แบงก์รัฐ-เอกชนเปิดศึกสินเชื่อดอกเบี้ย บ้าน-คอนโดโค้งสุดท้าย
แบงก์รัฐ-เอกชนเปิดศึกดอกเบี้ยบ้านโค้งสุดท้าย "แบงก์ออฟไชน่า" กดดอกเบี้ยระยะยาว 20 ปีต่ำสุดในตลาด 4.8% ไม่บังคับทำประกันคุ้มครองวงเงิน ส่วนแบงก์ไทย "แอลเอชแบงก์" จัดโปรโมชั่น 3 ปีแรกถูกสุดเฉลี่ย 3.9% "ธนชาต-กรุงเทพ-ออมสิน" เหลือ 4% ต้น ๆ ส่วนแบงก์ทหารไทยชูเงื่อนไขพิเศษ ฟรีประกันอัคคีภัยตลอดระยะเวลากู้
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน-คอนโดมิเนียมมือ 1 ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2557 อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ซื้อบ้านในโครงการของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพิเศษ และส่วนใหญ่มีเงื่อนไขให้ผู้กู้ต้องทำประกันคุ้มครองวงเงิน พบว่าการแข่งขันในช่วงท้ายปีทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงตลอดอายุสัญญา (กู้ 20 ปี) ของธนาคารรายใหญ่ที่ดัมพ์ลงมาใกล้เคียงกับรายกลางเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกธนาคารบางแห่งดัมพ์ลงมาต่ำกว่า 4%
แบงก์ออฟไชน่าเฉลี่ย 20 ปี 4.8%
ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าธนาคารแบงก์ออฟไชน่า จากประเทศจีนที่รุกสินเชื่อบ้านจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมา ให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงตลอดอายุสัญญากรณีกู้ 20 ปี ต่ำที่สุดในตลาดเพียง 4.84% เทียบกับอัตราดอกเบี้ยแท้จริง 20 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์จะมีส่วนต่างกันกว่า 2% โดยแบงก์ออฟไชน่าคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก เอ็มแอลอาร์ -1.1% ปีที่ 3 เป็นต้นไปตลอดอายุสัญญา เอ็มแอลอาร์ -2% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ปัจจุบันอยู่ที่ 6.75% แต่กู้ได้สูงสุด 80% ของราคาประเมิน
ฝั่งแบงก์ไทยทางธนาคารธนชาตน่าจะเป็นสถาบันการเงินที่กดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยโปรโมชั่น 3 ปีแรกต่ำที่สุดอยู่ที่ 4.16% กรณีกู้ซื้อบ้าน-คอนโดฯใหม่จากบริษัทพัฒนาที่ดิน ที่ถูกจัดกลุ่มเป็นโครงการพิเศษระดับสูงสุด อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท, บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ฯลฯ แต่มีเงื่อนไขต้องทำประกันคุ้มครองวงเงินขั้นต่ำ 10 ปี ลูกค้าจะได้อัตราดอกเบี้ยปีแรก 1.25% ปีที่ 2 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์หรือลูกค้ารายย่อยชั้นดี -1.5% โดยปัจจุบันเอ็มแอลอาร์ของธนาคารอยู่ที่ 7.125% และให้กู้ได้สูงสุด 100% ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ส่วนธนาคารกรุงเทพเป็นแบงก?ใหญ่ที่จัดแพ็กเกจได้สูสีกับธนาคารขนาดกลาง ถึงแม้ก่อนหน้านี้เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้านจากช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาประมาณ 25 สตางค์ โดยปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกที่ 4.08% และอัตราดอกเบี้ยแท้จริงตลอดอายุสัญญา 20 ปี 5.50% กรณีกู้ซื้อบ้าน-คอนโดฯราคาซื้อขายตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป จากบริษัทมหาชน 7 ราย อาทิ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์), บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น, บมจ.แสนสิริ ฯลฯ มีสินเชื่อให้เลือก 4 แพ็กเกจ อาทิ ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ -4.75% ปีที่สอง เอ็มแอลอาร์ -2% ปีที่สาม เอ็มแอลอาร์ -1.25% ปีที่สี่เป็นต้นไป ตลอดอายุสัญญาเอ็มแอลอาร์ -1% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ของธนาคารอยู่ที่ 6.75%
แลนด์ฯดัมพ์ 3 ปีแรก 3.9%
ขณะที่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ "แอลเอชแบงก์" ที่มีกระแสข่าวกลุ่ม ซี.พี.เจรจาเข้าควบรวมกิจการ น่าจะเป็นค่ายที่กดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยช่วงโปรโมชั่น 3 ปีแรกต่ำที่สุดเฉลี่ย 3.91%
ส่วนดอกเบี้ยแท้จริงตลอดอายุสัญญา 20 ปีอยู่ที่ 5.93% และให้ลูกค้ากู้ได้สูงสุด 105% ยกเว้นคอนโดฯกู้ได้ไม่เกิน 90% และระยะเวลาผ่อนสูงสุด 40 ปี แต่มีเงื่อนไขว่าลูกค้าจะต้องทำประกันคุ้มครองวงเงินกู้เริ่มต้นที่ 15 ปี
ทหารไทยฟรีค่าประกันอัคคีภัย
ด้านธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยแท้จริงตลอดอายุสัญญา 20 ปีแล้วอยู่ที่ 5.56% เกาะกลุ่มลำดับต้น ๆ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่ค่ายนี้นำมาใช้เพิ่มยอดสินเชื่อปล่อยใหม่
คือ 1) ฟรีค่าประกันอัคคีภัยล้านละ 1,000 บาท ตลอดระยะเวลากู้ 2) ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ โดยทั่วไปอยู่ที่กว่า 2,000-5,000 บาท และ 3) กรณีเปิดบัญชีเงินฝากและทำประกันคุ้มครองวงเงิน จะได้รับยกเว้นค่าจดจำนอง 1% จากวงเงินกู้ โดยการทำประกันคุ้มครองวงเงินเริ่มต้นที่ 10-15 ปี ทุนประกันขั้นต่ำ 75% ของวงเงินสินเชื่อ
ขณะที่แต่ละค่ายมีกลยุทธ์ดึงลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เจ้าตลาดสินเชื่อบ้านในฝั่งแบงก์รัฐ ให้ลูกค้าที่มีประวัติผ่อนชำระดี 3 ปีแรก สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 4 ได้อีก 0.5-1%
ส่วนธนาคารกรุงเทพใช้กลยุทธ์กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดฯของผู้ประกอบการชั้นนำ 7 ราย ได้แก่ บมจ.เอพี บมจ.เอสซีฯ บมจ.แสนสิริ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ บมจ.ศุภาลัย และ บมจ.เมเจอร์ฯ จะยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมขอสินเชื่อ
ประกบลูกค้าถึงสำนักงานขาย
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาบ้านจัดสรรโซนพระราม 2 เปิดเผยว่า การแข่งขันสินเชื่อบ้านช่วงท้ายปีไม่ถึงกับรุนแรงมาก เข้าใจว่าเป็นเพราะมีปัญหาการเมืองปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารหลายแห่งไม่ได้ตั้งเป้าเติบโตไว้สูง จนถึงขนาดต้องเข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันทำแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกระตุกยอดช่วงไตรมาสสุดท้าย
ทั้งนี้สังเกตว่าการแข่งขันเข้าถึงลูกค้ายังรุนแรง โดยทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง เช่น กสิกรไทย (เคแบงก์) ไทยพาณิชย์ จะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำสำนักงานขาย เพื่อแนะนำแพ็กเกจสินเชื่อ และอำนวยความสะดวกลูกค้าที่กำลังจะโอนบ้าน