกลับมาพุ่งได้แรง คงจะพึ่งภาคเครื่องประดับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรอแรงซื้อจากฟากการลงทุนเป็นหลัก หรือ ETFs นั่นเอง ปัจจัยที่พอจะทำให้ความต้องการภาคการลงทุนกลับมาต้องรอให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงเช่น ตลาดหุ้น รวมถึงตลาดต้องมีความต้องการถือสกุลเงินดอลลาร์น้อยลง หรือเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับมาแย่ลงอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยธนาคารกลางให้ติดตามเพิ่ม โดยเฉพาะการโหวตมติของทางสวิสว่า จะมีมติให้ธนาคารกลางสวิสต้องเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองเป็น 20% หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารกลางสวิสมีทองคำเป็นสัดส่วนราว 7.5% ของทุนสำรองทั้งหมด คิดเป็นทองคำ 1,040 ตัน ซึ่งหากโหวตผ่านจริงในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ธนาคารกลางสวิสต้องทยอยสะสมทองคำให้ครบ 20% ภายใน 5 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2562
อีกทั้งคงต้องติดตามความพยายามที่จะดันสกุลเงินหยวนให้มีความสำคัญในตลาดโลกมากขึ้นของจีน โดยที่ผ่านมาถือว่าจีนเดินหน้าจับมือหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม BRICs ได้มีการผลักดันให้ใช้หยวนเป็นสกุลเงินในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าในหลาย ๆ ประเทศ ตัวนี้ก็จะทำให้บทบาทของดอลลาร์สหรัฐลดลงเช่นกัน
แม้ระยะสั้นทองคำยังมีแนวโน้มที่จะปรับลงจนใกล้ระดับราคาต้นทุนหน้าเหมือง 1,050-1,150 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แต่ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
อีกทั้ง ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่น่าติดตามว่าจะช่วยผลักดันให้ราคาทองคำโลกกลับไปสู่ระดับ 1,400-1,500 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้หรือไม่ เช่น สงครามอัดฉีดเงินคงจะไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน ธนาคารกลางเกาหลีก็น่าจะเริ่มออกมาตรการบางอย่างเพื่อป้องกันการสูญเสียศักยภาพการส่งออกให้ญี่ปุ่น ทางฝั่งเยอรมนีจะยอมให้อีซีบีอัดฉีดได้มากขนาดไหนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐหลังเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เหล่านี้ล้วนแต่น่าติดตามสำหรับคนที่สนใจทองคำ