ELE เล่าเรื่องผ่านออนไลน์ สร้างความประทับใจให้แบรนด์
จากจุดเริ่มต้นของการนำเศษผ้าที่เหลือจากขั้นตอนผลิตเฟอร์นิเจอร์มาทำเป็นกระเป๋า ปัจจุบัน พัชรา ปิติพานิช และภูเมศร์ เตชะบรรเจิด นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ELE ได้ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการสร้างการรับรู้และความผูกพันในตัวแบรนด์จนประสบความสำเร็จ
พร้อมทั้งประยุกต์เจาะตลาดลูกค้าต่างชาติผ่านสามช่องทางหลักคือ งานมหกรรมแสดงสินค้า หน้าร้านในห้างสรรพสินค้า และ www.eleineveryday.com ทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าองค์กร
พัชราเล่าให้เราฟังว่า แบรนด์ ELE ได้รับการก่อตั้งมานาน 7-8 ปี โดยต่อยอดจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ผ่านการนำเศษผ้าที่เหลือมาให้ช่างเย็บเป็นกระเป๋าจำหน่ายออกงานแฟร์ต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนมีความคิดต่อยอดสู่การออกแบบลายผ้าเองเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าให้ลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกทั้งสองจะเน้นการออกงานแฟร์เป็นหลัก และมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มขยายไปยังหน้าร้านในห้างสรรพสินค้า โชว์รูม และช่องทางออนไลน์
"เว็บไซต์ของเราเองเราก็ทำมาก่อนแล้ว แรกๆ ยังไม่มีการขายออนไลน์เราก็คอยอัพเดทข้อมูล แต่ช่วงที่ไปเรียนต่อก็เริ่มมี Facebook ฮิตขึ้นมา ตอนแรกเราก็ตั้งใจว่า จะขายออนไลน์บนหน้าเว็บเพจ แต่ก็มองว่า Facebook เป็นช่องทางที่คนอยู่เป็นสังคมใหญ่อยู่แล้ว การ Viral ก็พูดถึงได้กว้างขวางกว่า เราเลยลองสร้างเพจขึ้นมา ปรากฎว่า ช่วงนั้นเราลองโปรโมตไป ยอดที่คนมาคลิกไลค์ก็พุ่งขึ้น พอเราอัพเดทข่าวสารเข้าไป คนก็รู้สึกว่า ได้สื่อสารกับตัวแบรนด์กับดีไซน์เนอร์มากขึ้น" ภูเมศร์เสริม
เรื่องราวที่สื่อสารบนเพจของแบรนด์จะประกอบด้วยแนวคิด และไอเดียเกี่ยวกับแต่ละคอลเลคชั่นอย่างภาพร่างสเก็ต หรือเพลงที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจและสร้างความผูกพันกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นบนเพจยังมีการนำภาพของผู้ที่ใช้กระเป๋า ELE มาแสดงใน Profile ทำให้แฟนๆ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์และเพิ่ม Brand Loyalty อีกทั้งยังก่อให้เกิดกิจกรรมการถ่ายภาพลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์มาแชร์กันระหว่างแฟนคลับของแบรนด์บนหน้าเพจอีกด้วย
"1 ปี เราจะออกทุกๆ 2 คอลเลคชั่น เป็น Spring & Summer กับ Fall & Winter อย่างตอนนี้เราก็กำลังทำ Fall & Winter 2012-2013 อยู่ เราก็จะมีภาพสเก็ตต่างๆ ก็คอยให้เขาดูนิดๆ หน่อยๆ พอให้ตื่นเต้น ให้เขาดูว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับนก หรือบางทีก็เอาเพลงให้เขาฟังเพื่อสร้างอารมณ์ว่า ทิศทางจะเป็นประมาณไหน อย่างที่กำลังจะออกก็เป็นแนวย้อนยุค 50s ก็เอาเพลงของ Frank Sinatra ให้เขาฟังบ้าง แล้วก็มีสเก็ตรูปบนบอร์ดว่า มีอะไร แต่ก็ไม่ถึงกับให้ดูชัดเจน" ภูเมศร์ เล่าพร้อมเสริมว่า กิจกรรมการถ่ายภาพก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในกลุ่มสาวออฟฟิต และเด็กนักเรียน
นอกจากตัวคอนเทนต์แล้ว บน Facebook เองก็มีการนำเสนอสินค้าพิเศษ โดยจะเป็นสินค้า Limited Edition ที่ทดลองทำมาวางขายเพียงไม่กี่ชิ้น หรือสินค้าที่ไม่สามารถวางขายหน้าร้านได้ อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นพิเศษบนหน้าเพจ เนื่องจากต้นทุนการขายที่ต่ำกว่าการวางหน้าร้าน และยังสามารถเป็นช่องทางพูดคุยระหว่างลูกค้ากับทางแบรนด์ในการสั่งทำสินค้าชิ้นพิเศษด้วย
"เรามีชื่อเสียงในด้านความยืดหยุ่นกับลูกค้า ซึ่งลูกค้าอาจจะอยากเพิ่มอะไรที่เป็นพิเศษขึ้นมาอย่างเช่น ขอเพิ่มซิป ทำเส้นด้านนี้ให้ยาวขึ้นได้ไหม หรือบางครั้ง ถ้าเขาขอเงื่อนไขพิเศษอย่างปักชื่อ ปักโลโก้ เราก็ทำได้ถ้าเขารับราคาได้ และรับระยะเวลาได้ ซึ่งคำถามเหล่านี้จะเป็นคำถามจุกจิกที่เขาชอบถามมาทาง Facebook มากกว่า ง่ายกว่า อย่างขอหูยาวขึ้นหน่อยก็จะถามมาได้เลยใน Facebook" พัชราเสริม
ทางร้านยังมีเว็บไซต์ที่เป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อช่วยรองรับลูกค้าจากต่างประเทศ และลูกค้าองค์กร พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ต่อยอดมาจากงานแฟร์ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าแคตาล็อกที่จะต้องเปลี่ยนทุกซีซั่นแล้ว ยังสามารถป้องกันในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยคัดกรองเฉพาะลูกค้าที่สนใจสินค้าและติดต่อกลับมาจริงๆ
"การมีเว็บไซต์ก็จะช่วยป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเราก็ไม่ได้ลงทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างในแฟร์เราก็จะไม่ได้ลง 100 เปอร์เซ็นต์ เราจะเลือกว่า ส่วนไหนลงได้ ถ้ามีการติดต่อกลับมาเราค่อยส่งรูปตามไปให้ ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับดีไซน์เนอร์ที่ต้องการตีตลาดต่างประเทศ เพราะถ้าไม่มีเว็บไซต์ เราก็ต้องให้แคตาล็อกไม่อย่างนั้นเขาก็จะจำเราไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเราตัดสินใจไม่มีแคตาล็อก เราก็เอาเว็บไซต์เราเป็นตัวแทน ซึ่งมันก็ช่วยให้เราตัดต้นทุนได้เหมือนกัน" พัชรากล่าว
ภูเมศร์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันบนเพจมีแฟนประมาณ 1,400 คน โดยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 25-30 ปี โดยเพื่อความนิยมในตัวแบรนด์จากกลุ่มเพื่อนขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเน้นที่วัยรุ่นเป็นหลัก ขณะที่ช่องทางแฟร์และหน้าร้านเองใช้รองรับกลุ่มลูกค้าออฟไลน์ เช่น วัยกลางคน นักท่องเที่ยว และลูกค้าองค์กร โดยมีเว็บไซต์รองรับ ซึ่งสำหรับผู้ที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์แล้ว ภูเมศร์แนะนำว่า Facebook จะเป็นช่องทางที่ง่ายและให้ผลเร็วกว่า
"Facebook เราก็พยายามใช้ให้เหมือนกับเป็นเว็บเพจของเราเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกกับลูกค้าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ใช้ความเป็นกันเอง และใช้การสื่อสารช่วย แทนที่เราจะทำให้มันเป็นแคตาล็อก เราก็ทำให้มันเป็นเรื่องราว วิธีการผลิต ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นกระเป๋าหนึ่งชิ้น เราคิดอะไร เราทำอะไร คนก็เกิดความคล้อยตาม เกิดจินตนาการร่วม มีส่วนร่วมกับกระเป๋าใบนี้หรือสิ่งของชิ้นนี้ ถ้าเกิดเขามีอารมณ์ร่วมไปกับเรา เขาก็จะซื้อ" ภูเมศร์ กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จ
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ