เปิดฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต77จังหวัด หนุนเกษตรกรขายตรงผู้ซื้อ
ปูพรมเปิดตลาดเกษตรกร "ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต" ทั่วประเทศ 77 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯหนุนเพิ่มช่องทางซื้อขายโดยตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค สกัดพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ เกษตรกรพึ่งตนเองได้ เผยเงินสะพัดตลาดละ 5 หมื่น/วัน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ตั้งเป้าเปิดตลาดเกษตรกร (ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต : Farmer Market) ให้ครบทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัดภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยที่ผ่านมาได้เปิดตลาดอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว 70 แห่ง
นางอรสา ดิสถาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร (สสจ.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต จัดขึ้นเพื่อช่วยจัดหาตลาดให้กับเกษตรกรที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถนำผลผลิตมาซื้อขายกับผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และยังเป็นการมอบองค์ความรู้ด้านการจัดจำหน่ายและการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตนเองต่อไป
"ต้องการให้เกษตรกรเรียนรู้เรื่องตลาด และความต้องการของผู้บริโภคด้วยตัวเอง เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าของตน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรบางส่วนอาจปลูกตามใจตัวเอง หากมาขายในตลาดเดียวกัน และได้เห็นความแตกต่างด้านคุณภาพ บางรายขายได้ บางรายขายไม่ได้ จะทำให้เกษตรกรเกิดการตื่นตัว และกลับไปพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น"
นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าจากนโยบายปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรของภาครัฐ เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงให้กับภาคการเกษตรในระยะยาว โดยใช้งบประมาณแห่งละประมาณ 8 หมื่นบาท และยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ เพื่อช่วยดูแลสินค้าที่นำมาจำหน่าย รวมทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ช่วยดูแลเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและสุขอนามัยในสถานที่จำหน่ายด้วย
สินค้าที่นำมาจำหน่าย เป็นสินค้าเกษตร ประเภท ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยต้องเป็นสินค้ามีคุณภาพ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น GMP ซึ่งราคาจำหน่ายอาจไม่ต่างกับในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดทั่วไปนัก เนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพสูง จึงจำหน่ายในราคาที่เหมาะสมถือเป็นการพัฒนาผู้บริโภคให้เข้าถึงและเข้าใจสินค้าคุณภาพเช่นกัน
สำหรับสถานที่จัดฟาร์มเมอร์มาร์เก็ตนั้น จะจัดอยู่ในบริเวณชุมชนเมือง หรือสถานที่ราชการ ซึ่งมีประชาชนผ่านไปมาและสังเกตได้ง่าย เน้นลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนเมือง หรือกลุ่มข้าราชการ จัดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่ผู้คนเริ่มพักผ่อนและจับจ่าย โดยเริ่มขายตั้งแต่ช่วงเช้า และสินค้าจะเริ่มหมดในช่วงเที่ยง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะรวมกลุ่มกันนำสินค้ามาขาย และจะหมุนเวียนกันไป ขณะนี้มีบางจังหวัดที่ติดตลาดแล้ว มีการสั่งซื้อสินค้ากับเกษตรกรล่วงหน้า แต่ละตลาดมีรายได้กว่า 5-6 หมื่นบาทต่อวัน
ทั้งนี้ ในอนาคต หากตลาดในจังหวัดใดมีแนวโน้มไปได้ดีมีแนวคิดจะจัดตลาดฟาร์มเมอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นมากกว่าจังหวัดละ1 แห่ง หรือเพิ่มวันจำหน่ายมากขึ้น เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังประสบปัญหาเกษตรกรบางส่วนไม่ชำนาญการซื้อขายกับผู้บริโภคด้วยตนเอง เนื่องจากค้าขายผ่านพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด เบื้องต้นจึงได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ เต็นท์ การจัดวาง การนำเสนอสินค้าและแพ็กเกจ และช่วยสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคผ่านสื่อต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุชุมชน ป้ายประกาศ หรืิอสื่อเคลื่อนที่ต่างๆ แต่ในระยะยาวต้องการให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง สามารถร่วมกันบริหารจัดการสินค้าและตลาดได้ด้วยตนเองต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดเกษตรกร 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ นครนายก จัดตลาดนัดเกษตรกรที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด, ตรัง จัดที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน, มุกดาหาร จัดที่สนามข้างสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา, อุตรดิตถ์ จัดที่หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด และเชียงราย จัดที่สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา
นายรักสกุล สุริโย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีได้เปลี่ยนชื่อตลาดร่มเขียวเป็นตลาดเกษตรกร เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยเช่นเดิม โดยเปิดจำหน่ายทุกวันศุกร์และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป