คมนาคมทุบโต๊ะยกที่มักกะสัน500ไร่ให้คลัง ปล่อยเช่า99ปีปลดหนี้7หมื่นล้าน

คมนาคมทุบโต๊ะยกที่มักกะสัน500ไร่ให้คลัง ปล่อยเช่า99ปีปลดหนี้7หมื่นล้าน

คมนาคมทุบโต๊ะยกที่มักกะสัน500ไร่ให้คลัง ปล่อยเช่า99ปีปลดหนี้7หมื่นล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"บิ๊กจิน" เร่งแก้หนี้แสนล้านการรถไฟ แต่งตัวรอรับรถไฟทางคู่ และมินิไฮสปีดเทรน โละที่ดิน "มักกะสัน" 497 ไร่ ให้คลังพัฒนาระยะยาว 99 ปี แลกหนี้ 7 หมื่นล้าน ดึงเอกชนลงทุนคอมเพล็กซ์ยักษ์สถานีกลางบางซื่อแสนล้าน ปลดแอกภาระบำนาญ คาดกลาง ธ.ค.นี้ส่งแผนฟื้นฟูซูเปอร์บอร์ดอนุมัติ คาดปีེ พลิกกำไรเป็นบวก จี้ประมูลโครงการใหม่ตกค้างอื้อซ่า สางปัญหาทางคู่ "ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย" ซื้อแน่รถใหม่แอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน มูลค่า 4.8 หมื่นล้าน เปิดประมูล ม.ค.ปีหน้า

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแก้ไขภาระหนี้มีอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านบาทให้คลี่คลาย เตรียมรองรับการลงทุนครั้งใหญ่ ไม่ว่ารถไฟทางคู่ราง 1 เมตร เร่งด่วน 5 สายทาง จะเริ่มก่อสร้างปีหน้า และรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีแผนจะก่อสร้างปี 2559 รวมถึงจะต้องเตรียมพร้อมเรื่องคนที่จะรับเพิ่ม และดึงมืออาชีพมาเสริม ขณะนี้แผนฟื้นฟูโดยรวมชัดเจนแล้ว จะนำเสนอต่อที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดอนุมัติกลางเดือนธันวาคมนี้

เซ้งหนี้ 7 หมื่นล้านให้รัฐ

แผน ฟื้นฟู ประกอบด้วย 1.ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ 2.เพิ่มการให้บริการ เช่น ขนส่งสินค้า กำหนดรายได้การเดินรถแต่ละขบวนเป็นเคพีไอ (ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน) ให้ใช้เวลาเดินรถไม่เกิน 11 ชั่วโมง ถ้าเกินจะมีค่าปรับ จะเริ่มตั้งแต่ปีหน้า รวมถึงจะเพิ่มการขนส่งแบบ Door To Door โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เช่น ขนส่งพัสดุภัณฑ์ต่าง ๆ จะทำให้การขนส่งสินค้าครบวงจรมากขึ้น และเพิ่มการรักษาความสะอาดรถโดยสารชั้น 3 ให้มีระบบความปลอดภัย และมีการทำประกันภัยบุคคลที่ 3

3.จัดทำบัญชีทรัพย์สินและมูลค่า ทรัพย์สินเพื่อบริหารจัดการได้มูลค่าเพิ่มขึ้นและถูกต้อง เช่น ที่ดินย่านไหนจะพัฒนาเชิงธุรกิจ พื้นที่สวนสาธารณะ อาจมีที่ดินบางแปลงต้องยกให้กระทรวงการคลังนำไปพัฒนา เพื่อแลกหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงภาระหนี้บำเหน็จบำนาญด้วย ที่เป็นภาระต่อเนื่องระยะยาว เฉลี่ยปีละกว่า 3,000 ล้านบาท

"จะให้รัฐโดยกระทรวงการคลังรับภาระ หนี้ 7 หมื่นล้านบาท แนวทางคือรถไฟจะโอนที่ดินแลกหนี้ 5 หมื่นล้านบาท จะให้คลังพัฒนาระยะยาวหรือร่วมกันพัฒนาก็ได้ในรูปแบบการเช่าใช้ระยะยาว หนี้ที่เหลือจะให้คลังช่วยด้วยการหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้" พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่า

แยกแอร์พอร์ตลิงก์บริหารอิสระ

สำหรับ แผนฟื้นฟูจะมีกรอบเวลาดำเนินการ 10 ปี (2558-2567) คาดว่าหลังปี 2562 จะทำให้การรถไฟฯมีกำไรก่อนหักค่าเสื่อม (อีบิตด้า) เป็นบวก จากนั้นคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ เนื่องจากโครงการใหม่ที่สร้างเสร็จ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางคู่จะเปิดบริการ ทำให้รายได้ค่าโดยสารและขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากการบริหารทรัพย์สินบริเวณโดยรอบสถานีด้วย

"ส่วน แอร์พอร์ตลิงก์ให้รถไฟและบริษัทลูกไปหารือร่วมกันถึงการแบ่งแยกทรัพย์สินและ การบริหารงานเป็นอิสระออกจากกัน แต่การรถไฟยังถือหุ้นอยู่ 100%"

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ กล่าวว่า แนวทางแก้หนี้ของการรถไฟฯให้เป็นศูนย์ คือต้องนำที่ดินไปแลกกับภาระหนี้ที่จะให้กระทรวงการคลังรับภาระแทน เพื่อตัดหนี้บางส่วน ซึ่งเคยกำหนดไว้ มีหลายแปลง แต่ยังไม่สรุป เช่น มักกะสัน สถานีแม่น้ำ บริเวณ กม.11 เป็นต้น เนื่องจากภาระหนี้รถไฟมีมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยรวมหนี้สินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อีก 33,229 ล้านบาท ที่เหลือ 76,088 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินงาน 50,280 ล้านบาท เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เช่น เกษียณอายุ ค่าน้ำมัน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 13,950 ล้านบาท หนี้จากรถจักรและล้อเลื่อน 11,856 ล้านบาท

"จะเซตซีโร่หนี้รถไฟ รัฐต้องรับภาระให้หมด ทำให้อีบิตด้าเป็นบวกปีེ จำนวน 663 ล้านบาท มีกำไรปี 2563 จำนวน 2,668 ล้านบาท อยู่ที่คลังจะรับข้อเสนอหรือไม่"

ยกที่ "มักกะสัน" ให้คลังแลกหนี้

แหล่ง ข่าวจากการรถไฟฯกล่าวว่า ได้ข้อสรุปจะนำที่ดินมักกะสัน พื้นที่ 497 ไร่ ให้กระทรวงการคลังพัฒนาระยะยาว 99 ปี เพื่อแลกหนี้ของการรถไฟฯ ประมาณ 55,815 ล้านบาท เท่ากับมูลค่าที่ดินที่ประเมินไว้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีพื้นที่สำหรับทำเป็นสวนสาธารณะ (พื้นที่สีเขียว) ให้กับคนกรุงเทพฯ ส่วนภาระหนี้บำเหน็จบำนาญ จะนำรายได้จากการพัฒนาที่ดินสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 218 ไร่ ที่บอร์ดสั่งให้การรถไฟฯศึกษาโครงการ จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนพัฒนาคอมเพล็กซ์ยักษ์ มูลค่าโครงการ 1 แสนล้านบาท รองรับกับการเปิดใช้รถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ปี 2560-2561

พล.อ.อ. ประจินกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามโครงการประมูลของการรถไฟฯยังค้างคาให้เสร็จโดยเร็ว เช่น ทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กม. วงเงิน 11,272 ล้านบาท ที่เปิดประมูลไปแล้ว ล่าสุดกำลังหารือไปยังกรมบัญชีกลาง หลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีข้อคิดเห็นถึงการนำวงเงินซื้อเครื่องจักรมารวมกับสัญญางาน คาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะเปิดประมูลได้

เร่งจัดซื้อหัวรถจักร-แคร่สินค้า

อีก ทั้งเร่งแก้ปัญหาของรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ทั้ง 3 สัญญา โดยเฉพาะสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมรถไฟฟ้า ยังต่อรองราคากับกลุ่มกิจการร่วมค้ามิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-ซูมิโตโมไม่เสร็จ เนื่องเสนอราคาเกินจากราคากลางกำหนดไว้ 28,899 ล้านบาท รวมถึงเร่ง จัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 50 คัน วงเงิน 5,750 ล้านบาท จัดซื้อแคร่สินค้า 308 คัน วงเงิน 770 ล้านบาท วางระบบโทรคมนาคมให้เชื่อมต่อระหว่างสถานีต่อสถานี และรถไฟทางคู่ที่พร้อมประมูลก่อสร้าง เช่น สายจิระ-ขอนแก่น และประจวบฯ-ชุมพร จะเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการปีนี้

ส่วน ที่เหลือให้ไปดูปัญหาว่าติดขัดอยู่ขั้นตอนไหน เช่น รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าต้นปีหน้าจะเปิดประมูลก่อสร้าง ส่วนสายใหม่อีก 8 เส้นทางจะออกแบบรายละเอียดเสร็จปีหน้า แล้วเริ่มก่อสร้างปี 2559 และเร่งให้ซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน วงเงิน 4,800 ล้านบาท จะเปิดประมูลเดือนมกราคมปีหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook