ทำประกันฯอะไร อย่างไรแล้วเอาไปหักภาษีได้
การลงทุนระยะยาว หรือ การออมระยะยาวเป็นแนวทางที่รัฐบาลส่งเสริมมาโดยตลอด เพราะนอกจากเป็นหลักประกันให้กับผู้ออมในอนาคตแล้ว การมีปริมาณเงินออมในระบบมาก ทำให้ระบบโดยรวมของประเทศมีฐานเงินออมซึ่งสำคัญต่อการลงทุนของระบบเศรษฐกิจ ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งมีภาระนอกจากดอกเบี้ยแล้วยังมีต้นทุนของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
และสำหรับการส่งเสริมการออม มาตรการสำคัญที่นำมาสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ออมก็คือมาตรการทางภาษี สำหรับรูปแบบการออม ที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสามารถนำเงินส่งหรือลงทุนเพื่อการออม มาใช้หักลดหย่อนภาษีในการคำนวณภาษีประจำปี นอกจากการลงทุนใน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF แล้ว ยังมี การลงทุนในประกันภัย บางประเภทสามารถนำมาหักลดหย่อนได้อีกด้วย
แล้วรู้หรือไม่ มีประกันภัยแบบใดบ้างที่ได้ลดหย่อนภาษี วันนี้ เราจะมาแนะนำประกันภัยที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้คือ
1ค่าเบี้ยประกันชีวิตของตัวผู้มีเงินได้ ซึ่งในส่วนนี้ ผู้ออมนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท และมีเงื่อนไข คือ
ต้องเป็น กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ค่าเบี้ยประกันชีวิตนี้ ต้องไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับสัญญาเพิ่มเติมอื่น ๆ
และ กรณีเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีผลประโยชน์ตอบแทนคืน ผลประโยชน์ตอบแทนคืนนั้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือเบี้ยประกันชีวิตสะสม
ทั้งนี้ การทำประกันชีวิต ต้องเป็นของบริษัทประกันที่ประกอบกิจการในประเทศเท่านั้น
2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดา สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และมีเงื่อนไขดังนี้
ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา มารดา
บิดา มารดา มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท
ถ้าผู้มีเงินได้ มิได้อยู่ในประเทศไทย บิดา มารดาต้องอยู่ในประเทศไทย
และ กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมชำระเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดา ให้เฉลี่ยหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดาตามจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท
3. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของตัวผู้มีเงินได้เอง สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15ของเงินได้และต้องไม่เกิน 200,000 บาท
และเมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ผู้มีเงินได้ต้องได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น ทั้งนี้ ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ
ผู้มีเงินได้ได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอขณะมีชีวิตอยู่
และ บริษัทประกันชีวิตที่ออกกรมธรรม์ต้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทย