ซี.พี.โหมบุกตลาดส่งออกปลาดอรี่ ดึงเกษตรกรเวียดนามร่วมผลิตเพิ่ม1.2หมื่นตัน/ปี

ซี.พี.โหมบุกตลาดส่งออกปลาดอรี่ ดึงเกษตรกรเวียดนามร่วมผลิตเพิ่ม1.2หมื่นตัน/ปี

ซี.พี.โหมบุกตลาดส่งออกปลาดอรี่ ดึงเกษตรกรเวียดนามร่วมผลิตเพิ่ม1.2หมื่นตัน/ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซี.พี.บุก ตลาดปลาน้ำจืด ตั้งฐานผลิต "ปลาแพนกาเซียส ดอรี่" ในเวียดนามใต้ส่งออกทั่วโลก 14,000 ตัน/ปี มุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วนแปรรูปเป็นอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) จาก 10% เป็น 30% ในปี 2558 โชว์นวัตกรรมเครื่องเหวี่ยงอาหารปลา ลดอัตราปลาไม่ได้ขนาดลง 7%

นายธรรมนูญ จิวิริยะวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายธุรกิจครบวงจรปลา บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการตั้งฐานผลิตปลาแพนกาเซียส ดอรี่ ในประเทศเวียดนามว่า ซี.พี. เวียดนามฯเริ่มตั้งฟาร์มปลาดอรี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และสร้างโรงงานแปรรูปปลาดอรี่ สามารถส่งออกได้เมื่อเดือน เม.ย. 2556 ที่จังหวัดเบนแจ โดยมีผลผลิตปลาเป็นจากฟาร์มปี 2557 ปริมาณ 35,000 ตัน/ปี จากกำลังผลิต 40,000 ตัน/ปี และผลผลิตจากโรงงานแปรรูปปลาดอรี่ทั้งกลุ่มปลาตัดแต่งแช่แข็ง (Filet) และปลาแปรรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) รวม 14,000 ตัน/ปี จากกำลังผลิตทั้งหมด 31,500 ตัน/ปี ส่งออกต่างประเทศเกือบทั้ง 100% ไปทั่วโลก แบ่งเป็นการส่งภายใต้แบรนด์ซีพี 50% และรับจ้างผลิต (OEM) 50%

"เวียดนาม มีความได้เปรียบค่อนข้างสูงเรื่องแหล่งน้ำจืด เพราะตอนใต้ของเวียดนามมีแม่โขงเดลต้าเป็นแหล่งน้ำจืดมหาศาล เวียดนามเองสามารถผลิตปลาดอรี่ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน/ปี และแปรรูปเป็นปลาตัดแต่งแช่แข็งประมาณ 6 แสนตัน/ปี" นายธรรมนูญกล่าว

นาย วิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟกล่าวว่า การส่งออกปลาดอรี่ปี 2557 คิดเป็นมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท โดยกลุ่มปลาแปรรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) คิดเป็นเพียง 10% ของผลผลิต หรือประมาณ 1,400 ตัน/ปี แต่มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการแปรรูปขึ้นเป็น 30% ในปี 2558 หรือประมาณ 4,500 ตัน/ปี ซึ่งเต็มกำลังผลิตของโรงงานแปรรูป

"กลุ่ม Ready-to-Eat เราจะเน้นโซนเอเชียก่อน เช่น ไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน ส่วนยุโรปจะเป็นเมนูฟิชแอนด์ชิปส์ ซึ่งฐานผลิตในเวียดนามยังไม่ถูกตัดสิทธิ์ GSP จึงเป็นโอกาสดีของเรา ด้านสหรัฐยังมีปัญหากีดกันการทุ่มตลาด ก็ยังเติบโตได้ยาก จึงยังไม่เน้นทำตลาด" นายวิบูลย์กล่าว

ด้านนาย สมบัติ สิริพันธ์วราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์น้ำจืด ซีพีเอฟ กล่าวถึงฟาร์มปลาดอรี่ของ ซี.พี.ทั้งหมด 8 ฟาร์ม ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่จังหวัดหวินลอง การเลี้ยงปลาของเวียดนามจะใช้ระบบน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติช่วยถ่ายน้ำ อัตโนมัติ เป็นผลดีต่อการเลี้ยงปลาดอรี่ที่จำเป็นต้องถ่ายน้ำทุกวัน

นาย สมบัติกล่าวว่า การเลี้ยงปลา 1 รอบการผลิตใช้เวลา 310 วัน หรือกว่า 10 เดือน ขนาดของการจับอยู่ที่ 900-950 กรัม หากต่ำกว่านี้จะถือว่าตกเกรด ที่ผ่านมาการเลี้ยงใช้คนขึ้นแพตักอาหารเลี้ยงปลา ทำให้การเติบโตไม่สม่ำเสมอทั้งบ่อ มีปลาขนาดตกเกรด 15% แต่ขณะนี้เครือซี.พี.วิจัยพัฒนาเครื่องเหวี่ยงอาหารที่ทำให้อาหารกระจายทั่ว ถึงกว่า ลดปริมาณปลาขนาดตกเกรดลงมาเหลือ 8% ซึ่งเพิ่งวิจัยสำเร็จและมีเพียงเครื่องเดียว หลังจากนี้ จะต้องผลิตเพื่อใช้ให้ครบทั้ง 40 บ่อของฟาร์มหวินลอง

นายนเรศ พรมผิว รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลรับผิดชอบฟาร์มปลาเนื้อและโรงงานแปรรูปปลา บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า พื้นที่การเลี้ยงปลาดอรี่ในเวียดนามมีการกำหนดโซนนิ่งโดยรัฐบาล ซี.พี. เวียดนามฯจึงเช่าโดยตรงจากรัฐและทำการเลี้ยงเองทั้งหมด แต่หลังจากนี้จะขยายออกไปได้ยาก จึงต้องพัฒนาโมเดลเกษตรพันธสัญญาสำหรับฟาร์มปลา ซึ่งคาดว่าปี 2558 จะดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรชุดแรกได้ และเพิ่มผลผลิตอีก 12,000 ตัน/ปี

"ภาพ ใหญ่ของตลาดคือ เรามาทีหลังผู้ประกอบการอื่นกว่า 10 ปี เกษตรกรเขาคุ้นชินกับผู้นำตลาด ดังนั้น ต้องแข่งขันด้านราคามากเพราะต้นทุนค่าเสื่อมของเจ้าตลาดยังต่ำกว่าเราอยู่ แต่เรามีสายพันธุ์เป็นตัวนำ และขณะนี้ก็มีห้องเย็น มีโรงงานรองรับผลผลิตแล้ว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมั่นใจขึ้น" นายนเรศกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook