สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย

สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Snapshot   สหรัฐอเมริกา -  ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในรอบสัปดาห์ที่สิ้นนุดวันที่ 8 ตุลาคมลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 404,000 ราย สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 405,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเคลื่อนที่ 4 สัปดาห์ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 408,000 ราย จากระดับ 415,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ สำหรับยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 ตุลาคม ลดลง 55,000 ราย สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ 3.67 ล้านราย -  ยอดขาดดุลการค้าในเดือนสิงหาคมลดลงสู่ระดับ 4.561 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 4.563 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดไว้ว่าจะขาดดุลการค้า 4.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ -  ยอดการแจ้งเตือนการผิดนัดชำระหนี้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 195,878 รายการหรือเพิ่มขึ้น 14% (q-o-q) ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 27% (y-o-y) ขณะที่ยอดการยึดบ้านติดจำนองอยู่ที่ 196,530 หลังโดยลดลง 4% (q-o-q) จากไตรมาส 2 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 32% (y-o-y) อย่างไรก็ดี รัฐบางรัฐในสหรัฐฯ มียอดการยึดบ้านติดจำนองเพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐแมสซาชูเซตส์มียอดการยึดบ้านติดจำนองเพิ่มขึ้น 62% (m-o-m) สำหรับจำนวนการยื่นหนังสือเพื่อยึดบ้านโดยรวม ซึ่งรวมถึงการส่งหนังสือแจ้งเตือนเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้, การแจ้งเรื่องกำหนดการประมูลขายบ้านและการแจ้งเรื่องการยึดบ้านโดยธนาคารเพิ่มขึ้น 0.3% (q-o-q) จากไตรมาส 2 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 34% (y-o-y) สำหรับในช่วงเดือนกันยายนนั้น ยอดการส่งหนังสือแจ้งเตือนเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ลดลง 10% (m-o-m) สู่ 70,710 รายการ ส่วนยอดการยึดบ้านติดจำนองอยู่ที่ 65,047 หลัง หรือเพิ่มขึ้น 0.4% (m-o-m) ทั้งนี้ รัฐเนวาดาเป็นรัฐที่มีอัตราการยึดบ้านติดจำนองสูงสุด ทั้งนี้ แม้ว่ายอดการยึดบ้านติดจำนองของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ลดลงแต่ยอดการแจ้งเตือนเรื่องการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ายอดการยึดบ้านติดจำนองอาจจะเริ่มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในอนาคต   ยุโรป: สหภาพยุโรป -  นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอแผนการเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ในยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธนาคารได้รับความเสียหายจากปัญหาหนี้สาธารณะจากกรีซและประเทศอื่นๆในยูโรโซน โดยกล่าวว่า ธนาคารที่มีเงินทุนไม่เพียงพอและจำเป็นต้องเพิ่มทุน ด้วยการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนเอกชน ก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในฐานะแหล่งเงินทุนแห่งสุดท้าย พร้อมระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน หรือจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน นอกเสียจากธนาคารจะสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดเพื่อการระดมทุน -  สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมในกลุ่มยูโรโซนขยายตัว 1.2% (m-o-m) จากเดือนกรกฎาคม สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มอียู 27 ประเทศนั้นขยายตัว 0.9% และเมื่อเทียบเป็นรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มยูโรโซนขยายตัว 5.3% (y-o-y) ส่วนอียูขยายตัว 4.3% ทั้งนี้ การผลิตสินค้าทุนขยายตัว 2.1% ในกลุ่มยูโรโซนเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนอียูขยายตัว 1.6% ขณะที่สินค้าไม่คงทนขยายตัว 1.1% และ 0.7% ตามลำดับ -  นายไมเคิล สปินเดเลกเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศออสเตรีย ระบุว่า ยูโรโซนสามารถเดินหน้าใช้กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหาได้ แม้ว่าสโลวาเกียจะยังไม่ได้ลงสัตยาบันสนับสนุนการขยายวงเงินและเพิ่มอำนาจของกองทุน ทั้งนี้ รัฐสภาสโลวาเกียมีเวลาอีกครั้งจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม เพื่ออนุมัติเพิ่มอำนาจกองทุน EFSF หลังจากประเทศสมาชิกรายอื่นลงสัตยาบันไปแล้ว   อังกฤษ -  สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า จำนวนผู้ไม่มีงานทำในช่วงสามเดือนจนถึงสิงหาคม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.57 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2537 หรือพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 17 ปี ส่งผลให้อัตราว่างงานปรับตัวขึ้นแตะ 8.1% ซึ่งเป็นสูงสุดในรอบ 15 ปี จากระดับ 7.9% ในช่วงสามเดือนจนถึงเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ นายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษได้ให้คำมั่นว่าจะยังคงใช้มาตรการคุมเข้มด้านการคลังต่อไป แม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะย่ำแย่ก็ตาม อย่างไรตาม ข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดนี้เป็นการสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะถดถอย   อิตาลี -  สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรตติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารอินเตซา ซานเปาโล, ยูบีไอ บังกา,และบังกา มอนเต เดอี ปาสชี ดิ ซีนา ทั้งนี้ ฟิทช์ตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารในยุโรปได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นจากปัญหาความเชื่อมั่นในตลาด และปัจจัยนี้มีส่วนทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคาร เพิ่มสูงขึ้น   สเปน -  สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสเปนและอิตาลีหลายแห่ง โดย S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสเปน 10 แห่ง ลง 1 ขั้น ซึ่งรวมถึงธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ซานตานเดร์ และ BBVA และธนาคารขนาดเล็ก ได้แก่ แบงก์อินเตอร์ เอสเอ และบังโค ซาบาเดล ทั้งนี้ S&P เตือนว่า สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในงบดุลของธนาคารสเปนทั้ง 10 แห่ง จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 15-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ธนาคารเหล่านี้ได้ใช้เงินทุนสำรองของตนไปจนเกือบหมดแล้ว -  ฟิทช์ เรตติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารบางแห่งในสเปน ซึ่งธนาคารสเปนที่ฟิทช์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงในครั้งนี้ได้แก่ ซานตานเดร์, บาเนสโต, BBVA, ปอปูลาร์ และซาบาเดล -  สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสเปนลงมาอยู่ที่ระดับ AA จากระดับ AA โดยให้แนวโน้มเป็นลบ   ไอร์แลนด์ -  สภาที่ปรึกษาด้านการคลัง (Fiscal Advisory Council) ของไอร์แลนด์ประกาศว่ารัฐบาลไอร์แลนด์ต้องลดรายจ่ายลงราว 4 พันล้านยูโร (5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้เหลือ 10% และ 8.6% ในปี 2554 และปี 2555 ตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ   สโลวาเกีย -  รัฐสภาสโลวาเกียเตรียมลงมติเพิ่มวงเงินกองทุนภายใต้สำนักงานกำกับเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) อีกครั้ง เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในยูโรโซนที่ประสบวิกฤตการเงินในอนาคตเป็น 440 พันล้านยูโร จากเดิมที่ 250 พันล้านยูโร โดยมีการคาดการณ์ว่าหากพรรครัฐบาลยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของพรรคฝ่ายค้านที่จะให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ การลงมติดังกล่าวอาจมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2554 เป็นอย่างช้า ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ารัฐสภาสโลวาเกียจะมีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินกองทุน EFSF ในที่สุด   เอเชีย: จีน -  สำนักงานศุลกากรของจีนรายงานว่าการส่งออกของจีนในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 17.1% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจโดย Bloomberg ที่ 20.5% และต่ำกว่าเดือนสิงหาคมที่ขยายตัว 24.5% ขณะที่การนำเข้าเดือนกันยายนขยายตัว 20.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 24.2% และลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 30% โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจาก 17.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ 14.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกันยายน   ออสเตรเลีย -  สำนักงานสถิติออสเตรเลียแถลงว่าการจ้างงานของออสเตรเลียในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 20,400 ตำแหน่ง หลังจากในเดือนสิงหาคมลดลง 10,500 ตำแหน่ง โดยการเพิ่มดังกล่าวสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจโดย Bloomberg ทึ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10,000 ตำแหน่ง โดยอัตราการว่างงานลดลงจาก 5.3% ในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ 5.2% ในเดือนกันยายน   เกาหลีใต้ -  ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยคณะกรรมการธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 7 วันไว้ที่ 3.25% ซึ่งตรงกับที่นักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจโดย Bloomberg คาดการณ์ ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคเกาหลีใต้เดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหลังจากเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 5.3% อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ก็ยังคงสูงเกินเพดานของธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่ 4%   ไทย -  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนลดลงสู่ระดับ 72.2 จากระดับ 73.8 ในสิงหาคม ซึ่งเป็นการลดลงป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของไทย รวมถึงความกังวลต่อค่าครองชีพ หลังจากราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูงและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความไม่มั่นใจต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เห็นเป็นรูปธรรมในอนาคต   Money Market -  บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันพฤหัส ( 13 ต.ค.)ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเซียส่วนใหญ่ในช่วงเช้าวันนี้ซึ่งสอดคล้องกับภาวะที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเซียส่วนใหญ่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีวันนี้ดอลลาร์ฯแข็งขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท -  เยน/ดอลลาร์ เมื่อวันพฤหัส (13 ต.ค.)  ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินเยนในช่วงเช้าหลังจากที่ดอลลาร์ฯแข็งขึ้นเมื่อวันพุธ ทั้งนี้จากรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯเมื่อเดือนก่อนเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯบางคนเห็นว่าควรเก็บมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมไว้เป็นทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความไม่แน่นอนสูง -  ยูโร/ดอลลาร์ เมื่อวันพฤหัส (13 ต.ค.) ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าของตลาดเอเซียจากการที่รัฐสภาสโลวาเกียมีแนวโน้มจะอนุมัติการขยายกองทุนยุโรปใน1-2วันนี้ซึ่งจะทำให้กระบวนการรับรองของ 17 ประเทศครบถ้วนสมบูรณ์ ขณะเดียวกันการที่ประธาน EC เรียกร้องให้ร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งให้กับธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาค ก็มีส่วนในการสนับสนุนให้ค่าเงินยูโรแข็งขึ้น อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯค่าเงินยูโรได้อ่อนลงเล็กน้อย   Capital Market -  ตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัส (13 ต.ค.)  ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯลดลงเช้าวันนี้จากการที่ JPMorgan Chase&Co ธนาคารใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯรายงานกำไรไตรมาสสามลดลง 33%จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน -  ตลาดหุ้นเอเชีย เมื่อวันพฤหัส (13 ต.ค.)ดัชนีตลาดหุ้นเอเซียส่วนใหญ่สูงขึ้นในวันนี้จากการที่รัฐสภาสโลวาเกียมีแนวโน้มจะอนุมัติการขยายกองทุนยุโรปใน1-2วันนี้ ขณะที่ประธาน EC เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันแก้วิกฤติหนี้ยุโรป รวมทั้งรายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯเดือนก่อนที่ชี้ว่ามีโอกาสในการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะนำมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งปัจจัยทั้งหมดข้างต้นส่งผลให้นักลงทุนมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกไปในทางบวกมากกว่าเดิม -  ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันพฤหัส ( 13 ต.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยทรงตัวในช่วงเช้าก่อนที่จะลดลงในช่วงเปิดตลาดภาคบ่าย โดย SET INDEX ปิดตลาดที่ 936.82 ลดลง 15.95 จุด   โดย สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 14 ตุลาคม  2554

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook