‘อดีต’ ไม่รับประกัน ‘อนาคต’

‘อดีต’ ไม่รับประกัน ‘อนาคต’

‘อดีต’ ไม่รับประกัน ‘อนาคต’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา มีข่าวช็อควงการนักลงทุนข่าวหนึ่ง นั่นคือ ข่าววอร์เร็น บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชื่อดังนักลงทุนชื่อก้องโลก และซีอีโอแห่งบริษัท “เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์” ชาวอเมริกัน ต้องสูญเงินมหาศาลถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 64,665 ล้านบาท) ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน เนื่องจากการเก็งกำไรผิดพลาดในหุ้นบริษัทดัง 2 บริษัท ได้แก่ “ไอบีเอ็ม” และ “โค้ก”         

แหล่งข่าวในวอลล์สตรีทเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้บัฟเฟตต์ ต้องสูญเงินมหาศาลเกิดจากปัญหาการปรับพอร์ตลงทุนในระยะหลังของเขาที่เน้น “การลงทุนกระจุกตัว” ในหุ้นของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ ไอบีเอ็ม, โคคา-โคลา, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และเวลล์ส ฟาร์โก มากเกินไป เพราะคาดการณ์ไปว่า จะได้กำไรอย่างแน่นอน จากผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ ในช่วงสิ้นไตรมาสสาม  แทนที่จะเลือกปรับพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง....แต่เขาคาดการณ์ผิด!!         

ก่อนหน้านี้ไม่นาน วอร์เร็น บัฟเฟตต์เพิ่งตัดสินใจขายทิ้งหุ้นของห้างค้าปลีก “เทสโก้” ที่ซื้อสะสมไว้ ตั้งแต่ปี 2006 จนถือครองไว้จำนวนมากกว่า 245 ล้านหุ้น และได้ยอมรับกับแหล่งข่าวว่า การตัดสินใจลงทุนในห้างค้าปลีกดังกล่าวถือเป็น “ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง” และเป็น “การลงทุนที่โง่เขลา”         

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เข้ากับสำนวนไทยว่า ‘สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง’ แม้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ก็อาจจะพลาดท่าหรือทำผิดพลาดได้


บทเรียนสำคัญที่คนทำงานทุกคนควรเรียนรู้ จากความผิดพลาดของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ คือ  ความสำเร็จในอดีต หรือความรุ่งโรจน์ในวันนี้ ไม่ได้เป็น ‘ตัวชี้วัด’ ว่า จะไม่ล้มเหลวในอนาคต         

ความสำเร็จในอดีต ไม่ได้รับประกัน ความสำเร็จในอนาคตคนจำนวนไม่น้อยมักยึดติดกับ ‘ความสำเร็จ’ ที่ผ่านมา ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจมากขึ้น ในการเดินก้าว ‘สูงขึ้น’ ต่อไปในอนาคต ด้วยความเชื่อในใจว่าจะสำเร็จเช่นเดียวกับที่ผ่าน ๆ มาความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ‘ล้มเหลว’ มาแล้ว เพราะไม่ได้มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสมจริง แต่ใช้ประสบการณ์ความสำเร็จในอดีต ใช้วิธีการเดิมที่เคยใช้ได้ผล ใช้มุมมองเดิม ๆ ต่อเหตุการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งอาจไม่เหมือนกันทั้งหมด จนทำให้มองไม่เห็นความแตกต่าง ปัจจัยที่ไม่คาดคิด ความละเลย หละหลวม นำไปสู่ความล้มเหลวได้ในที่สุด         

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานขายที่เก่งกาจสามารถ รางวัลที่ได้จากการทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันมาหลายปี เป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถของเขา จนทำให้เขามั่นใจว่า ไม่ว่าจะให้เขาขายอะไร เขาจะทำยอดขายทะลุเป้าได้ทั้งนั้น หลังจากนั้น บริษัทได้ส่งเขาไปบุกเบิกตลาดในต่างประเทศ ปรากฏว่า เขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ปรับตัว ปรับวิธีการขายให้เข้ากับผู้ซื้อและบริบททางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง เป็นต้น         

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ แม้คล้าย ๆ เดิม แต่ย่อมเป็น เรื่องใหม่ ไม่ใช่ เรื่องเดิม  บัฟเฟตต์ใช้ประสบการณ์เดิมในการตัดสินใจเลือกลงทุน โดยไม่ได้วิเคราะห์บริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบคอบ เป็นเหตุให้เขาตัดสินใจผิดพลาด บทเรียนที่เราควรตระหนักนั่นคือ เราจำเป็นต้องมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อย่างสมจริง ครบถ้วน รอบคอบ รอบด้าน โดยคำนึงว่า อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม อาจมีความไม่แน่นอน ปัจจัยที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อาจมีสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนก็เป็นได้         

ในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมหนึ่งในการเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ เมื่อเริ่มจะทำสิ่งใด เขาจะยึดติดหรือเชื่อมั่นในความคิดของตนอย่างหยิ่งผยอง แต่จะนิยมไปสอบถามข้อมูลและรับฟังคำชี้แนะ ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ สิ่งนี้เรียกว่า ลัทธิความเป็นที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อความสำเร็จในตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่เกิดผลลัพธ์ที่ดีและผิดพลาดน้อยที่สุด         

ดังนั้น เราจึงต้องไม่ดึงดันตามความรู้และประสบการณ์เดิม ๆ เพราะอาจผิดพลาดได้ แต่ต้องพร้อมยืดหยุ่น ปรับตัว ถ่อมใจ เรียนรู้ ขอคำปรึกษา รับคำแนะนำ และพร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ

ผู้บริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จ นำพาองค์กรต่าง ๆ พ้นวิกฤตมาแล้วมากมาย สิ่งหนึ่งที่เขาจะต้องมีเพื่อรักษาความสำเร็จให้ยั่งยืน นั่นคือ การมุ่งมองไปข้างหน้าและตั้งใจว่า จะทำวันนี้ให้ดีกว่าวันวาน และทำวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้เสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook